The Prachakorn

การตายดีในมิติด้านจิตวิญญาณ : กระบวนการและมุมมองจากพระสายวิปัสสนาต่อการอุปัฏฐากพระอาพาธระยะสุดท้าย


สุริยาพร จันทร์เจริญ

09 ธันวาคม 2562
610



บทความฉบับที่แล้ว...ผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวประสบการณ์ที่ได้ไปเก็บข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายไว้ในบทความเรื่อง สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต ภายในเนื้อหาได้เล่าถึงการตายดีในมิติทางกายแต่ได้เกริ่นๆ ในเรื่องการตายดีในมิติด้านจิตวิญญาณเอาไว้ด้วย ซึ่งในบทความฉบับนี้ผู้เขียนมีความประสงค์ที่จะเล่าประสบการณ์ที่ได้ไปเก็บข้อมูลจากพระอาจารย์สายวิปัสสนาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้มีโอกาสในการอุปัฏฐากพระอาพาธเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ด้วยมุมมองและกระบวนการตายดีในด้านจิตวิญญาณที่มีความละเอียดอ่อนต่อจากบทความฉบับที่แล้ว และการใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อพูดคุยให้ผู้ป่วยคลายความกังวลจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต 

จากการสัมภาษณ์พระอาจารย์สายวิปัสสนาท่านนี้ ท่านได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ครูของพระอาจารย์ผู้ให้สัมภาษณ์ ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายจึงเดินทางเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ในขณะนั้นตัวของพระอาจารย์เองยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาก่อน แต่ด้วยการครองเพศบรรพชิตตามหลักของพระวินัยจะต้องมีการอุปัฏฐากพระภิกษุด้วยกันเอง 

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา
ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ
ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล”

พระไตรปิฎกแปลไทย ฉบับหลวงเล่มที่ 5  
พระวินัยปิฎก เล่มที่ 5 มหาวรรค ภาค 21

2ภาพประกอบจาก: https://palungjit.org/threads/อารมณ์ก่อนตาย.522610

พระอาจารย์จึงทำหน้าที่เป็นผู้อุปัฏฐากหรือดูแลครูของพระอาจารย์ในขณะที่พักรักษาอาการอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งในระหว่างการดูแลนั้น พระอาจารย์สังเกตเห็นผู้ป่วยที่เตียงข้างๆ ได้รับความทุกข์ทรมานและเจ็บปวดจากอาการของโรค แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอาการอาพาธของครูของพระอาจารย์แล้ว ไม่สังเกตเห็นถึงอาการเจ็บปวดหรือทรมานจากโรคที่เป็นอยู่แต่อย่างใดแม้ว่าจะเป็นโรคเดียวกันก็ตาม 

พระอาจารย์จึงถามครูของพระอาจารย์ว่า

“ทำไมหลวงพ่อจึงไม่เจ็บไม่ปวดเลย และฟื้นจากอาการป่วยได้เร็ว” 

ครูของพระอาจารย์ก็ตอบไปว่า 

“มีอยู่สี่อย่าง ยาดี หมอดี คนดูแลดี จิตใจดี 
เห็นไหมยาดี หมอดี คนดูแลดี เป็นของภายนอก ต้องแสวงหา 
แต่จิตใจดีเนี่ย มันไม่ต้องแสวงหา มันอยู่ที่เรา”

เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้พระอาจารย์ได้หวนคิดกลับไปว่า แท้ที่จริงแล้ว คนเรามักจะลืมเยียวยารักษาใจของตัวเองเวลาเจอโรคภัยไข้เจ็บ ทุกคนจะไปเสาะแสวงหาแต่ยาดี หมอดี คนดูแลดี แต่ลืมไปว่าสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องไปแสวงหาเพื่อรักษาความเจ็บป่วยและเป็นสิ่งที่ตัวเองทำได้ ก็คือ จิตใจตัวเอง จากคำพูดของครูของพระอาจารย์ ทำให้พระอาจารย์จับหลักการในเรื่องกระบวนการเยียวยารักษาในมิติด้านจิตวิญญาณซึ่งเป็นการดูแลภายในจิตใจที่ต้องดูแลควบคู่กันไปกับเรื่องการรักษาด้วยยา หมอ ผู้ดูแล อุปกรณ์การแพทย์ วัตถุปัจจัยต่างๆ ซึ่งเป็นการดูแลจากภายนอก ครูของพระอาจารย์ยังได้บอกอีกว่า “ถ้ารักษาใจได้ กายจะหายดีได้ แต่ถ้าใจไม่ได้รักษา กายจะทรุดหนักตามลงไป” พระอาจารย์จึงนำหลักการนี้มาสอนควบคู่ไปกับการฝึกกรรมฐาน ซึ่งเป็นกลไกการทำงานของจิตใจและเกี่ยวข้องกับด้านความคิด

แล้วกระบวนการการตายดีในมิติจิตวิญญาณคืออะไร? คำถามเกิดขึ้นภายในใจระหว่างการสัมภาษณ์พระอาจารย์ มีด้วยเหรอ? แล้วต้องทำยังไง ผู้เขียนเริ่มสงสัยและอยากรู้

พระอาจารย์เล่าว่า จะยกตัวอย่างให้โยมฟังนะ...ระหว่างที่พระอาจารย์ยังคงทำหน้าที่อุปัฏฐากครูของพระอาจารย์ที่โรงพยาบาล มีผู้ป่วยที่นอนรักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายซึ่งอยู่เตียงใกล้ๆ กับครูของพระอาจารย์ ผู้ป่วยท่านนั้นมีสายอุปกรณ์ทางการแพทย์เต็มตัวไปหมด แต่ด้วยเหตุที่ว่าลูกๆ ของผู้ป่วยอยากให้แม่ของตนได้ถวายสังฆทานจึงได้นิมนต์พระอาจารย์มารับสังฆทานที่เตียง ซึ่งในขณะนั้นผู้ป่วยยังคงมีอาการชักกระตุกตลอดเวลา แต่ยังสามารถรับรู้ได้ด้วยการกระพริบตา กระบวนการของพระอาจารย์จึงเริ่มขึ้น...พระอาจารย์สอบถามภูมิหลังของผู้ป่วยจากลูกสาวว่า ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ชอบทำอะไรบ้าง ลูกสาวจึงตอบว่าแม่ของตนชอบทำบุญใส่บาตรอยู่เป็นประจำและชอบนั่งสมาธิ พระอาจารย์จึงชวนโยมแม่คุยถึงเรื่องการใส่บาตรเพื่อให้โยมแม่ได้ระลึกถึงสิ่งดีงามที่ตนได้เคยกระทำมาก่อนหน้านี้ ซึ่งพระอาจารย์เรียกว่า กรรมนิมิต3 หมายถึง เค้ามูลจากการกระทำ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546) กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ย้ำในร่องรอยของคุณความดีที่เคยได้กระทำมา พระอาจารย์พูดซ้ำๆ 5-6 ครั้ง ในรายละเอียดและขั้นตอนของการเตรียมของใส่บาตร ข้าว กับข้าว ดอกไม้ รวมถึงการชวนให้ระลึกถึงการเตรียมนั่งสมาธิ ขั้นตอนและเทคนิคต่างๆ ที่พระอาจารย์ใช้เป็นวิธีการที่ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่รู้ประวัติหรือภูมิหลังของผู้ป่วย และต้องชวนให้เขาระลึกถึงสิ่งที่ดีงาม กระบวนการยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งอาการชักกระตุกของคนผู้ป่วยค่อยๆ สงบลง และพระอาจารย์สังเกตเห็นหน้าจอมอนิเตอร์ของผู้ป่วยที่แสดงการเต้นของชีพจรค่อยๆ ลดระดับลงเรื่อยๆ จนเป็นเส้นตรง นั่นก็หมายความว่าผู้ป่วยได้จากไปด้วยอาการสงบแล้ว

ระหว่างการสัมภาษณ์ผู้เขียนได้คิดวิเคราะห์ตามคำพูดของพระอาจารย์ในเรื่องกระบวนการของการตายดีในมิติด้านจิตวิญญาณ พบว่าสิ่งแรกที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้น่าจะเกิดจากกระบวนการทางความคิดของมนุษย์ที่มีต่ออาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นหลังจากการตรวจพบโรคและต้องทำการรักษาซึ่งมีอยู่สองทาง คือ การรักษาทางกาย และการรักษาทางใจ มิติทางกายเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาได้ด้วยยา มีหมอ พยาบาลคอยดูแลหลังจากการวินิจฉัยโรคมาแล้ว ส่วนมิติการรักษาทางจิตใจหรือจิตวิญญาณนั้นเป็นสิ่งที่รักษาได้ด้วยใจของผู้ป่วยเองซึ่งเป็นการรักษาภายในจิตใจที่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนจิตใจของแต่ละบุคคลให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อไม่ให้ร่างกายทรุดหนักในขณะที่ตนเองกำลังป่วยและรับรู้ว่าจะต้องมีวาระสุดท้ายของชีวิตในอีกไม่ช้า 

กระบวนการตายดีในมิติจิตวิญญาณจากกรณีครูของพระอาจารย์และโยมแม่ที่ได้เล่ามาข้างต้น เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายและการทำความเข้าใจเรื่องการตายดีในมิติจิตวิญญาณ ที่พระอาจารย์ได้พยายามอธิบายให้ทีมวิจัยฟังอย่างละเอียดแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากยิ่งก็ตาม ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทั่วไป ทั้งผู้ที่เคยมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาแล้วหรือไม่มีก็ตามที แต่ผู้อ่านสามารถศึกษาและเก็บเป็นข้อมูลเพื่อนำไปใช้เมื่อวันหนึ่งเหตุการณ์นั้น...มาถึง (จะเป็นนักกีฬาที่เก่งได้...ก็ต้องหมั่นฝึกซ้อมเป็นประจำ) เรื่องเล่าจากประสบการณ์ในการเก็บข้อมูลโครงการผู้ป่วยระยะสุดท้ายยังคงมีอีกหลายประเด็น ไว้ติดตามในบทความหน้าต่อไป

อ้างอิง

พระไตรปิฎกแปลไทย ฉบับหลวงเล่มที่ 5 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 5 มหาวรรค ภาค 2 (แปลจากพระไตรปิฎกบาลี ฉบับสยามรัฐ). (2514). กรมศาสนาจัดพิมพ์.
พลังจิต. (2558). อารมณ์ก่อนตาย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://palungjit.org/threads/อารมณ์ก่อนตาย.522610/. (วันที่สืบค้นข้อมูล: 4 ธันวาคม 2562).
ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th