The Prachakorn

รางวัลล้อเลียน


วรชัย ทองไทย

05 เมษายน 2561
444



รางวัลอีกโนเบลเป็นรางวัลที่ล้อเลียนรางวัลจริง คือ รางวัลโนเบล (Nobel Prize) ที่จัดตั้งโดย Alfred Nobel นักประดิษฐ์ชาวสวีเดน ในปี ค.ศ. 1895 มีรางวัล 4 รางวัลคือ สาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี สาขาสรีรวิทยาหรือแพทย์ศาสตร์ และสาขาวรรณคดี ต่อมาในปี ค.ศ. 1901 ได้เพิ่มรางวัลสาขาสันติภาพขึ้นอีก 1 รางวัล สำหรับรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1969

ผู้ได้รับรางวัลโนเบลจะได้รับเหรียญรางวัลโนเบล (เหรียญทองคำมูลค่าประมาณ 1 หมื่นดอลล่าห์สหรัฐ (ดูรูป 1)  ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลประมาณ 1.1 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ รางวัลโนเบลจะทยอยประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลของแต่ละสาขาในเดือนตุลาคม และจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่ Alfred Nobel เสียชีวิต

 รูป 1

 

ส่วนรางวัลอีกโนเบล (Ig Nobel Prize) จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991 โดย Marc Abrahams บรรณาธิการนิตยสารจดหมายเหตุงานวิจัยที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ (Annals of Improbable Research) เพื่อมอบให้กับงานวิจัยที่ทำให้ขำก่อน แล้วจึงได้คิด ในแต่ละปีจะมีผู้รับรางวัลในสาขาต่างๆ  10 รางวัล และเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี

ผู้ได้รับรางวัลอีกโนเบลจะได้รับของที่ระลึก ไม่มีมูลค่าเป็นเงินแตกต่างกันไปในแต่ละปี (ดูรูป 2 3 และ 4) พร้อมใบประกาศ 1 แผ่น ที่แจ้งว่าเป็นผู้ได้รับรางวัลอีกโนเบล และได้รับเชิญให้มารับรางวัลในเดือนกันยายน โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

รูป 2

รูป 3

รูป 4

รางวัลอีกโนเบลปีนี้ เป็นครั้งที่ 24 มีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้ชื่อของรางวัลอีกโนเบล เป็นคำที่แผลงมาจาก ignoble แปลว่า คนชั้นต่ำ และอ่านออกเสียงว่า อิกโนเบล แต่ผู้เขียนได้แปลว่า 
อีกโนเบล เพื่อให้มีหมายความว่า เป็นรางวัลโนเบลอีกรางวัลหนึ่ง

สาขาฟิสิกส์ มอบให้แก่นักวิจัยญี่ปุ่น (Kiyoshi Mabuchi, Kensei Tanaka, Daichi Uchijima และ Rina Sakai) ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ แรงเสียดทานระหว่างรองเท้ากับเปลือกกล้วย และระหว่างเปลือกกล้วยกับพื้น ในขณะที่คนกำลังเหยียบเปลือกกล้วยที่ตกอยู่บนพื้่น

  • สาขาประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience)มอบให้แก่นักวิจัยจากประเทศจีนและแคนาดา (Jiangang Liu, Jun Li, Lu Feng, Ling Li, Jie Tian และ Kang Lee) ที่ร่วมทำวิจัยเพื่อจะได้รู้ว่า เกิดอะไรขึ้นในสมองของคน ที่เห็นหน้าพระเยซูบนแผ่นขนมปังปิ้ง
  • สาขาจิตวิทยา มอบให้แก่นักวิจัยจากประเทศออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา (Peter K. Jonason, Amy Jones และ Minna Lyons) ที่ได้รายงานว่า คนนอนดึก (ตื่นสาย) เป็นประจำ โดยเฉลี่ยแล้ว มีความโน้มเอียงที่จะชื่นชมตนเอง ถูกชักจูงได้ง่าย และมีอาการทางจิต มากกว่าคนที่ตื่นเช้า (นอนหัวค่ำ) เป็นปรกติ
  • สาขาสาธารณสุข มอบให้แก่นักวิจัยจากประเทศสาธารณรัฐเช็ค ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอินเดีย (Jaroslav Flegr, Jan Havlicek, Jitka Hanusova-Lindova, David Hanauer, Naren Ramakrishnan และ Lisa Seyfried) ที่ศึกษาว่า คนเลี้ยงแมวจะเป็นโรคจิตหรือเปล่า
  • สาขาชีวะวิทยา มอบให้แก่นักวิจัยจากประเทศสาธารณรัฐเช็ค เยอรมัน และแซมเบีย (Vlastimil Hart, Petra Novakova, Erich Pascal Malkemper, Sabine Begall, Vladimir Hanzal, Milos Jezek, Tomas Kusta, Veronika Nemcova, Jana Adamkova, Katerina Benediktova, Jaroslav Cerveny และ Hynek Burda) ในผลงานวิจัยที่สรุปว่า ก่อนที่สุนัขจะถ่ายหนักหรือถ่ายเบา สุนัขจะพยายามหันตัวให้ได้มุมกับสนามแม่เหล็กโลก
  • สาขาศิลปะ มอบให้แก่นักวิจัยชาวอิตาลี (Marina de Tommaso, Michele Sardaro และ Paolo Livrea) ที่ร่วมกันศึกษา ความเจ็บสัมพัทธ์ของคนที่ถูกยิงด้วยลำแสงเลเซอร์บนมือ ในขณะที่ดูภาพเขียนน่าเกลียด กับขณะที่ดูภาพเขียนสวยงาม
  • สาขาเศรษฐศาสตร์ มอบให้กับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ของประเทศอิตาลี ที่ได้นับรวมรายได้จากการขายบริการทางเพศ ขายยาเสพติด ขนของหนีภาษี และกิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฏหมายต่างๆ เข้าเป็นรายได้ประชาชาติ
  • สาขาการแพทย์ มอบให้แก่หมอจากประเทศสหรัฐอเมริกาและอินเดีย (Ian Humphreys, Sonal Saraiya, Walter Belenky และ James Dworkin) สำหรับวิธีรักษาอาการเลือดกำเดาเรื้อรัง โดยการอุดรูจมูกคนไข้ด้วยหมูเค็ม
  • สาขาอาร์กติกศาสตร์ (Arctic Science)มอบให้กับนักวิจัยสังกัดประเทศนอร์เวย์ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา (Eigil Reimers และ Sindre Eftestol) ที่ศึกษาเกี่ยวกับปฏิกิริยาของกวางเรนเดียร์ เมื่อเห็นคนพรางตัวเป็นหมีขั้วโลก
  • สาขาโภชนาการ มอบให้แก่นักวิจัยชาวเสปน (Raquel Rubio, Anna Jofre, Belen Martin, Teresa Aymerich และ Margarita Garriga) สำหรับการศึกษาเรื่อง "คุณสมบัติของแบคทีเรียกรดแลคติกจากอุจจาระเด็กทารก กับศักยภาพที่ใช้เป็นสารเริ่มต้นเพื่อหมักไส้กรอก"

    รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัย "ที่ทำให้หัวเราะก่อนคิด"


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th