The Prachakorn

ความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายของวัยรุ่น : ครอบครัวนั้นสำคัญไฉน?


พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

05 ธันวาคม 2562
323



“ในแต่ละวันจะมีประชากรโลกที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 8 แสนคน ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของประชากรอายุ 15-29 ปี1 ทั้งนี้ประชากรไทยในปี 2561 มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6.34 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือ 4,137 คน และในจำนวนนี้เป็นการฆ่าตัวตายสำเร็จในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 10 – 24 ปี จำนวน 133 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ซึ่งมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง2จากข้อมูลสถานการณ์ดังกล่าวกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศให้การฆ่าตัวตายของวัยรุ่นเป็นวาระสำคัญของประเทศเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการ “รวมพลังป้องกันการฆ่าตัวตาย” หรือ Working Together to Prevent Suicide ที่เป็นสาระสำคัญหลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้เป็นทิศทางการรณรงค์และขับเคลื่อนงาน เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2562

ภาพจาก https://qns.com/story/2018/06/13/queens-neighborhoods-high-rates-suicide-says-department-health/

ภาพจาก https://qns.com/story/2018/06/13/queens-neighborhoods-high-rates-suicide-says-department-health/

วัยรุ่นเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในช่วงของการค้นหาตัวเอง เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต และมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสังคม ประชากรวัยนี้จึงอยู่ท่ามกลางความเปราะบางต่อการเกิดปัญหาในทุกด้าน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์จิตใจ คนใกล้ชิดที่สุดโดยเฉพาะ “ครอบครัว” จึงต้องให้ความเข้าใจ และเข้าถึงปัญหาเพื่อหาทางออกอย่างมีส่วนร่วม เพราะหากปล่อยปัญหาทิ้งไว้ อาจทำให้ปัญหาความอ่อนไหวของอารมณ์จิตใจลุกลามปานปลายจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่คุกคามคุณภาพชีวิตของวัยรุ่นจนทำให้มีความคิดและความพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะยิ่งกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ยากเกินกว่าที่ครอบครัวหนึ่งจะรับได้และอาจกลายเป็นวงจรของพฤติกรรมของคนในครอบครัวต่อเนื่องต่อไปเป็นวัฏจักรไม่รู้จบ 

“ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดที่เหตุปัจจัย” 

ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมสำคัญที่ใกล้ชิดวัยรุ่น ทำให้ครอบครัวจึงเป็นทั้งปัจจัยป้องกันและปัจจัยเสี่ยงต่อความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายของวัยรุ่น.....แล้วมีครอบครัวแบบไหนบ้าง? ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายของวัยรุ่น

จากการศึกษาปัจจัยครอบครัวที่สัมพันธ์กับความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายของวัยรุ่น ที่วิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจภาวะสุขภาพของนักเรียนในประเทศไทย พ.ศ. 2558 (Thailand 2015 Global School – Based Student Health Survey : GSHS)3 ด้วยแบบจำลองในการวิเคราะห์ Binary logistic regression ที่ประกอบด้วยคุณลักษณะทางประชากรและสังคม อารมณ์ความรู้สึก และปัจจัยด้านครอบครัว ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของตัวอย่างนักเรียนที่ทำการศึกษาเป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 13 – 15 ปี เป็นนักเรียนหญิงมากกว่าชาย และส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมระดับปานกลาง 

ผลของการวิเคราะห์ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายของนักเรียนวัยรุ่น พบว่า ความรู้สึกโดดเดี่ยว และความรู้สึกวิตกกังวลเป็นปัจจัยหลักของความเสี่ยงต่อการมีความคิดและความพยายามฆ่าตัวตาย ที่สำคัญ เราได้ข้อค้นพบอีกว่ามีครอบครัวอยู่ 3 ลักษณะที่ทำให้วัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะมีความคิดและความพยายามฆ่าตัวตาย โดยสามารถเรียงตามลำดับความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายของนักเรียนวัยรุ่น 

ลำดับที่ 1 ครอบครัวที่มีพ่อแม่ชอบตรวจค้นสิ่งของโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นประจำ ผลการศึกษาชี้ชัดว่านักเรียนในครอบครัวที่มีพ่อแม่ลักษณะนี้มีความเสี่ยงต่อการมีความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายสูงเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับนักเรียนในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่เคยตรวจค้นสิ่งของโดยไม่ได้รับอนุญาต  และเมื่อนำปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาร่วมด้วย จะเห็นได้ชัดเจนว่าการเคารพใน “ความเป็นส่วนตัว” เป็นเงื่อนไขสำคัญที่พ่อแม่ต้องให้ความเป็นอิสระและเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของบุตรหลาน

ลำดับที่ 2 ครอบครัวที่มีพ่อแม่ไม่เคยรู้จริงว่าบุตรหลานวัยรุ่นกำลังทำอะไรในเวลาว่าง นักเรียนในครอบครัวที่มีพ่อแม่ลักษณะนี้มีความเสี่ยงต่อการมีความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่านักเรียนในครอบครัวลักษณะตรงข้าม 1.8 เท่า ดังนั้น “ความเอาใจใส่” ในวิถีชีวิตประจำวันของบุตรหลานที่ไม่ใช่การตีความทึกทักไปเองและเข้าใจแต่ในมุมมองด้านลบ จึงเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญที่เป็นพื้นฐานของสัมพันธภาพในครอบครัว

ลำดับที่ 3 ครอบครัวที่มีพ่อแม่ไม่เข้าใจปัญหาและความวิตกกังวลของบุตรหลานวัยรุ่น นักเรียนในครอบครัวที่มีพ่อแม่ลักษณะนี้มีความเสี่ยงต่อการมีความคิดและความพยายามฆ่าตัวตาย สูงเป็น 1.4 เท่าของนักเรียนในครอบครัวที่พ่อแม่เข้าใจปัญหาและความวิตกกังวล ดังนั้น “ความเข้าใจซึ่งกันและกัน” เช่น การรับฟังและให้คำปรึกษาในทุกปัญหา โดยไม่ตำหนิ และพร้อมจะเป็นกำลังใจและให้ความช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายปัญหาจึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดจากครอบครัว

ผลจากงานศึกษาชิ้นนี้ของเราจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ร่วมสะท้อนสภาพปัญหาของครอบครัวไทยที่กำลังเปราะบางและมีส่วนสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายของบุตรหลานวัยรุ่น ดังนั้น การส่งเสริมสัมพันธภาพภายในครอบครัวด้วยความตระหนักในความเป็นส่วนตัว การดูแลเอาใจใส่ และเข้าใจปัญหาซึ่งกันและกัน ให้เป็นส่วนหนึ่งของคำนิยามครอบครัวอบอุ่น เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัวให้เป็นต้นทุนทางสังคมสำคัญที่ทำให้บุตรหลานวัยรุ่นมีความเข้มแข็งสามารถเผชิญกับภาวะเปราะบางทางจิตใจได้อย่างมั่นใจ 

ครอบครัว.....จึงเป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นปัจจัยปกป้องคุ้มครองบุตรหลานให้ห่างไกลจากความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายได้อย่างดียิ่ง


เอกสารอ้างอิง

  1. World Health Organization.(2019). Preventing suicide: a resource for filmmakers and others working on stage and screen. Geneva : World Health Organization; 2019 (WHO/MSD/MER/19.4). License: CC BY-NC-SA 3.0 IGO.
  2. กรมสุขภาพจิต.(2562).ฆ่าตัวตาย 11 รายต่อวัน!! วัยรุ่น-วัยเรียนสุดอันตราย เสี่ยงความเครียดระเบิด.สืบค้น วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562, จาก https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29593
  3. พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ และอรอุมา โภคสมบัติ.(2562).ความเปราะบางทางจิตใจของเยาวชนไทย: ความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา.ใน การประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2562.กรุงเทพฯ: สมาคมนักประชากรไทย.

Tags :

CONTRIBUTORS

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th