The Prachakorn

ผรุสวาจา


วรชัย ทองไทย

26 มิถุนายน 2562
2,363



ผรุสวาจาหรือผรุสวาท แปลว่าคำหยาบ หมายถึงภาษาที่สังคมถือว่าก้าวร้าว น่ารังเกียจ โดยรวมถึงคำสบถ คำสาบาน คำสาปแช่ง คำสามานย์ คำสบประมาท คำดูหมิ่น และคำด่า

คำหยาบมีอยู่ในทุกชาติทุกภาษา แต่เพราะคำหยาบอยู่ที่สังคมกำหนด คำเดียวกันที่ถือว่าเป็นคำหยาบในสังคมหนึ่ง อาจไม่ถือว่าเป็นคำหยาบในอีกสังคมหนึ่งก็ได้ หรือเมื่อเวลาเปลี่ยนไปคำหยาบอาจไม่ใช่คำหยาบหรือกลับกันก็ได้ ดังนั้นสัญลักษณ์จึงถูกใช้เป็นภาษาสากลของคำหยาบหรือผรุสวาจา (ดังรูป)

 

ผู้ชมโทรทัศน์กล่าวคำผรุสวาจา

วาดโดย Threeboy from Richmond, Canada - Jay & Trey Cartoon Swearing, CC BY 2.0, จาก https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=48844951

ผรุสวาจาเป็นหนึ่งในข้อต้องห้ามของสัมมาวาจา อันเป็นหนึ่งในมรรค 8 คือ “ทางสายกลาง” ที่พุทธศาสนิกชนควรยึดถือปฏิบัติ ประกอบด้วย 1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) 2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) 3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) 4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) 5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) 6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) 7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) 8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

สัมมาวาจาหรือเจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต 4 (ความประพฤติชอบด้วยวาจา) คือ งดเว้นวจีทุจริต 4 (ความประพฤติชั่วด้วยวาจา) ซึ่งประกอบด้วย

  1. ละมุสาวาทคือ ไม่พูดเท็จ พูดความจริง
  2. ละปิสุณาวาจาคือ ไม่พูดส่อเสียด พูดมีประโยชน์
  3. ละผรุสวาจาคือ ไม่พูดคำหยาบ พูดไพเราะอ่อนหวาน เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง
  4. ละสัมผัปปลาปคือ ไม่พูดเพ้อเจ้อ จะพูดก็ต่อเมื่อถูกกาลเทศะ

เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาของการกระทำ ที่ศาสนิกชนต้องปฏิบัติด้วยตนเองจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ คำสอนจึงมีข้อปฏิบัติเป็นชุด เป็นองค์รวมที่มีปัญญากำกับ ถ้าปฏิบัติครบชุดก็จะได้ผลตามที่ต้องการ

ข้อปฏิบัติของสัมมาวาจาคือ วจีสุจริต 4 ที่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองว่า ควรจะพูดหรือไม่ และควรพูดเมื่อไรและเวลาไหน ดังคำอธิบายใน “อภัยราชกุมารสูตร” ที่แสดงกระบวนการคิดของวจีสุจริต 4 ที่เป็นไปได้ทั้งหมด 6 สถานการณ์ ก่อนที่จะปฏิบัติ (พูด) ดังตาราง

1. ไม่พูดเท็จ

2. ไม่พูดส่อเสียด

3. ไม่พูดคำหยาบ

4. ไม่พูดเพ้อเจ้อ

ความเท็จ

ไม่มีประโยชน์

วาจาไม่เป็นที่ชอบใจ

ไม่พูด

ความจริง

ไม่มีประโยชน์

วาจาไม่เป็นที่ชอบใจ

ไม่พูด

ความจริง

มีประโยชน์

วาจาไม่เป็นที่ชอบใจ

พูดเมื่อถูกกาลเทศะ

ความเท็จ

ไม่มีประโยชน์

วาจาเป็นที่ชอบใจ

ไม่พูด

ความจริง

ไม่มีประโยชน์

วาจาเป็นที่ชอบใจ

ไม่พูด

ความจริง

มีประโยชน์

วาจาเป็นที่ชอบใจ

พูดเมื่อถูกกาลเทศะ

 

จะเห็นได้ว่า สามข้อแรกเป็นเงื่อนไขของวจีสุจริต ที่ส่งผลให้ปฏิบัติในข้อสุดท้ายว่า ควรจะพูดหรือไม่ พูดเมื่อไรและที่ไหน โดยไม่พูดเท็จและไม่พูดส่อเสียดเป็นข้อสำคัญที่สุด กล่าวคือจะพูดก็ต่อเมื่อเป็นความจริงและมีประโยชน์เท่านั้น ส่วนไม่พูดคำหยาบจะเป็นตัวกำหนดกาลเทศะ

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็สามารถทำได้ เพียงแต่จะให้ประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเท่านั้น เพราะคำหยาบขัดขวางสมาธิ ประโยชน์ของการกล่าวคำสุภาพอ่อนหวานนอกจากจะทำให้ผู้ฟังชอบใจแล้ว ยังจะช่วยเกื้อกูลสมาธิแก่ผู้พูดอีกด้วย

รางวัลอีกโนเบลสาขาสันติภาพ ได้ถูกมอบให้กับนักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับผรุสวาจาถึง 2 ครั้ง ได้แก่

  • ครั้งล่าสุด (พ.ศ. 2562) มอบให้กับนักวิจัยชาวสเปนและโคลัมเบีย (Francisco Alonso, Cristina Esteban, Andrea Serge, Mariasware-Luisa Ballestar, Jaime Sanmartin, Constanza Calatayud และ Beatriz Alamar) ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับความถี่ แรงจูงใจ และผลลัพธ์ของการตะโกนและสาปแช่งในขณะขับรถ
  • พ.ศ. 2553 มอบให้ Richard Stephens, John Atkins และ Andrew Kingston แห่ง Keele University สหราชอาณาจักร ที่ได้ยืนยันความเชื่อที่ว่า การสบถสาบานช่วยลดความเจ็บปวดได้

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th