The Prachakorn

ลัทธิทุนนิยมสุดโต่ง


วรชัย ทองไทย

30 ตุลาคม 2562
3,404



ทุนนิยม (capitalism) คือ ระบบเศรษฐกิจที่ยอมให้บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพยากรที่เป็นทุน มีเสรีภาพในการผลิตและการค้าเพื่อแสวงหากำไร คุณลักษณะของทุนนิยม ได้แก่ การมีทรัพย์สินส่วนตัว การสะสมทุน มีแรงงานที่ได้รับค่าจ้าง การแลกเปลี่ยนโดยสมัครใจ ระบบราคา และการแข่งขันในตลาด โดยการแข่งขันจะเป็นหัวใจและวิญญาณของทุนนิยม

ทุนนิยมแบ่งบทบาทของคนแต่ละคนออกเป็น 3 กลุ่มคือ เจ้าของธุรกิจ ผู้บริโภค และแรงงาน ซึ่งแต่ละคนอาจมีบทบาทมากกว่า 1 กลุ่มก็ได้ บุคคลในแต่ละบทบาทจะทำเพื่อตนเองเท่านั้น คือต้องเห็นแก่ตัวและแข่งขันกัน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแลกฎเกณฑ์ เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรม

เศรษฐกิจในระบบนี้ถือว่าความขัดกันของผลประโยชน์เป็นเรื่องปกติ เช่น เจ้าของธุรกิจจะขัดแย้งกับแรงงานและผู้บริโภค กล่าวคือ เจ้าของธุรกิจต้องการกำไรสูงสุด จึงตั้งราคาขายให้สูงที่สุดที่ตลาดจะรับได้ ในขณะที่แรงงานต้องการได้ค่าจ้างสูงสุด และผู้บริโภคต้องการซื้อในราคาต่ำสุด

ความขัดแย้งนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยรัฐบาลที่ฉลาดและมีวินัย ซึ่งจะสนับสนุนให้มีเสรีภาพมากขึ้น และการแข่งขันเป็นการแข่งขันที่สมบูรณ์ อันจะส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุด

ทุนนิยมแบ่งออกเป็น 2 แนว คือ แนวแรกใช้อยู่ในยุโรปที่เชื่อว่า กลไกตลาดจะต้องมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแลและสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายรายได้

แนวหลังใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกาที่เชื่อว่า กลไกตลาดไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล แต่จะดูแลโดยเอกชนที่มีส่วนได้เสีย (เจ้าของธุรกิจ ผู้บริโภค และแรงงาน) รัฐบาลควรมีบทบาทน้อยที่สุดเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ ให้บริการสาธารณูปโภคและกำลังทหาร

ทุนนิยมแนวหลังที่ปล่อยให้เอกชนดูแลกันเองนี้ ได้วิวัฒนาการกลายเป็นลัทธิทุนนิยมสุดโต่ง (Hypercapitalism) อันเป็นการหลงใหลบูชาลัทธิทุนนิยมอย่างสุดขั้ว โดยยอมสูญเสียคุณค่าดั้งเดิม

เหตุที่เติมคำว่า “ลัทธิ” ข้างหน้าคำ “ทุนนิยม” เพราะลัทธิหมายถึงคติความเชื่อถือ ความคิดเห็น และหลักการ ที่มีผู้นิยมนับถือและปฏิบัติตามสืบเนื่องกันมา ซึ่งจะไม่มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติ เช่น เชื่อในกลไกตลาดหรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่า จะเป็นตัวแก้ไขปัญหาโดยไม่คำนึงถึงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ส่วนคำว่า “สุดโต่ง” แปลว่า มากเกินขอบเขตที่ควรเป็น ไม่ว่าจะตึงหรือหย่อนก็ตาม การกระทำที่สุดโต่งเป็นการกระทำที่ไม่ต้องคิด ทำไปโดยขาดสติ จึงถือว่าไม่ดี เพราะเป็นการกระทำที่ขาดปัญญา

สำหรับคุณค่าดั้งเดิมที่สูญเสียไป ได้แก่ ความผาสุก ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความยุติธรรม การบำเพ็ญประโยชน์ การให้การศึกษาแก่ประชาชน ความยุติธรรมในสังคม ความเป็นชุมชน คุณภาพสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของภาวะแวดล้อม

ลัทธิทุนนิยมสุดโต่งเริ่มจากการขยายตัวของเจ้าของธุรกิจ ที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นบรรษัทข้ามชาติ และหลายแห่งมีผลผลิตทางเศรษฐกิจมากกว่าบางประเทศเสียอีก จึงเป็นการยากที่รัฐบาลจะต่อต้านอิทธิพลของบรรษัทเหล่านี้

บัญญัติ 5 ประการของลัทธิทุนนิยมสุดโต่งคือ 1. ส่งเสริมการบริโภค 2. ขยายอิทธิพลทั่วโลก 3. ยกเลิกภาษี หรือเก็บภาษีน้อยที่สุด 4. ลดค่าใช้จ่ายในแรงงาน เช่น ค่าแรง สวัสดิการ 5. แปรรูปรัฐวิสาหกิจ บัญญัติ 5 ประการนี้ถือเป็นแก่นหรือองค์ประกอบที่สำคัญ

การส่งเสริมการบริโภคให้มากขึ้น ทำได้ด้วยการโฆษณา ที่จะกระตุ้นการตอบสนองแบบฉับพลัน ทำให้คนเราไม่ต้องใช้ความคิดมากในการซื้อ ยิ่งกว่านั้น การส่งเสริมการใช้บัตรเครดิตก็ยิ่งทำให้การซื้อของง่ายขึ้นไปอีก อันเป็นการส่งเสริมลัทธิบริโภคนิยม (consumerism) และลัทธิวัตถุนิยม (materialism) ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนค่านิยมของเทศกาลคริสต์มาสจากการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู ให้กลายเป็นเทศกาลซื้อสินค้า

ที่มา: https://thepointofasharpinstrument.wordpress.com/2013/12/15/is-hyper-capitalism-the-enemy-of-truth/#jp-carousel-1129

ส่วนการให้ยกเลิกภาษี หรือเก็บภาษีน้อยที่สุด ก็ทำด้วยการส่งเสริมลัทธิปัจเจกบุคคล (individualism) ที่ให้คนสนใจแต่ประโยชน์ของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงครอบครัว ชุมชน หรือสังคมว่า มีส่วนเกื้อหนุนให้ตนเองเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน

แนวทางปฏิบัติที่จะไม่ให้เราตกเป็นทาสของลัทธิทุนนิยมสุดโต่ง สามารถทำได้ด้วยการปฏิเสธบัญญัติ 5 ประการข้างต้น เช่น มีสติในการซื้อ เป็นคนเรียบง่าย บำเพ็ญประโยชน์ อุดหนุนธุรกิจที่ดี เลือกรัฐบาลที่ทำเพื่อประชาชน

ในปี 2557 รางวัลอีกโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ได้มอบให้สถาบันสถิติแห่งชาติของรัฐบาลประเทศอิตาลี ที่เป็นผู้นำในการทำตามข้อบังคับของสหภาพยุโรป ในเรื่องการเพิ่มขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการนับรวมรายได้จากการค้าประเวณี การขายยาเสพติด การขายสินค้าหนีภาษี และธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ เข้ารวมอยู่ในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติด้วย

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th