The Prachakorn

เกิดน้อย แก่มาก แออัด ต่างภาษา คือประชากรวันนี้


ปราโมทย์ ประสาทกุล

351



ดูเหมือนว่าในระยะเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมานี้ ผมจะเขียนแต่เรื่องผู้สูงอายุ ในคอลัมน์ “นานาสาระประชากร” ของ “ประชากรและการพัฒนา” ชื่อคอลัมน์นานาสาระประชากรที่ตั้งไว้แต่แรกนั้นเป็นความตั้งใจของพวกเรา (คณะทำงานจัดทำจดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา) ขณะนั้นที่ต้องการให้ผมเขียนประเด็นทางประชากรที่หลากหลาย มีสาระต่างๆนานา แต่ทำไปทำมา ตั้งแต่ผมได้ถูกเรียกว่าเป็นผู้สูงอายุก็เพลินอยู่กับการเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของตนเอง คือเรื่องเกี่ยวกับชีวิตและประสบการณ์ของตัวเองที่มีอายุสูงขึ้นๆ และประชากรที่สูงวัยขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อย่างนี้...ผมควรขอเปลี่ยนชื่อคอลัมน์เสียเลยจะดีไหม บอกกันให้ตรงๆ ไปเลยว่าคอลัมน์นี้ เราจะพูดกันถึงเฉพาะเรื่องผู้สูงวัย

แต่ถ้าจะเปลี่ยนชื่อคอลัมน์ก็น่าเสียดายนะครับ เรื่องประชากรมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากมาย เรียกว่าประชากรมีนานาสาระจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกิด ตาย ย้ายถิ่น (ทั้งภายในและนอกประเทศ) การเปลี่ยนแปลงประชากร การกระจายตัวของประชากร การขยายเขตเมือง คุณภาพของประชากร สุขภาพอนามัย และแน่นอนเรื่องการสูงวัยของประชากร ผมคิดว่าจะไม่เปลี่ยนชื่อคอลัมน์ ชื่อนั้นสำคัญไฉน ผู้อ่านบางท่านอาจจะบอกว่าอยากเขียนอะไรก็เขียนไปเถอะ เขาอ่านเรื่อง ไม่ได้ดูที่ชื่อคอลัมน์ แต่วันนี้ ผมอยากจะเขียนเรื่องนานาสาระประชากรสักครั้ง

สาระประชากรในบ้านเรามีอยู่มากมาย น่าจะเอามาเขียนเล่าสู่กันฟังได้อีกนาน แต่ประเด็นที่ผมเห็นว่าสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างมาก คือเดี๋ยวนี้ประเทศไทยของเรามีเด็กเกิดน้อยลง คนแก่มากขึ้น ผู้คนอยู่กันอย่างแออัดในเมืองมากขึ้น แล้วก็มีคนต่างภาษาเข้ามาอยู่ในบ้านเรามากขึ้น

เด็กเกิดน้อยลง

ผมอยากจะเอาสถิติการเกิดในประเทศไทยย้อนอดีตไปเมื่อ 40-50 ปีก่อนมาฟื้นความหลังของพวกเราสักนิด ช่วง 20 ปีระหว่างปี 2506-2526 มีเด็กเกิดในประเทศของเราปีละเกินกว่า 1 ล้านราย ปี 2512 เด็กเกิดมากสุดคือมากกว่า 1 ล้าน 2 แสนราย ผมเรียกคนที่เกิดในช่วงเวลา 20 ปีนี้ว่า “คนรุ่นเกิดล้าน” ซึ่งนับว่าเป็นคลื่นประชากรลูกที่ใหญ่มาก จนบางครั้งผมเผลอเรียกว่าเป็น “สึนามิประชากร”

เดี๋ยวนี้มีเด็กเกิดน้อยลงเหลือเพียงปีละไม่ถึง 8 แสนราย ปีกลายนี้ 2557 มีเด็กเกิดที่มาจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยเพียง 776,370 ราย จำนวนเกิดของเด็กไทยมีแนวโน้มที่จะลดน้อยลงไปอีก ถ้าคนไทยรุ่นใหม่ยังชอบที่จะอยู่เป็นโสดชอบที่จะอยู่เป็นคู่โดยไม่ต้องมีลูก หรือมีลูกกันคู่ละคนสองคน คาดประมาณว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจำนวนเด็กเกิดในบ้านเราจะลดลงเหลือเพียงปีละ 6 แสนกว่าคนเท่านั้น

จำนวนเด็กเกิดน้อยลงอย่างนี้ก็เลยวิตกกันว่าจำนวนประชากรของประเทศไทยจะลดลง ต่อไปคนในวัยแรงงานจะน้อยลงเราจะขาดแคลนแรงงาน ขาดแคลนคนวัยทำงานที่จะเสียภาษีให้รัฐนำไปใช้เพื่อเป็นสวัสดิการสังคม

ยิ่งเราเห็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และบางประเทศในยุโรปมีโครงการหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาการเกิดที่ลดลง เช่นให้สิ่งจูงใจ ส่งเสริมการจับคู่แต่งงาน เราก็ยิ่งตื่นตัวว่าจำเป็นจะต้องเร่งเพิ่มผลผลิตประชากร โดยหาทางทำให้คนไทยรุ่นใหม่แต่งงานกันมากขึ้น และมีลูกกันมากขึ้น

คนแก่มากขึ้น

มาถึงวันนี้ คนส่วนมากก็รับรู้กันแล้วว่า คนในสังคมไทยนั้นมีอายุสูงขึ้นมากแล้ว เมื่อ 50 ปีก่อน ประชากรไทยยังอายุน้อยเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดเป็นเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 5 แต่เดี๋ยวนี้มีเด็กอยู่ไม่ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 16 แล้ว ถ้าดูเป็นจำนวน ในปี 2558 นี้ ประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เกือบๆ 12 ล้านคน และเป็นประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 10 ล้าน

สังคมไทยมีแนวโน้มว่าจะสูงวัยขึ้นไปอีก ในขณะที่ประชากรไทยโดยรวมเพิ่มช้าลงๆ อัตราเพิ่มประชากรในปัจจุบันประมาณร้อยละ 0.5 เท่านั้น แต่ประชากรสูงอายุกลับกำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่เร่งเร็วมาก ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ผมขอให้พวกเราย้อนกลับไปดู “คนรุ่นเกิดล้าน” ที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 ปี 2558 นี้ คนรุ่นนี้มีอายุ 32-52 ปีและจะเริ่มมีอายุย่างเข้าสู่วัย 60 ปีที่เราเรียกว่าเป็น “ผู้สูงอายุ” ในอีก 8 ปีนี้แล้ว อยากให้พวกเราจับตาดูคลื่นประชากรยักษ์ ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งลูกนี้ ประดุจดังสึนามิประชากรที่กำลังถาโถมเข้าสู่ฝั่งสังคมสูงวัยนั่นเทียว

เราลองนึกภาพในอนาคต อีก 10 ปีข้างหน้า ปี 2568 ประเทศไทยจะมีประชากรประมาณ 66.5 ล้านคน แต่จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 15 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของประชากรทั้งหมด และเมื่อคนรุ่นเกิดล้านกลายเป็นผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ในอีก 20 ปีข้างหน้า ปี 2578 จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนเกือบ 20 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน เกือบหนึ่งในสามของคนไทยจะมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเทียวนะครับ

ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยก็จะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ทุกวันนี้ มีการพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของผู้คนและสวัสดิการต่างๆ ในสังคมสูงวัยกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะในเรื่องสุขภาพอนามัย การอยู่อาศัย และรายได้เพื่อยังชีพ

ผู้คนเข้ามาอยู่ในเมืองกันมากขึ้น

พวกเราคงจะเห็นตรงกันแล้วว่า เดี๋ยวนี้เมืองในประเทศไทยขยายใหญ่ขึ้นทั้งจำนวนคนที่อยู่ในเมืองและพื้นที่ของเมืองที่แผ่กว้างออกไป ประเทศไทยนิยามว่าเขตเทศบาลคือเขตเมือง เมื่อ 50 ปีก่อนประชากรที่อยู่ในเขตเทศบาลมีไม่ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด เดี๋ยวนี้ คนที่อยู่อาศัยเขตเทศบาลทุกประเภทตามทะเบียนมีอยู่ราวร้อยละ 35 แต่ถ้านับประชากรที่เข้ามาอยู่ในเขตเมืองจริงๆ ทั้งที่จดและไม่ได้จดทะเบียน ก็ประมาณว่าอาจจะมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด

ดูอย่างการเติบโตของกรุงเทพมหานครที่ขยายพื้นที่เมืองไปต่อกับเขตปริมณฑลอย่างนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการสมุทรสาคร นครปฐม จนกลายเป็นพื้นที่มหานครเชื่อมติดต่อเป็นผืนเดียวกัน มีประชากรรวมกันในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งที่จดและไม่จดทะเบียนน่าจะมากกว่า 10 ล้านคน เมืองใหญ่อื่นๆ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันที่ขยายพื้นที่แผ่กว้างออกไปติดต่อกับเทศบาลอื่นที่อยู่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นนครราชสีมา เชียงใหม่ หาดใหญ่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช

ในเขตเมืองใหญ่ต้องการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างจากหมู่บ้านชนบท ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า การจราจรการขนส่งมวลชน มาตรการป้องกันอุบัติภัย การดูแลรักษาความปลอดภัย การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ และการสุขาภิบาล ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่พูดกันเมื่อประชากรเข้ามาอยู่อาศัยกันอย่างแออัดในเมืองมากขึ้น

คนต่างภาษาเข้ามาอยู่ในบ้านเรามากขึ้น

เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ผมมีโอกาสไปเมืองชายแดนที่เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 แห่ง คือแม่สอด ติดกับเมียวดีของพม่า มุกดาหาร ตรงข้ามฝั่งแม่โขงกับสะหวันเขตของลาว อรัญประเทศ ติดกับปอยเปตของกัมพูชาคลองใหญ่ ติดกับเกาะกงของกัมพูชา และสะเดา เมืองด่านทางใต้ชายแดนกับมาเลเซีย และยังได้ไปเที่ยวชมเมืองมหาชัยสมุทรสาคร ที่มีแรงงานสัญชาติเมียนมาเข้ามาทำงานหลายแสนคน

พื้นที่เหล่านี้ล้วนมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก พวกเขาเข้ามาเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อม เป็นแรงงานในภาคการเกษตร รับจ้างทั่วไป ทำงานตามบ้าน ร้านค้า และร้านอาหาร แรงงานข้ามชาติกระจายตัวอยู่ทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเองก็มีผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก

ประมาณว่าคนข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ส่วนใหญ่ หรือมากกว่าร้อยละ 70 เป็นสัญชาติเมียนมา รองลงมาประมาณร้อยละ 14 เป็นสัญชาติกัมพูชา และรองลงมาเป็นอันดับ 3 ร้อยละ 12 มาจากลาว

ผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติเหล่านี้จำนวนมากเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานนับสิบปี จำนวนไม่น้อยที่ท้องและคลอดลูกในเมืองไทย ลูกของผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติเรียนหนังสือในเมืองไทย เมื่อไม่นานมานี้ เราคงได้ข่าวว่าเด็กเชื้อชาติพม่าชนะประกวดคัดลายมือภาษาไทย ผมเคยเห็นรูปที่ส่งผ่านต่อทางโซเชียลมีเดียเด็กสาววัยรุ่นชาวเมียนมาแสดงฟ้อนพม่าเพื่อต้อนรับผู้ใหญ่ไทยที่ไปดูงานที่มหาชัย ประเด็นที่น่าคิดก็คือถ้าเราเลี้ยงดูเด็กๆที่เกิดจากแรงงานย้ายถิ่นข้ามชาติให้ดี ให้การศึกษา ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเมตตาและเป็นธรรม เด็กๆต่างสัญชาติที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยเหล่านี้ก็จะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าให้กับประเทศไทยต่อไป

สาระประชากรต่างๆ นานาที่ผมสาธยายมาทั้งหมดในวันนี้เกี่ยวพันกันไปหมด ผมนึกถึงผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังในเมืองใหญ่ใครจะช่วยเหลือดูแลเมื่อยามจำเป็น ผมนึกถึงแรงงานข้ามชาติที่มาช่วยดูแลผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติที่รับจ้างทำงานบ้านในขณะที่หาแรงงานไทยทำงานประเภทนี้ได้ยากขึ้น แรงงานข้ามชาติในวัยหนุ่มสาวจะช่วยดึงให้สังคมไทยมีอายุน้อยลงและในย่อหน้ารองสุดท้ายที่ผมพูดถึงลูกๆของแรงงานข้ามชาติที่อาจกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยของเราต่อไป

ภาพ: http://www.hfocus.org/


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th