The Prachakorn

คน สัตว์ พลาสติก


รีนา ต๊ะดี

19 พฤศจิกายน 2562
430



“ไม่ใส่ถุงพลาสติกค่ะ” ฉันพูดพร้อมยื่นผลมะละกอให้พนักงานที่ซุปเปอร์มาเก็ตนำไปชั่งน้ำหนักเพื่อคำนวณราคา “ลดโลกร้อนหรือครับ” พนักงานถามฉันอย่างเป็นมิตร “ใช่ค่ะ แล้วก็ไม่อยากให้มีสัตว์ตัวไหนตายเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไปอีก นี่พะยูนก็เพิ่งตายไปตัวหนึ่ง” ฉันพูดพร้อมรับผลมะละกอจากพนักงานและเดินจากมา 

ฉันเริ่มลดการใช้ขยะพลาสติกต่างๆ ทั้งถุงพลาสติก หลอดพลาสติก และบรรจุภัณฑ์อาหารต่างๆ มากว่า 10 ปีแล้ว เริ่มแรกคิดแค่เพียงว่าช่วยพ่อค้าแม่ค้าประหยัดต้นทุน เพราะสิ่งเหล่านี้เราใช้ประโยชน์เพียงเดี๋ยวเดียวก็กลายเป็นขยะเสียแล้ว แต่เมื่อได้ศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังเมื่อสมัยเรียนมหาวิทยาลัยตอนที่ต้องทำวิจัยส่งอาจารย์ก็พบว่าขยะพลาสติกนั้นเป็นภาระต่อโลกเรามากเหลือเกินเพราะต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 400 ปี แม้จะมีบางส่วนที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่ด้วยการจัดการขยะที่ยังไม่เป็นระบบระเบียบ ทำให้ยังมีขยะพลาสติกจำนวนมากเล็ดลอดอยู่ในระบบนิเวศน์รอบตัวเรา เมื่อฝนตกก็ถูกชะลงแม่น้ำ และเดินทางออกสู่ทะเล เมื่อฉันได้เริ่มดำน้ำแบบสกูบา ฉันก็ได้เห็นผลกระทบที่เกิดจากขยะพลาสติกอย่างชัดเจน สัตว์จำนวนมากตายลงด้วยสาเหตุอันผิดธรรมชาติ พวกมันกินพลาสติกเข้าไป บ้างไม่ได้ตั้งใจ บ้างสับสนคิดว่าพลาสติกคือแมงกะพรุน อาหารของพวกมัน 

เมื่อกลางปี 2561 ได้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าสลด วาฬนำร่องครีบสั้นได้ลอยเข้ามาในคลองที่บ้านคลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลาด้วยอาการอ่อนแรง เมื่อได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ทีมสัตวแพทย์ก็เร่งให้การช่วยเหลือ แต่อาการของวาฬกลับแย่ลงก่อนที่จะตายในที่สุด การผ่าชันสูตรซากพบว่าวาฬมีอาการปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือด พบพยาธิในปอด ท่อน้ำดีและลำไส้ และพบขยะจำพวกพลาสติกในส่วนต้นของกระเพาะอาหารจำนวน 85 ชิ้น (หนัก 8 กิโลกรัม)1 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็ได้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นอีกครั้งเมื่อ มาเรียม ลูกพะยูนที่พลัดหลงกับแม่ที่ชายฝั่ง จ.ตรัง ได้ตายไปหลังจากได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เป็นเวลากว่า 3 เดือน การผ่าชันสูตรซากพบขยะพลาสติกขวางลำไส้อยู่หลายชิ้น ทำให้เกิดการอุดตัน อักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือดและระบบทางเดินหายใจจนกระทั่งเกิดอาการช็อกและตายในที่สุด2 ไม่ได้มีเพียงสัตว์น้ำเท่านั้นที่ได้รับอันตรายจากการกินขยะพลาสติกเข้าไป เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้มีการรายงานข่าวว่าที่เมืองนารา
ประเทศญี่ปุ่น พบกวางตายถึง 9 ตัว ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน สาเหตุการตายมาจากการกินขยะพลาสติกเข้าไป ทั้งถุงพลาสติกและพลาสติกห่ออาหาร โดยนักท่องเที่ยวจะทิ้งพลาสติกห่ออาหารไว้ที่นาราพาร์ค กวางได้กลิ่นอาหารที่ติดอยู่กับห่อพลาสติกก็เข้าใจว่าเป็นอาหารจึงกินเข้าไป พบขยะพลาสติกกว่า 4 กิโลกรัมในท้องของกวางที่เสียชีวิตลงตัวหนึ่ง3 

พลาสติกไม่ได้ถูกบริโภคโดยสัตว์เท่านั้น คนเองก็บริโภคพลาสติกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว พลาสติกเหล่านี้คือไมโครพลาสติกหรือพลาสติกขนาดเล็กที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่คนบริโภคเข้าไปนั่นเอง แม้จะยังไม่มีงานวิจัยออกมายืนยันได้ถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการที่คนบริโภคไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารเข้าไป แต่ก็ไม่คุ้มที่จะเสี่ยง4 ในเมื่อวงจรของพลาสติกเริ่มจากคนใช้พลาสติก คนทิ้งพลาสติก สัตว์กินพลาสติก คนกินสัตว์ วิธีที่จะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสุขภาพของเราได้ดีที่สุดคือ การลดหรือถ้าเป็นไปได้ก็งดการใช้พลาสติกนั่นเอง

ในปี 2561 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยถึง 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น1.64% จากปี 2560 แต่มีขยะพลาสติกเพียง 500,000 ตันจาก 2 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าประเทศไทยนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศเป็นอันดับต้นๆ โดยในต้นปี 2561 ไทยนำเข้าขยะพลาสติกจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และฮ่องกงเฉลี่ยมากถึงเดือนละ 75,000 ตัน อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2561 ได้มีคำสั่งชั่วคราวห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติก ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังมีการนำเข้าขยะพลาสติกลดลงเฉลี่ยเดือนละ 35,000 ตัน

ฉันเดินหน้ามุ่งมั่นกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองให้ลดการใช้พลาสติกลงอย่างจริงจัง จนผู้คนรอบข้างทั้งเพื่อนและครอบครัวต่างก็ได้รับอิทธิพลในการที่จะช่วยลดภาระของโลกจากขยะพลาสติกของฉันไปด้วย ถึงแม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ฉันก็เชื่อว่าฉันจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้คนและสัตว์สามารถอยู่ร่วมกันได้ในโลกที่จะไม่จมกองขยะพลาสติกในอนาคต

เด็กชายกำลังมองดูผลงานทางศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นจากขยะโดยกลุ่มเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม Greenpeace ในฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2560
ภาพโดย Reuters/Erik De Castro


1 https://www.bbc.com/thai/thailand-44346034
2 https://www.thairath.co.th/news/local/south/1639971
3 https://www.bbc.com/news/world-asia-48941494
4 https://www.thairath.co.th/news/society/1657491
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th