The Prachakorn

โทษประหารด้วยการปาหิน


อมรา สุนทรธาดา

14 มิถุนายน 2562
1,042



การคัดค้านอย่างต่อเนื่องจากประชาคมโลกต่อการประกาศใช้กฎหมายชะรีอะฮ์หรือหลักกฎหมายอิสลามของประเทศบรูไนให้มีผลบังคับใช้อย่างเข้มงวดตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับผู้ประพฤติผิดประเวณี โดยโทษสูงสุดคือการประหารด้วยการปาหิน แต่ขณะนี้สมเด็จพระราชาธิบดี ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน ทรงระงับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นการชั่วคราว

สิ่งที่น่าสนใจศึกษาหรือทำความเข้าใจที่มาของกฎหมายประหารชีวิตด้วยการปาหินเพื่อลงโทษผู้ค้าบริการทางเพศ ผู้ประพฤติผิดประเวณี และผู้ก่ออาชญากรรม ปรากฏเป็นหลักฐานมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ

ลัทธิยูดาห์กำหนดลักษณะการกระทำผิดที่เข้าข่ายการประหารด้วยการปาหิน 18 ประการ เช่น มีเพศสัมพันธ์กับมารดา ภรรยาของบิดา บุตรสะใภ้ บุคคลเพศเดียวกัน สัตว์ (วัว/ควาย) ผู้ประพฤติตนเป็นแม่มดหมอผี บุตรผู้บริภาษสาปแช่งบิดามารดา และการล่วงละเมิดทางเพศผู้อุทิศตนเพื่อศาสนา

 

ภาพจิตรกรรมการลงโทษประหารด้วยการปาหินสตรีข้อหาผิดประเวณีของ Abu’l Hasan Ghaffari 1853-1857 กรุงเตหะราน อิหร่าน

 ภาพจาก: https://en.m.wikipedia.org/wiki/File:Stoning_of_woman.jpg

ในศตวรรษที่ 20-21 มีการรื้อฟื้นกฎหมายดังกล่าวในกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเพราะเชื่อว่ากฎหมายที่เข้มงวดจะลดปัญหาอาชญากรรมและรักษาสังคมให้สงบสุข อย่างไรก็ตามมีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ปรับแก้และผนวกกฎหมายอิสลาม (การเฆี่ยนด้วยหวาย การปาหิน การตัดมือ/เท้า) สำหรับกรณีกระทำความผิดที่ร้ายแรง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อิรัก ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ซูดาน (มีการปรับแก้กฎหมายในภายหลังเป็นการแขวนคอ) และในบางประเทศเน้นการบังคับใช้กับกลุ่มที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน เช่น มอริเตเนีย ไนจีเรีย โซมาเลีย บรูไน เยเมน

ขั้นตอนการประหารนั้นจะกระทำในที่สาธารณะของชุมชน ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกฝังในหลุมดินที่ขุดใหม่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือมีผู้อื่นเข้าช่วยเหลือ กลุ่มผู้ปาหินเป็นชายล้วน ในบางกรณีมีถึง 50 คน ในการปาหินจะต้องเลือกหินที่มีขนาดไม่ใหญ่จนทำให้เกิดบาดแผลที่มือขณะปาหินหรือมีขนาดใหญ่มากที่เพียงแค่ปา 1 หรือ 2 ก้อนก็ปลิดชีพผู้เคราะห์ร้ายได้ แต่ต้องไม่มีขนาดเล็กเกินไปที่จะเป็นการทรมานหรือยืดเวลาสำหรับผู้รับโทษกว่าจะสิ้นใจ หลังจากสิ้นลมแล้วญาติจะนำร่างไปฝังในที่ห่างไกลชุมชนและรักษาเป็นความลับ 

การประหารด้วยการปาหินในอัฟกานิสถาน ปี 2015

ภาพจาก: https://edition.cnn.com/2015/11/06/opinions/why-women-stoned-to-death-2015/index.html

อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวมีช่องโหว่มากในทางปฏิบัติ เช่น ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มกองกำลังที่ปกครองตนเองในปากีสถาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน ที่มีเพียงผู้นำเผ่าเพียงคนเดียวเท่านั้นเป็นผู้ชี้ชะตา ไม่มีกระบวนการยุติธรรมใดๆ ทั้งสิ้นในการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง

ในอดีตเมื่อกลุ่มกองกำลังทาลิบันเรืองอำนาจในอัฟกานิสถานก็ได้มีการใช้กฎหมายนี้ แต่เมื่อสิ้นยุคทาลิบัน รัฐบาลอัฟกานิสถานประกาศยกเลิกกฎหมายนี้เนื่องจากแรงกดดันและการต่อต้านจากนานาประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีการลักลอบนำกฎหมายนี้ไปปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ แม้จะทราบว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ตาม

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th