The Prachakorn

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต


สุริยาพร จันทร์เจริญ

14 พฤศจิกายน 2562
927



 “ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราเคยคิดบ้างไหม? ว่าเราอยากจากโลกนี้ไปแบบใด อันที่จริง การตาย ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เพราะนั่นหมายความว่า มนุษย์เราไม่สามารถหยั่งรู้ได้ว่าจะตายวันไหน และจะตายอย่างไร แต่ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ที่มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดาโลก”

บางคนรู้...เพราะเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วก็จบ ไม่เคยมีการตั้งคำถามให้กับตัวเองและไม่เคยคิดว่าเราอยากจะตายแบบไหน อยากทำอะไรก่อนตาย ถ้าในวันที่เราต้องป่วยและต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เราอยากได้รับการรักษาแบบไหน เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงยังไม่ได้คิดเป็นแน่แท้ และเชื่อว่าผู้อ่านอีกหลายคนยังคงคิดว่าการพูดถึงเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือความความตายนั้นถือเป็นการแช่งตัวเอง เป็นเรื่องอัปมงคลและไม่ควรพูดกัน เพราะความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับความตายว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดนั้น เป็นค่านิยมหรือความเชื่อพื้นฐานของสังคมไทยมาช้านาน จะเห็นได้จากรุ่นปู่ย่าตายายเคยพูดในขณะที่มีคนในครอบครัวเจ็บป่วยหนักก็จะถูกสั่งว่าไม่ให้พูดถึงเรื่องความตายหรือการจากโลกนี้ไป และไม่ควรเตรียมสิ่งของสำหรับการจัดงานศพ เพราะจะเป็นการสร้างบรรยากาศอันเศร้าโศกเสียใจให้กับคนในครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่ 

แต่รู้หรือไหมว่า? เราสามารถเลือกรูปแบบที่จะตายได้ แม้ว่าเราจะไม่สามารถล่วงรู้วันตายได้ก็ตาม คำถามต่อไป คือ เราจะตายอย่างไร จะใช้อะไรเป็นเครื่องมือที่จะนำทางไปสู่การตายอย่างที่เราต้องการ ผู้เขียนเรียกแทนสิ่งนี้ว่า “การตายดี” จึงอยากหยิบยกประสบการณ์ที่ได้มีส่วนร่วมในการทำโครงการวิจัยติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่กลางปี 25621 โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลประมาณ 5 เดือน เก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ (ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม พ.ศ. 2562) จาก บุคลากรทางสุขภาพ  (แพทย์ พยาบาล เภสัชกร โภชนากร นักวิชาการสาธารณสุข นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน) ผู้นำด้านจิตวิญญาณ (พระภิกษุสงฆ์ ผู้นำทางศาสนาอื่นๆ) และจิตอาสา ที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย 

“การตายดี” นั้นมีหลายระดับ และมีความซับซ้อนทั้งในเรื่องของภาวะทางกายและทางจิตใจ ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนขอเล่าประสบการณ์จากการที่ได้พบเห็นเฉพาะเรื่องของการตายดีในภาวะทางกาย จากข้อมูลการสัมภาษณ์และตอบแบบสอบถาม  การตายดี คือ ในขณะที่ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและยังรู้สึกตัว ผู้ป่วยสามารถขอแสดงเจตนาต่อแพทย์ที่รักษาได้ว่าตนเองต้องการรับการรักษาแบบใด หากตนเองป่วยหนักจนไม่รู้สึกตัวหรือเข้าสู่ภาวะวิกฤต และต้องมีการใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อช่วยยื้อชีวิต ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความไม่สบายกายหรือทุกข์ทรมานทางกาย สำหรับหนังสือแสดงเจตนานี้มีชื่อว่า “สมุดเบาใจ” หรือ “Living will” เป็นผลงานของโครงการความตาย พูดได้ เครือข่ายพุทธิกา (เอกภพ สิทธิวรรณธนะ, 2561) ทั้งนี้สมุดเบาใจมีประโยชน์เพื่อช่วยวางแผนและสื่อสารความต้องการของตัวผู้ป่วยให้กับครอบครัวและทีมบุคลากรทางสุขภาพให้รับทราบข้อมูลตรงกัน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างญาติของผู้ป่วยและทีมบุคลากรทางสุขภาพ 

สมุดเบาใจนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคลากรตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และให้พ้นจากความรับผิดชอบทั้งปวง” โดยในรายละเอียดของสมุดเบาใจนั้น ให้ผู้ที่แสดงเจตนาระบุข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลเกี่ยวกับความภาคภูมิใจ ความต้องการเมื่อร่างกายของผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวิกฤตช่วงสุดท้ายของชีวิต ความสุขสบายที่ต้องการขณะรับการรักษา และเมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิตจริงๆ ผู้ป่วยมีความต้องการจัดการร่างกายและงานศพอย่างไร และมีสิ่งอื่นใดที่ต้องการมอบหมายให้ใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อจากตนเอง แต่สำหรับการจัดการเรื่องทรัพย์สมบัติจะต้องทำเป็นพินัยกรรมซึ่งจะเป็นหนังสือคนละฉบับกับหนังสือแสดงเจตนา

ผู้เขียนมีความเห็นว่า การที่เราได้มีการเตรียมตัวแสดงเจตนาในวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น การใช้สมุดเบาใจจะเป็นสื่อกลางเพื่อบอกว่าเราอยากจะให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตเราเป็นแบบไหน เราเองควรจะเป็นผู้กำหนดได้เพื่อนำไปสู่การตายดีในความเข้าใจของผู้เขียนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตามในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่อย่างปกติ หรือยังไม่ได้เจ็บป่วย ก็สามารถเขียนหนังสือแสดงเจตนาไว้ในสมุดเบาใจนี้ได้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองและครอบครัวเมื่อวันสุดท้ายของชีวิตนั้นมาถึง ไม่ต้องรอจนถึงวันที่เราไม่สามารถพูดหรือจะทำอะไรตามที่ตัวเองปรารถนาได้แล้ว และถ้าหากคนในครอบครัวหรือญาติมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันอีกในเรื่องของการรักษาก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งกันเองภายในครอบครัวและทีมบุคลากรทางสุขภาพด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเหมือนกรณีการฟ้องร้องบุคลากรทางสุขภาพที่เราเคยได้ดูในละครหลังข่าวตอน 2 ทุ่ม ก็อาจเป็นได้
 

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต

รูปจาก https://peacefuldeath.co/baojai/


อ้างอิง 

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550. (2550, 3 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 127 ตอนที่ 22 ก. หน้า 1-29.
เอกภพ สิทธิวรรณธนะ. (2561). สมุดเบาใจ. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สามลดา.
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th