The Prachakorn

รอยยิ้ม ความสุข ถ้อยคำ และความทรงจำที่จะไม่ลืมเลือน จากการเก็บข้อมูลที่ลาว


อารี จำปากลาย

21 พฤษภาคม 2562
277



ชีวิตคือการเดินทาง เป็นการเดินทางของเรื่องราวทั้งใหญ่และเล็ก และสำหรับนักวิจัยด้านสังคมคนหนึ่งอย่างผู้เขียน เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามได้ก็ทำให้การเดินทางที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานกลายเป็นเรื่องน่ารื่นรมย์ และควรค่าต่อการจดจำ 

เมื่อต้นมีนาคมของปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปที่บ้านเพลาด นครเวียงจันทน์ การไปที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของทำงานวิจัยในประเทศลาว เพื่อสัมภาษณ์ครอบครัวของแรงงานชาวลาวที่เข้ามาทำงานในไทย นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของผู้เขียนที่ได้เดินทางไปลาว 

ไปนำเสนอตัวต่อท่านเจ้าเมืองสังข์ทอง 

การเก็บข้อมูลที่ลาว ต้องมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการเพื่อขออนุญาตเก็บข้อมูล แค่นั้นยังไม่พอ เพราะต้องไปนำเสนอตัวต่อท่านเจ้าเมือง โดยก่อนลงพื้นที่เก็บข้อมูล 1 วัน ผู้ประสานงานซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติประเทศลาว ได้พาผู้เขียนพร้อมคณะนักวิจัยไปคารวะ นำเสนอตัวต่อ และขออนุญาตเก็บข้อมูลด้วยตัวเองต่อท่านเจ้าเมืองสังข์ทอง  การนำเสนอตัว ก็คือ การแนะนำตัวนั่นเอง ส่วนคำว่า ท่านเจ้าเมือง ที่ฟังดูอลังการ และชวนให้นึกถึงคนใหญ่คนโตอะไรประมาณนั้น แท้ที่จริง น่าจะเทียบเท่ากับนายอำเภอของบ้านเรา 

พอได้ไปเยือนจริงๆ ที่ว่าการของเมืองสังข์ทอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนครเวียงจันน์ พบว่าเป็นตึกเก่าๆ ธรรมดา ออกจะดูเฉาๆ เหงาๆ เสียด้วยซ้ำ ท่านเจ้าเมืองได้ต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่นและเป็นกันเองแถมยังเล่าให้ฟังถึงสมัยที่ท่านเรียนปริญญาโท ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติประเทศลาว ว่าเคยขาดโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความที่เวียกลัด หรืองานราชการรัดตัว  ผู้เขียนได้แต่แอบยิ้ม เพราะไม่คุ้ยเคยกับสำนวนลาว ถ้าเป็นบ้านเรา ก็แค่ ขาดเรียน เฉยๆ ไม่ใช่ ขาดโรงเรียน

–สองเฮื้อน บ่แม่นสองบ้าน 

ภาษาลาวฟังไม่ยากมากนัก สำเนียงคล้ายไทยอีสานมากๆ แม้คำต่างๆ จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว อาศัยที่ผู้เขียนเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เคยฟังเพื่อนฝูงเว้าภาษาอีสานอยู่หลายปี  ผู้เขียนก็พอจะกล้อมแกล้มจับประเด็นบทสนทนากับชาวบ้านคนลาวได้อย่างไม่ยากเย็นนัก 

แต่ก็มีคำง่ายๆ บางคำที่ทำให้ผู้เขียนตกม้าตาย คือสื่อสารกันไปคนละเรื่องเดียวกันเลยทีเดียว

ช่วงเช้าของวันหนึ่ง หลังจากสัมภาษณ์ครอบครัวที่มีลูกไปทำงานในไทยไปแล้ว 3 ครัวเรือน ผู้เขียนก็บอกกับผู้นำทางว่า เดี๋ยวตอนบ่าย ขอสัมภาษณ์อีกสองบ้านนะ  เท่านั้นเอง ผู้นำทางก็มีสีหน้าตกใจ และดูปริวิตกอยู่ไม่น้อย แล้วพูดประมาณว่า เป็นไปไม่ได้ สองบ้านเชียวรึ ผู้เขียนก็ย้ำ ใช่ค่ะ สองบ้านก็พอ มากกว่านั้นไม่ไหวแล้ว ล้าแล้ว (วันนั้น อากาศร้อนมาก สัมภาษณ์ระดับลึกสามครอบครัวในช่วงเช้า ก็แทบจะหมดแรงพูดแล้ว)

ออกอาการเหวอๆ กันไปทั้งผู้เขียนและผู้นำทาง ความมาแจ้งทีหลังว่า ที่แท้คำว่า “บ้าน” ในภาษาลาวหมายถึง หมู่บ้าน พอผู้เขียนบอกว่า “สองบ้าน” เขาถึงกับตกใจ เพราะนึกว่าผู้เขียนจะสัมภาษณ์ให้เสร็จสองหมู่บ้านในบ่ายวันนี้ ผู้นำทางบอกว่า อาจารย์ต้องพูดว่า “สองเฮื้อน บ่แม่นสองบ้าน“ (สองเรือน ไม่ใช่สองบ้าน) 

ไม่เขินแล้วที่จะพูด เอาผัวแล้วบ่

ในภาษาลาว คำว่า แต่งงาน ใช้คำว่า เอาผัว หรือเอาเมีย  

ตอนที่สัมภาษณ์ครอบครัวแรก ผู้เขียนออกอาการอึ้งเล็กน้อยที่ได้ยินคำนี้ ถึงครอบครัวที่สอง ผู้เขียนก็ยังไม่ชินที่จะพูดหรือถาม แต่พอถึงครอบครัวที่สาม ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ตอนนี้ผู้เขียนสามารถพูดคำนี้ได้ด้วยหน้าตาเฉยสนิทมาก ไม่เขินอีกต่อไป

ในการสัมภาษณ์ครอบครัวที่สาม ผู้เขียนไม่ถามแล้วว่า ลูกสาวคุณยายคนนี้แต่งงานแล้วยังจ๊ะ แต่กลับถาม ลูกสาวแม่ตู้คนนี้เอาผัวแล้วบ่? ไม่ยากเลยจริงมั้ย

คนลาวน่ารัก

ผู้เขียนไปเก็บข้อมูลในช่วงที่อากาศร้อนมาก ผู้เขียนซึ่งเป็นคนแปลกหน้า มาจากไหนก็ไม่รู้ แล้วก็มีคำถามสารพัด ทั้งซอกแซก อยากรู้อยากเห็น การสัมภาษณ์บางครอบครัวใช้เวลากว่าชั่วโมง แต่ชาวบ้านลาวทุกคนที่ผู้เขียนได้พูดคุยด้วย ไม่ได้แสดงสีหน้ารังเกียจ ไม่ไว้ใจ หรือแม้แต่เบื่อหน่ายให้เห็น ไม่มีใครถามว่า ใกล้เสร็จแล้วยัง ไม่มีใครบ่นว่า ทำไมถามเยอะจัง และไม่มีใครตั้งข้อสงสัยว่า ถามไปทำไม  (คำถามพวกนี้ คนทำงานเก็บข้อมูลภาคสนามต้องเตรียมตั้งรับเสมอเวลาลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ประเทศไทย!!!)

ที่เคยได้ยินว่าคนลาวนิสัยน่ารัก อันนี้จากประสบการณ์ต้องขอยืนยันว่า แม่น...

ชื่อของคนลาว

ชื่อของคนลาวหลายคน วิลิศมาหรามาก อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติของลาวที่ช่วยประสานงานในการเก็บข้อมูล ชื่อ กาบมณีวรรณ อาจารย์อีกคนหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จักชื่อ ลัสมี ขณะที่บางชื่อให้ความรู้สึกน่ารัก อย่างนักศึกษาปริญญาโท ที่พาผู้เขียนลงพื้นที่ ชื่อ มิถุนา เพราะเกิดเดือนมิถุนายน ขณะที่นักศึกษาผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังเรียนอยู่ที่สถาบันฯ ชื่อ ปางคำ

ที่คนไทยอย่างผู้เขียนรู้สึกทึ่งก็คือการใช้คำนำหน้าชื่อ ที่ลาว คำนำหน้าชื่อผู้หญิงคือ นาง ไม่ว่าจะแต่งงานแล้วหรือยังโสด ส่วนผู้ชายนั้น ชาวบ้านคนลาวหลายครัวเรือนที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์ ใช้ชื่อผู้ชายขึ้นต้นว่า ท้าว เช่น สามีชื่อ ท้าวบัวเพชร ลูกกก (ลูกคนโต) ชื่อ ท้าวสุวรรณ ส่วนลูกชายหล่า (ลูกคนเล็ก) ชื่อ ท้าวกองแสง

ถ้าบทสนทนานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นภายในบ้านหลังเล็กๆ ที่มีร่องรอยของความทรุดโทรม ท่ามกลางอากาศอ้าวสุดๆ ของหน้าร้อนแล้วล่ะก็ ผู้เขียนคงเคลิ้มว่า กำลังสนทนาอย่างได้อรรถรสอยู่กับครอบครัวของเจ้าผู้ครองนคร ณ ที่พระราชวังที่ไหนสักแห่งหนึ่งเป็นแม่นมั่น
 


ภาพโดย Albert Dezetter จาก Pixabay


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th