ผมเขียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ ว่าวันเวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน เพิ่งฉลอง วันขึ้นปีใหม่ 2562 มาหยกๆ เวลาโบยบินผ่านไปครึ่งปีแล้ว อีกไม่นาน ปีนี้ก็จะกลายเป็นปีเก่า เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ก็จะกลายเป็นอดีตไป
ภาพโดย Pexels จาก Pixabay
“คนแก่ชอบเล่าความหลัง” คงจะเป็นจริงตามคำกล่าวนี้ “ผู้สูงอายุ” หรือผู้ที่เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่เรียกว่า “คนแก่” ชอบพูดคุยเรื่องอดีตจริงๆ อาจเป็นเพราะผู้สูงอายุมีชีวิตผ่านกาลเวลามายาวนาน จึงมีเรื่องราวให้นึกถึงมากมาย เทียบไม่ได้กับเวลาในอนาคตที่เหลืออยู่น้อยลงทุกที และจุดสุดท้ายของชีวิตก็มองเห็นได้ชัดเจนแล้วว่าจะเป็นอย่างไร
ผมเป็นผู้สูงอายุวัยกลางแล้วนะครับ
มาถึงวันนี้ คนรุ่นวัยเดียวกับผมเรียกได้ว่าเป็น “ผู้สูงอายุวัยกลาง” แล้ว (ถ้าเราจำกัดความว่า ผู้สูงอายุวัยต้น คือ ผู้มีอายุ 60-69 ปี ผู้สูงอายุวัยกลาง มีอายุ 70-79 ปี และผู้สูงอายุวัยปลาย มีอายุ 80 ปีขึ้นไป) บางครั้ง ผมก็ถามตัวเองด้วยคำถามที่ไม่น่าถามว่า “เรามีชีวิตอยู่มาจนถึงวันนี้ได้อย่างไร?”
ชีวิตที่ยาวนานกว่า 70 ปีของผมผ่านไปพร้อมการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไทย มีเหตุการณ์มากมายหลายอย่างที่ผมคิดถึง เสียงไก่ขันโต้ตอบกันจากที่ใกล้และไกลเวลาใกล้รุ่ง นกกางเขนเริ่มร้องทักทายกันเสียงเจื้อยแจ้วตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ฝูงนกกระยางบินกลับรังเป็นทิวแถวเมื่อยามเย็น ดวงดาวที่ดารดาษเต็มฟ้าในคืนเดือนมืด ทิวเขาเขียว ฟ้าสีคราม และทะเลงามไกลสุดตา
เดี๋ยวนี้ ผมสังเกตว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกับผมคุยกันถึงเรื่องราวในอดีตบ่อยครั้งขึ้น ไม่น่าเชื่อว่าอดีตตอนที่ผมและเพื่อนๆ เรียนด้วยกันในชั้นมัธยมนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีมาแล้ว อดีตเมื่อคนรุ่นผมเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นเป็นเรื่องเมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้ว
ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ ผมได้ยินคำทักทายจากคนรุ่นน้องที่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุบ่อยครั้งด้วยข้อความคล้ายชื่นชมว่า ผมยังดูท่าทางแข็งแรง ผมยังดูไม่แก่ บางคนแสดงความประหลาดใจว่า
ทำไมผมยังขับรถเองได้ เมื่อได้ยินคำทักทายทำนองนี้ครั้งแรกๆ ก็รู้สึกแปลกหู....เราจะไม่แข็งแรงได้อย่างไร เราจะไม่ขับรถเองได้อย่างไร ในเมื่อ “เรายังไม่แก่นี่หว่า” แต่ตอนหลังเมื่อมาคิดตรองดู เออ! ตัวเรานี่คงดูแข็งแรง และดูไม่แก่จริงๆ เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ จำนวนมากในวัยเดียวกัน ผมยังเดินเร็ว ท่าทางกระฉับกระเฉง และดูทะมัดทะแมง ในขณะที่คนรุ่นเดียวกับผมหลายๆ คน หรือแม้กระทั่งคนรุ่นน้องอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่มีอาการสังขารถดถอยลงเสียแล้ว
ภาพผู้สูงอายุในสายตาคนรุ่นผมเมื่อยังเด็ก
เพื่อนๆ รุ่นเดียวกับผมเคยคุยกันเรื่องความหลัง แล้วเห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อครั้งพวกเรายังเป็นหนุ่มสาวอย่างเมื่อ 50 ปีก่อนนั้น พวกเราคงมองโลกแตกต่างจากคนหนุ่มสาวในวันนี้อย่างมากจริงๆ
เมื่อตอนที่ยังเป็นหนุ่มสาว พวกเรามองเรื่องผู้สูงอายุเป็นเรื่องไกลตัว ถ้าผมจะลองนึกย้อนไปถึงสังคมไทยเมื่อ 50 ปีก่อน ผมมองเห็นภาพประชากรของประเทศไทยในขณะนั้นว่ามีอยู่ราว 30 ล้านคน เป็นจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรไทยในขณะนี้ สังคมไทยเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนเป็นสังคมอายุน้อย มีผู้สูงอายุทั้งจำนวนและสัดส่วนไม่มากนัก ผู้สูงอายุในตอนนั้นดูเป็นผู้อาวุโสจริงๆ คนที่มีอายุเกิน 70 ปี (เท่ากับอายุของผมในวันนี้) ต้องนับว่ามีอาวุโสสูงมากทีเดียว ยิ่งเป็นผู้มีอายุถึง 80-90 ปีเป็นผู้สูงอายุวัยปลายก็ต้องเรียกว่าเป็นผู้เฒ่าที่ “แก่” มากๆ เพราะโอกาสที่คนจะมีอายุยืนยาวถึงขนาดนั้นมีน้อยเต็มที
ผมเชื่อว่าเด็กๆ และคนหนุ่มสาวสมัยนี้จะมองเห็นภาพผู้สูงอายุแตกต่างจากภาพผู้สูงอายุที่คนรุ่นผมเห็นเมื่อสมัยก่อน พวกเขาน่าจะเห็นผู้สูงอายุเป็นเรื่องธรรมดา เห็นคนที่มีอายุ 80-90 ปีก็เป็นเรื่องไม่แปลกและไม่น่าประหลาดใจ คนรุ่นใหม่จะเห็นผู้สูงอายุวัยปลายจำนวนมากที่ยังคงทำ.งาน และมีกิจกรรมโดดเด่นอยู่ในสังคม คนรุ่นใหม่จะเห็นผู้สูงอายุปรากฏตัวอยู่ทั่วไปในสังคม ผู้สูงอายุที่ดูยังไม่แก่ ยังไปไหนมาไหนได้โดยลำพังผู้สูงอายุวัยต้นและวัยกลางเหล่านี้ เมื่อมีการชุมนุมสังสรรค์กันในหมู่เพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกันก็จะทำ.ตัวสนุกสนานเหมือนคนหนุ่มสาว
ภาพผู้สูงอายุอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ คนรุ่นผมไม่เคยเห็นเมื่อยังเป็นเด็กหรือเมื่อยังเป็นหนุ่มสาวต่อไป คนรุ่นใหม่จะมองเห็นประเด็นผู้สูงอายุเป็นเรื่องใกล้ตัว พวกเขาจะรู้สึกเองว่าตัวเขาจะมีโอกาสเป็นผู้สูงอายุได้โดยง่าย
เด็กรุ่นใหม่เป็นศตวรรษิกชนได้ไม่ยาก
มนุษย์มีอายุขัยอยู่ในราว 100 ปี ผมเคยสนใจที่จะศึกษาจำนวนคนที่มีอายุ 100 ปีในประเทศไทย ผมเรียกคนที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปว่า “ศตวรรษิกชน” ตอนที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานที่สถาบันวิจัยประชากรฯ เมื่อ 40 ปีก่อน ผมเชื่อว่าคนไทยที่มีอายุยืนยาวถึงขนาดนั้นคงมีไม่กี่คน คนไทยคงมีโอกาสน้อยมากที่จะมีอายุถึง 100 ปี แต่มาถึงวันนี้ คนไทยที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว
ในงานวันแม่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ทุกปีจะมีการประกวด “แม่ร้อยปี” เมื่อ 20 กว่าปีก่อน มีผู้ส่งรายชื่อเข้าประกวดปีละไม่กี่คน แต่ในปีหลังๆ นี้ มีรายชื่อผู้เข้าประกวดปีละไม่ต่ำ.กว่า 100 รายชื่อ แม้เรายังขาดข้อมูลจำนวนคนร้อยปีที่ถูกต้อง แต่ผมก็มั่นใจว่าจำนวนคนร้อยปีในประเทศไทยจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ เมื่อสิบปีก่อน ประเทศไทยอาจมีคนอายุถึง 100 ปีจริงๆ (คนร้อยปีจำนวนมากอายุเกิน 100 ปีตามหลักฐานในทะเบียนราษฎร ซึ่งไม่ตรงกับอายุจริง) อยู่ไม่ถึง 1,000 คน แต่ผมเชื่อว่าวันนี้ น่าจะมีศตวรรษิกชนไทยเป็นจำนวนหลายพันคน
คนหนุ่มสาวในวันนี้และเด็กๆ ที่จะเกิดมาใหม่จะมีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างแน่นอน ปัจจุบัน อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 75 ปี ในอนาคต อีก 40-50 ปีข้างหน้า อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยน่าจะเกิน 85 ปี ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ก็มองเห็นอนาคตของพวกเขาว่าจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกยาวนาน เมื่อเห็นว่ามีผู้สูงอายุวัยปลายและคนร้อยปีจำนวนมากยังมีชีวิตอยู่ในสังคมแล้วพวกเขาก็จะตระหนักว่าโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวถึงขนาดนั้นอยู่แค่เอื้อม ดังนั้น คนรุ่นใหม่จะปรับวิถีชีวิตของพวกเขาเองเพื่ออยู่รอดในช่วงปลายสุดของชีวิต
สังคมไร้อายุในอนาคต
เด็กรุ่นใหม่จะมองผู้ที่ในวันนี้เราเรียก “ผู้สูงอายุ” ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่แตกต่างจากคนวัยอื่น พวกเขาอาจไม่อยากเรียกผู้สูงอายุวัยต้น เช่น คนที่มีอายุ 60-69 ปีว่าเป็นผู้สูงอายุเสียด้วยซ้ำ เพราะในอนาคต คนวัยนี้จะยังมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ต่างจากคนหนุ่มสาว ในอนาคต ผู้สูงอายุส่วนมากจะยังคงทำงานและจะยังปรากฏตัวอยู่ทั่วไปตามถนนหนทาง ศูนย์การค้า สถานนันทนาการ และสถานที่สาธารณะต่างๆ
คนรุ่นใหม่จะเห็นผู้สูงอายุไม่แตกต่างไปจากพวกเขามากนักเป็นไปได้ในอนาคต อายุ หรือ วัย ของคนจะลดความสำคัญลง สังคมไทย รวมทั้งสังคมโลก จะกลายเป็นสังคมไร้อายุ ไม่มีการแบ่งแยกวัย ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อคนวัยต่างกัน ไม่มีวยาคติ หรือการมีทัศนคติในทางลบด้วยเหตุแห่งวัย เด็กและผู้เฒ่าจะเป็นเพื่อนกันได้ คนต่างวัยกันคบเป็นเพื่อนกัน หรือทำงานร่วมกันได้อย่างผสานกลมกลืน
อ๊ะ !!! ผมว่าเข้าท่าทีนะ สังคมไร้อายุ หรือสังคมที่ปราศจากวยาคติในอนาคต.
ปราโมทย์ 3/7/19 @10.15