The Prachakorn

กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่


ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์

25 กันยายน 2562
2,376



หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินสำนวน “กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่” นี้มาบ้าง โดยสำนวนนี้เกิดมาสมัยโบราณที่ “น้ำตาล” เป็นวัตถุดิบหายากมีราคาแพง ดังนั้นอาหารและขนมที่ใช้น้ำตาลในการปรุงจึงทำกันเฉพาะในรั้วในวังและในครัวของบ้านเหล่าขุนนางชนชั้นสูง เวลาตั้งสำรับอาหาร จะมีทั้งสำรับของคาวและตามด้วยสำรับของหวาน จนมีคำพูดติดปากตามมาว่า “กินของหวานล้างปาก” ในขณะที่ประชาชนคนทั่วไปกินเพียงอาหารคาวให้อิ่มท้องเป็นมื้อ ๆ ในแต่ละวันเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้ลิ้มชิมรสขนมหวานต่าง ๆ1  แม้กระทั่งทีมงานของผู้เขียนเองเวลาออกไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ต่าง ๆ เมื่อกินข้าวเสร็จแล้วจะต้องหยิบยกสำนวนนี้ออกมากล่าวอ้าง และร่ำร้องหาของหวานหรือน้ำหวาน จำพวกชา กาแฟตามปั๊มน้ำมัน หรือไม่แวะตามร้านขายของชำในหมู่บ้าน และกลับออกมาด้วยการหิ้วถุงน้ำ หรือแก้วออกมาทุกครั้งไป  

Image by Ulrike Leone from Pixabay

แต่ในขณะนี้ น้ำตาลกลายเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง พยายามผลักดันนโยบายการเก็บภาษีในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินปริมาณที่กำหนด ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และให้ประเทศมีกฎหมายควบคุมการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงที่มุ่งเป้าไปยังเด็ก จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีรสหวานของคนไทยภายหลังการออกมาตรการเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีรสหวาน พ.ศ. 2561 ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล พบว่า กลุ่มวัยทำงานตอนต้น อายุ 15-29 ปี มีการบริโภคน้ำตาลที่มาจากเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากที่สุด 12.8 ช้อนชาต่อวัน โดยเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับถึง 2 เท่าตัว สัดส่วนนี้เป็นแค่การบริโภคที่มาจากเครื่องดื่มเท่านั้น ยังไม่รวมถึงการบริโภคอาหารอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเกินจากสัดส่วนที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี (ได้แก่ กลุ่มเด็ก หญิงวัยทำงาน และผู้สูงอายุ) ควรกินน้ำตาลในแต่ละวันไม่เกิน 4 ช้อนชา (หรือ 16 กรัม) สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี (ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นทั้งหญิง และชาย) ควรกินไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และสำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,400 กิโลแคลอรี (ได้แก่ ผู้ชาย ผู้หญิงที่ต้องใช้พลังงานมาก และนักกีฬา) ควรกินไม่เกิน 8 ช้อนชาต่อวัน โดยได้มีการเผื่อไว้สำหรับการได้รับน้ำตาลจากอาหารอื่นโดยไม่ทราบปริมาณ2 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหลายคนไม่ได้คำนึงถึงปริมาณน้ำตาลแฝงที่มาจากเครื่องดื่ม เพราะข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจ พบว่า คนโดยทั่วไปมักมองว่า ตัวเองไม่กินหวาน ไม่กินน้ำตาล แต่ถ้าสอบถามเรื่องการบริโภคเครื่องดื่มบางคนกินน้ำอัดลมถึงวันละ 2-3 ขวดเป็นอย่างต่ำ หรือดื่มเครื่องดื่มชงเย็นต่าง ๆ ทุกวัน โดยที่ยังไม่รวมเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีการบริโภคในแต่ละวัน 

ดังนั้น สำนวน “กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่” ที่พูดติดปากกันมาแต่อดีต คงใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป ที่คนไทยทุกกลุ่มวัย ไม่จำกัดว่าเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือมาก ชนขั้นสูง กลาง หรือต่ำ สามารถเข้าถึงน้ำตาลได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำตาลจากเครื่องดื่มต่าง ๆ อีกทั้งคนไทยในปัจจุบัน ยังบริโภคน้ำตาลมากเกินความจำเป็นที่ร่างกายควรได้รับอีกด้วย ซึ่งการได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินความจำเป็นนี้ จะทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญหรือนำไปใช้ได้หมด กลายเป็นไขมันสะสมในร่างกาย และเพิ่มเความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ตามมา3  ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาวตามมา


ภาพปกโดย Image by Hebi B. from Pixabay

ที่มา

  1. https://www.dailynews.co.th/article/639627
  2. http://www.lovefitt.com/healthy-fact/ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมของคนแต่ละวัย/
  3. https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/625026

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th