The Prachakorn

ครอบครัวของเด็กซีอัลฟา


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

29 ตุลาคม 2562
339



เมื่อได้รับเชิญให้นำเสนอผลการวิจัยในหัวข้อครอบครัวกับการพัฒนาคนทุกวัยในสังคมยุคใหม่ประเด็นเรื่อง “ลูก” ศูนย์กลางแห่งสายใยครอบครัว ในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนงาน/โครงการและงบประมาณประจำปี จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกอุ่นใจที่มีหน่วยงานนโยบายระดับประเทศให้ความสำคัญกับประชากรวัยเด็กที่จะเป็นกำลังสำคัญในการดูแลประเทศต่อไป 

บทความนี้ผู้เขียนขอเรียกประชากรเด็กว่า ประชากรรุ่นซีอัลฟา (Z-alpha) โดยทั่วไปรุ่นประชากรหนึ่งจะครอบคลุมระยะเวลา 20 ปี ประชากรรุ่นถัดจาก เอ๊กซ์ (X) และ วาย (Y) คือ ซี (Z) ซึ่งปัจจุบันประชากรซี คือ เด็กอายุ 15 ปีลงมา แต่เนื่องจากประชากรรุ่นนี้ยังเกิดมาไม่ครบ จึงเรียกรุ่นที่เกิดมาก่อนว่าซีอัลฟา 

โครงการยุวชนนิเวศน์ของประชากรรุ่นซีอัลฟา ในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เก็บข้อมูลจากเด็กอายุ 3-14 ปี ผู้ดูแลเด็ก และครู ใน 5 จังหวัดของทุกภาค ได้แก่ กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี หนึ่งในวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษาการอบรมเลี้ยงดูในบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เด็กใช้เวลาอยู่มากที่สุด จึงน่าสนใจว่าพื้นที่ที่สำคัญที่สุดนี้เป็นอย่างไร บ้านของเด็กซีอัลฟา จะน่าอยู่เพียงไร

การศึกษานี้ใช้เครื่องมือ Family Environmental Scale เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมในบ้าน 3 ด้าน ได้แก่ การยึดเหนี่ยวทางจิตใจ (cohesion) การแสดงออกของสมาชิกในครอบครัว (expressiveness) และ ความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัว (conflict) โดยเก็บข้อมูลจาก 1,340 ครัวเรือน ครอบครัวที่น่าอยู่ควรจะมีระดับการยึดเหนี่ยวทางจิตใจสูงซึ่งแสดงถึงความรักของสมาชิกในครอบครัวที่มีต่อกัน ระดับการแสดงออกสูงหมายถึงสมาชิกในครอบครัวมีอิสระสามารถแสดงความเห็นหรือปฏิบัติดีต่อกัน และระดับความขัดแย้งต่ำซึ่งสะท้อนบรรยากาศความอบอุ่นในบ้าน หากแบ่งสภาพแวดล้อมในครอบครัวออกเป็น 3 ระดับด้วยวิธีการทางสถิติ จะสามารถจัดกลุ่มครอบครัวได้ดังนี้ 1) ครอบครัวน่าอยู่ที่สุด หมายถึง ครอบครัวที่มีระดับการยึดเหนี่ยวทางจิตใจและการแสดงออกสูงที่สุด และระดับความขัดแย้งต่ำที่สุด 2) ครอบครัวน่าอยู่ หมายถึง ครอบครัวที่มีการยึดเหนี่ยวทางจิตใจ การแสดงออก และความขัดแย้งระดับกลาง และ 3) ครอบครัวน่าห่วง หมายถึง ครอบครัวที่มีระดับการยึดเหนี่ยวทางจิตใจและการแสดงออกต่ำที่สุด และระดับ

ความขัดแย้งสูงที่สุด ซึ่งแสดงเป็นแผนภูมิดังภาพ
 
ภาพ: ระดับการยึดเหนี่ยวทางจิตใจ การแสดงออก และความขัดแย้งในครอบครัวของเด็กซีอัลฟา (ร้อยละ)

การจัดกลุ่มครอบครัวน่าอยู่ด้วยระดับการยึดเหนี่ยวทางจิตใจซึ่งแสดงด้วยกราฟแท่งพบว่า ครัวเรือนเด็กซีอัลฟา เป็นครอบครัวน่าอยู่และน่าอยู่ที่สุดจำนวนรวมกันเกินกว่าครึ่ง (ร้อยละ 33.4 และ 21.2 ตามลำดับ รวมเป็นร้อยละ 54.6) กราฟแท่งต่อมาหมายถึง การแสดงออกของสมาชิกในครอบครัว ส่วนมากการแสดงออกของสมาชิกครอบครัวอยู่ในระดับกลางและสูง (ร้อยละ 50.0 และ 12.3 ตามลำดับ รวมเป็นร้อยละ 62.3) จึงจัดเป็นครอบครัวน่าอยู่และครอบครัวน่าอยู่ที่สุดตามลำดับ ส่วนกราฟแท่งที่สามแสดงความขัดแย้งในครอบครัว ประมาณ 3 ใน 4 ของครัวเรือนของเด็กซีอัลฟา มีความขัดแย้งระดับต่ำและกลาง (ร้อยละ 51.1 และ 24.2 ตามลำดับ รวมเป็นร้อยละ 75.3) หากพิจารณากราฟแท่งทั้งสามด้านรวมกันจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ของครอบครัวเด็กซีอัลฟาเข้าข่ายเป็นครอบครัวน่าอยู่มากกว่าครอบครัวน่าห่วง

แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าเด็กซีอัลฟา ส่วนมากอยู่ในครอบครัวน่าอยู่ แต่อดสงสัยไม่ได้ว่าครอบครัวน่าห่วงของเด็กซีอัลฟาอยู่ที่ไหนและอยู่กันอย่างไร เมื่อพิจารณาการกระจายตัวของครอบครัวน่าห่วง พบว่าส่วนมากอยู่ในพื้นที่เขตนอกเมืองในต่างจังหวัด (ร้อยละ 46.3) และอยู่ในกรุงเทพฯ (ร้อยละ 29.8) อาศัยอยู่ในครัวเรือน 3 รุ่น (ร้อยละ 33.5) ซึ่งมีพ่อ แม่ ลูก และปู่ ตา ย่า ยายอยู่ในครัวเรือน สัดส่วนพอๆ กับครัวเรือนพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว (ร้อยละ 31.1) และเกือบครึ่งหนึ่งของครอบครัวน่าห่วงนั้นมีรายได้เพียงพอแต่ไม่เหลือเก็บ (ร้อยละ 43.8)

เด็กที่เติบโตในครอบครัวน่าอยู่น่าจะดีกว่าครอบครัวน่าห่วงเป็นแน่ จากข้อมูลวิจัยโครงการเดียวกันนี้ พบว่าสภาพแวดล้อมในครอบครัวส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งวัดโดยเครื่องมือ Strengths and Difficulties Questionnaire (SDQ) ที่ตอบโดยผู้ดูแลเด็กซึ่งมากกว่าร้อยละ 80 คือพ่อหรือแม่ ข้อมูลทางสถิติแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งในครอบครัวส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านอารมณ์ และความประพฤติ/เกเร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ความขัดแย้งและการแสดงออกของสมาชิกในครอบครัวส่งผลต่อสัมพันธภาพทางสังคมของเด็ก นอกจากนี้ข้อมูลวิจัยยังพบว่า แม้เด็กจะอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ไม่เพียงพอและผู้ดูแลมีระดับการศึกษาไม่สูงนัก แต่ถ้าเด็กอยู่ในครอบครัวที่มีระดับการยึดเหนี่ยวทางจิตใจและการแสดงออกของสมาชิกในครอบครัวสูง แต่ระดับความขัดแย้งต่ำก็มีแนวโน้มที่เด็กจะมีพฤติกรรมดี

สภาพแวดล้อมในครอบครัวที่กล่าวถึงนี้สามารถปรับปรุงใหม่ได้โดยไม่ต้องใช้เงินสักบาทเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของสมาชิกในครอบครัวร่วมกันสร้างรอยยิ้ม เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ชื่นชม ให้กำลังใจกัน พูดคุยกันดีๆ ไม่ทะเลาะกัน ครอบครัวน่าอยู่คือครอบครัวที่อบอุ่น การแสดงความรักต่อกัน จึงเสมือนเป็นวัคซีนทางสังคมที่ปกป้องเด็กจากสิ่งเร้ารอบด้าน พวกเรามาช่วยกันสร้างครอบครัวน่าอยู่กันเถอะ


 
ภาพโดย: เฉลิมพล แจ่มจันทร์
“วันนี้คุณกอดลูกแล้วหรือยัง?”

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th