The Prachakorn

ปลาดุกในที่ทำงาน


จรัมพร โห้ลำยอง

19 สิงหาคม 2562
335



ทุกองค์กรจำเป็นต้องมีปลาดุก โดยเฉพาะองค์กรที่มุ่งหวังความยั่งยืนควรเริ่มสร้างปลาดุกน้ำดีตั้งแต่วันนี้
    สาววัยกลางคนผู้หนึ่งได้เริ่มบทสนทนาตึงเครียดขึ้นในงานเลี้ยงรุ่นของกลุ่มเพื่อนเก่าสมัยมัธยม ว่าเด็กรุ่นน้องในที่ทำงาน ไม่เคารพรุ่นพี่ ไม่อดทน คอยแต่จะเอาหน้า และกระตือรือร้นที่จะทำให้ได้เลื่อนตำแหน่ง ยิ่งไปกว่านั้นเจ้านายยังมีทีท่าว่าจะเลื่อนตำแหน่งให้รุ่นน้องเจ้ากรรมคนนี้อีก ทั้งๆ ที่ตนเองทำงานมานานกว่า กลับบ้านเย็นกว่าและรู้ระบบงานดีกว่า ไม่นานนัก เสียงบ่นนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนในกลุ่มว่าเห็นด้วยและ หลายคนก็ต่างประสบปัญหาคล้ายๆ กัน

ความขัดแย้งในที่ทำงานเช่นนี้ เกิดขึ้นอยู่เสมอในองค์กรที่มีคนทำงานที่หลากหลาย มีคนหลายรุ่นอายุทำงานอยู่ร่วมกัน ทำให้มีพฤติกรรมและความคิดเห็นแตกต่างกัน ทำให้ดิฉันนึกถึงเรื่องความสำคัญของปลาดุกที่ ผศ.ดร.วิทวัส แจ้งเอี่ยม1 ได้เคยเล่าไว้ในปาฐกถาของท่านเมื่อไม่นานมานี้

นานมาแล้ว ชาวประมงนอร์เวย์ได้ออกจับปลาซาร์ดีนในท้องทะเล เมื่อจับได้ก็เลี้ยงไว้ในถังเก็บน้ำบนเรือ แต่เมื่อเรือได้เดินทางมาถึงท่า ก็พบว่าปลาซาร์ดีนในถังตายไปจำนวนมาก ต่อมากะลาสีคนหนึ่งก็ได้คิดกลยุทธ์ใหม่ขึ้นมา โดยใส่ปลาดุกไว้ในถังเก็บน้ำบนเรือ เมื่อชาวประมงจับปลาซาร์ดีนได้ ก็นำใส่ไว้ในถังเดียวกัน คราวนี้เมื่อเรือถึงท่าเรือ ชาวประมงก็พบว่า ปลาซาร์ดีนยังไม่ตาย แถมยังว่ายน้ำแข็งขันกันถ้วนหน้าในถัง ด้วยความกลัวปลาดุกที่จะคอยกัดกินมันตลอดเวลา ชี้ให้เห็นว่าปลาดุกสามารถช่วยกระตุ้นปลาซาร์ดีนไม่ให้เฉาตายในถังได้เป็นอย่างดี การมีปลาดุกอยู่ในถังจึงทำให้ชาวประมงร่ำรวยขึ้นจากการขายปลาซาร์ดีนได้ราคาดี

ในความจริงแล้วองค์กรก็เปรียบเสมือนเรือลำหนึ่งที่กำลังเดินทางไปข้างหน้า การมีปลาดุกที่คอยกระตุ้นปลาซาร์ดีนไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเนือยนิ่ง น่าจะช่วยลดจำนวนปลาซาร์ดีนอ่อนแรง และกำลังจะตายได้เป็นอย่างดี หากเปรียบคนทำงานในองค์กรเหมือนปลาซาร์ดีน ก็จะพบว่าที่ทำงานส่วนใหญ่ล้วนมีปลาซาร์ดีนอ่อนแรงกันทั้งนั้น ในประเทศไทยมีคนทำงานที่ไม่มีความสุขสูงถึงร้อยละ 10 และร้อยละ 4 ทำงานอย่างไม่มีเป้าหมาย ซึ่งความอ่อนแรงนี้จะส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำงานและความสำเร็จขององค์กรอย่างแน่นอน 

ในความจริงแล้วคนที่เราไม่ชอบอาจมีพลังงานบางอย่างผลักดันให้เรามุ่งมั่นทำงาน จะด้วยความต้องการเอาชนะของเรา หรือกลัวการจับผิดของเขาก็แล้วแต่ แต่เขาได้กลายเป็นปลาดุกตัวร้ายที่มีประโยชน์กับเราและองค์กรเสียแล้ว

ปัจจุบันผู้บริหารองค์กรในประเทศไทยจำนวนมากเห็นคุณค่าของบุคลากรในองค์กร และมุ่งหากลวิธีสร้างความสุขเพิ่มพลังใจพลังกายให้กับคนทำงานอย่างจริงจัง กลยุทธ์ปลาดุกเป็นหนึ่งในกลวิธีที่น่าสนใจทีเดียว แต่ไม่มีองค์กรไหนสร้างปลาดุกตัวร้ายขึ้นมา มีแต่สร้างปลาดุกน้ำดีขึ้นมาเวียนว่ายในองค์กร เปิดโอกาสให้ปลาดุกน้ำดีกระตุ้นความสุข ความรักในองค์กร และความผูกพันให้กับคนทำงาน และเป็นปลาดุกเจที่ไม่กินปลาซาร์ดีนในองค์กรแน่นอน เฉพาะในกลุ่มมหาวิทยาลัย พบว่ามีมหาวิทยาลัยชั้นนำถึง 13 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. สร้างปลาดุกน้ำดีไปแล้วกว่า 1,030 คน โดยแต่งตั้ง “นักสร้างสุข” ในองค์กรขึ้นมา และส่งอบรมเฉพาะทาง2 ให้สามารถช่วยดูแลเพื่อนๆ ในที่ทำงาน ไม่ให้เฉาตายไปกับความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในองค์กร และความไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะก่อตัวเป็นปัญหาใหญ่ในที่ทำงานได้ 

   

                           

ที่มา:    วิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจความสุขคนทำงาน พ.ศ. 2560 โดยศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย


1 ผศ.ดร.วิทวัส แจ้งเอี่ยม ดำรงตำแหน่งประธานสภาพนักงาน มหาวิทยาลัยบูรพา และได้ถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าวไว้ใน งานประชุมเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการองค์ความรู้สู่ความสุขในการทำงาน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมเดอะไทด์ บางแสน
2 หลักสูตร การบริหารจัดการองค์ความรู้สู่ความสุขในการทำงาน (R2H) สำหรับนักสร้างสุขมหาวิทยาลัย จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th