The Prachakorn

ดูละคร (กรงกรรม) แล้วย้อนดูตัว (HAPPINOMETER)


สุภาณี ปลื้มเจริญ

12 มิถุนายน 2562
666



สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขมาอย่างต่อเนื่อง และได้พัฒนาเครื่องมือ HAPPINOMETER ขึ้นมา เพื่อใช้วัดความสุขของบุคคล 

ละคร “กรงกรรม” ที่เพิ่งอวสานไปไม่นานนี้ถือว่าเป็นละครที่ “ดีต่อใจ” เรื่องหนึ่ง เพราะนอกจากให้ความบันเทิงแล้ว ยังให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตหลายๆ ด้าน

วันนี้จึงอยากชวนผู้อ่านลองย้อนดูกันว่าตัวละคร “กรงกรรม”   ได้สะท้อนถึงการมีความสุขในมิติใดบ้าง

     

Happy Heart (จิตใจดี) “อาซา” เป็นตัวละครที่มี “จิตใจดี” เด่นชัดที่สุด เนื่องจากเป็นคนที่มองโลกแง่ดีและคิดบวก ชอบช่วยเหลือและอยากเห็นคนอื่นมีความสุข เมื่อเห็น “ย้อย” ทะเลาะกับ “เรณู” ก็คอยไกล่เกลี่ยให้ค่อยๆ พูดจากันและคอยเตือน “ย้อย” ว่า “เวลาโกรธอย่าไปด่าเขาเพราะเวลาผ่านไปความโกรธหาย แต่สิ่งที่ด่าเขาไม่หาย”

การเป็นคนมี “จิตใจดี ” ของ “อาซา” น่าจะได้รับ DNA มาจาก “เตี่ย” เพราะเป็นคนที่มีจิตใจดีเหมือนกัน ดังเช่นตอนที่ “อาใช้” พา “เรณู” กลับมาบ้าน “เตี่ย” บอกกับ “ย้อย” ว่า “..อาเรณูอีก็ไม่เห็นจะเลวร้ายอะไรนักหนาเลย บางที เรื่องบางเรื่องที่มันแย่ มันเป็นเพราะเรามีอคติเกินไป” ..

Happy Soul (จิตวิญญาณดี) “อาซา” เป็นคนที่ให้อภัยผู้อื่นจากเนื้อแท้ของจิตใจ ไม่โกรธและให้อภัยครอบครัวของ “เพียงเพ็ญ” ที่หลอกให้มาแต่งงานด้วย เพราะ “อาซา” เชื่อว่า “การให้ที่ดีที่สุด คือการให้อภัย” และยังพยายามโน้มน้าวให้ “ย้อย” เลิกโกรธและให้อภัยด้วยเช่นกัน โดยบอกว่า “ทุกคนล้วนมีเหตุผลเป็นของตัวเองทั้งนั้น ถ้าเราเข้าใจเค้า ความโกรธก็จะทำอะไรเราไม่ได้... ให้อภัยเขาเถอะ...”

ส่วน “ย้อย” นั้นกว่าจะรู้จักการให้อภัยก็เมื่อได้ผ่านเรื่องราวความเจ็บปวดที่เกิดจากความผิดพลาดของตนเองมาหลายครั้ง   ช่วงหลังจึงรู้จัก “ให้อภัย” และ “ยอมรับ” ในสิ่งที่เกิดขึ้นได้

“พิไล” สะใภ้รองที่ร้ายสุดๆ ไม่ว่าจะร้ายอย่างไรก็ต้องยอมรับว่าเธอเป็นคนหนึ่งที่ยอมรับความผิดได้อย่างแมนๆ รู้สึกสำนึกผิด ยอมรับ และเดินจาก “บ้านแบ้” ไปอย่างไม่มีเงื่อนไข ก้มหน้ารับกรรม และหมั่นทำความดีในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่

เรื่องของความกตัญญูรู้คุณ ทั้ง “อาซา”และ “อาตง” เป็นคนที่มีความกตัญญู ยอมถูกคลุมถุงชน ตามความต้องการของ แม่ “อาซา” แต่งงานกับ “เพียงเพ็ญ” ด้วยเหตุผลคือ.... “อะไรที่ทำให้พ่อแม่สบายใจที่สุด ต้องรีบทำก่อนจะไม่มีโอกาส”

Happy Family (ครอบครัวดี) “กรงกรรม” บอกเรื่องราวในมิติครอบครัวได้อย่างดี หากมองภาพครอบครัวใหญ่ ดูแล้วสมาชิกในครอบครัวไม่น่าจะมีความสุขเท่าไรนัก เพราะมี “ย้อย” เป็นศูนย์กลางของจักรวาล คอยบงการชีวิตของลูก แม้จะอยู่บนพื้นฐานของความรักและหวังดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าสร้างความอึดอัด ไม่สบายใจให้กับสมาชิกในครอบครัว กันถ้วนหน้า

มาดูครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยวกันบ้าง การแต่งงานโดยไม่มีพื้นฐานของความรัก ทำให้ทั้ง “อาตง” และ “พิไล” ไม่มีความสุข เช่นเดียวกันกับ “อาซา” และ “เพียงเพ็ญ” ที่ต้องหย่าร้างกันในเวลารวดเร็ว เพราะทั้งคู่ต่างก็มีคนรักอยู่แล้ว

ครอบครัวของ “อาใช้” กับ “เรณู” ทั้งคู่รักกันก็จริง แต่ “อาใช้” ก็ทิ้งลูกเมียไปอยู่กินกับผู้หญิงอื่น ทำให้ “เรณู” เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเต็มตัว

Happy Money (การเงินดี) เรื่องเงินๆ ทองๆ ตัวละครที่สะท้อนการมีความสุขด้านการเงินที่ดี คือ “เรณู” เพราะเธอเป็นเจ้าของธุรกิจร้านขายขนมเล็กๆ “เรณู” เป็นคนที่รู้จักหา รู้จักใช้ รู้จักเก็บออม หาทางลดต้นทุนการทำขนมเพื่อให้มีกำไรมากขึ้น นอกจากนี้ “เรณู” ยังมีวินัยในการใช้เงิน แบ่งเงินเป็นสัดส่วน ไม่นำเงินค่าเลี้ยงดูลูกมาใช้จ่ายเรื่องอื่น แต่เก็บเงินส่วนนี้ไว้เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับลูก

ส่วน “พิไล” มีเงินทองมากมายเป็นหีบๆ ดูน่าจะมีความสุขด้านการเงินดี แต่เงินทองของมีค่าเหล่านั้นได้มาด้วยความไม่ชอบ  ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ดอกโหด การรับซื้อของโจร แอบยักยอกเงินในร้าน ไปจนถึงการขโมยสร้อยคอของ “ย้อย” ฯลฯ การมีเงินทองมากมายด้วยวิธีการเช่นนี้ เห็นทีจะไม่ใช่ความสุขด้านการเงินดีแน่ๆ

Happy Work Life (การงานดี) การมีความสุขด้านการงานดี เริ่มปูทางมาตั้งแต่สมัยที่ “เตี่ย” และ “ม้า” (ย้อย) ประกอบอาชีพค้าขายด้วยความยากลำบาก จนเจริญก้าวหน้าเป็นเจ้าของกิจการร้านขายของชำที่ใหญ่ที่สุด เป็นเจ้าของโรงสี และอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ มากมาย หากไม่มีความรัก ความผูกพัน และตั้งใจทำอาชีพการงานแล้ว ก็คงไม่ประสบผลสำเร็จ และส่งต่ออาชีพการงานเหล่านั้นมายังรุ่นลูกได้ ซึ่งในรุ่นลูก ทั้ง “อาตง” และ “อาซา” ก็สามารถรับผิดชอบดูแลกิจการทุกอย่างต่อได้เป็นอย่างดี

“บุญปลูก” และ “ป้อม” แม้เป็นเพียงเด็กลูกจ้างในร้าน แต่ก็ขยันขันแข็ง ทำงานด้วยความซื่อสัตย์และอดทน รักในหน้าที่การงาน มีความผูกพันกับนายจ้างจนเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

“เรณู” เป็นตัวละครหนึ่งที่มีความสุขด้านการงานดี โดยยึดอาชีพขายขนมหวานหลายอย่างสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเพื่อไม่ให้คนซื้อจำเจ ทำขนมด้วยความใส่ใจพิถีพิถันทุกขั้นตอน เมื่อมีคนมาสั่งขนมจำนวนมาก “วรรณา” น้องสาว จึงคิดว่าไม่ต้องทำพิถีพิถันก็ได้ แต่ “เรณู” กลับสอนน้องว่า “อย่าโลภมากไม่งั้นจะไม่ได้อะไรเลย มีแต่จะเสีย และเอากลับคืนมาไม่ได้ด้วยซ้ำ จะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องทำด้วยใจ ตั้งใจทำให้ดีที่สุด ซื่อสัตย์กับงานที่ทำจะไม่มีวันขาดทุน มีแต่จะกำไรถึงบางทีกำไรจะไม่ใช่ตัวเงิน แต่ความสบายใจมันตีค่าแบบนั้นไม่ได้เลย”

ดูละครแล้วอย่าลืมย้อนดูตัว... มุมมองและแง่คิดดีๆ ที่ได้จากละครเรื่องนี้ เชื่อว่าถ้าใครสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตจริงได้ก็จะเป็นคนที่มีความสุขได้อย่างแท้จริง


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th