The Prachakorn

การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ


วรชัย ทองไทย

05 เมษายน 2561
728



ปรับปรุงล่าสุด 13 กรกฎาคม 2563

การวิจัยเป็นขบวนการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือค้นหาข้อเท็จจริง รวมทั้งเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ มนุษย์ วัฒนธรรม และสังคม ความรู้ใหม่อาจเกิดขึ้นด้วยการพิสูจน์ทฤษฎีที่มีอยู่แล้วว่าถูกหรือผิดก็ได้

การวิจัยจะใช้วิธีอุปนัย (induction) และนิรนัย (deduction) ในการวิเคราะห์ โดยที่วิธีอุปนัยเป็นการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็น ด้วยการชี้ให้เห็นถึงหลักการทั่วไป โครงสร้าง หรือขบวนการทำงานที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ที่กำลังศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคำอธิบาย

ส่วนวิธีนิรนัยเป็นการพิสูจน์สมมุติฐานที่ตั้งไว้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความถูกต้องของคำอธิบาย

ขั้นตอนของการวิจัยประกอบด้วย การกำหนดปัญหาการวิจัย ทบทวนองค์ความรู้ ตั้งวัตถุประสงค์ กำหนดคำถามการวิจัย สร้างกรอบแนวความคิด ตั้งสมมุติฐาน หาแหล่งข้อมูลหรือเลือกวิธีเก็บข้อมูล ทำการเก็บข้อมูล ประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์และแปรผลข้อมูล จัดทำรายงานวิจัย และนำเสนอผลการวิจัย

การวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยบริสุทธิ์ และการวิจัยประยุกต์ สำหรับการวิจัยพื้นฐานมีจุดหมายเพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ ที่มักจะไม่ค่อยมีผลต่อการดำเนินชีวิตนัก ส่วนการวิจัยประยุกต์มีจุดหมายที่จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตจริงได้

การวิจัยทางสังคมศาสตร์หรือการวิจัยทางสังคม เป็นการวิจัยที่แตกแขนงมาจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้มีสิ่งที่คล้ายกันคือ การวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่วัดได้ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปหรือผลลัพธ์ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ นักสังคมศาสตร์จะใช้การวิจัยเชิงประมาณ (quantitative research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research)

การวิจัยเชิงปริมาณเป็นการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาด้วยการเก็บข้อมูลที่วัดได้ หรือข้อมูลที่แปรเป็นตัวเลขได้ เพื่อจะได้นำไปใช้ในการวิเคราะห์ โดยใช้แบบจำลองทางสถิติและทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ มีการพิสูจน์สมมุติฐาน ใช้วิธีนิรนัยในการวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง และค้นพบแบบแผนของตัวแปร เช่น ความคิดเห็น ทัศนคติ พฤติกรรม เป็นต้น เพราะข้อมูลมาจากตัวอย่างขนาดใหญ่ที่ได้มาด้วยการสุ่มตัวอย่างและมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ จึงเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้สามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์ทั่วไปได้

ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหตุผล ความคิดเห็น หรือแรงจูงใจ เพื่อที่จะให้ข้อมูลเชิงลึกในการแก้ไขปัญหา หรือช่วยพัฒนาแนวความคิดหรือสมมุติฐาน เพื่อใช้สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ การเก็บข้อมูลมักจะใช้วิธีแบบไม่มีโครงสร้างหรือกึ่งโครงสร้าง โดยขนาดตัวอย่างจะมีจำนวนน้อย และตัวอย่างก็เป็นการคัดเลือก จึงไม่เป็นตัวแทนประชากร ดังนั้น ผลลัพธ์ที่ได้จึงอธิบายได้เฉพาะในกลุ่มที่ศึกษา

ความแตกต่างของการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพสรุปได้ดังนี้

การวิจัยเชิงปริมาณ

การวิจัยเชิงคุณภาพ

เป็นวัตถุวิสัย (objective)

เป็นจิตวิสัย (subjective)

มีจุดสนใจที่กระชับและแคบ

มีจุดสนใจที่ซับซ้อนและกว้าง

สนใจในตัวแปร

สนใจในบุคคล

แยกส่วน

องค์รวม

เป็นการทดสอบทฤษฎี

เป็นการพัฒนาทฤษฎี

ใช้วิธีนิรนัยในการวิเคราะห์ข้อมูล

ใช้วิธีอุปนัยในการวิเคราะห์ข้อมูล

เพื่อที่จะได้ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลลัพธ์

เพื่อที่จะได้ความรู้ในเรื่องความหมายและได้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ

ใช้ตัวเลขและสถิติในการวิเคราะห์

ใช้คำพูดและการเล่าเรื่องราวในการวิเคราะห์

ให้คำตอบเดียวที่สามารถวัดได้และนำไปใช้ได้ในสถานการณ์ทั่วไป

ให้หลายคำตอบที่เปลี่ยนแปลงไปตามการแปลความหมายของแต่ละบุคคล

สำหรับวิธีวิจัยที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณ เช่น การวิเคราะห์เชิงสถิติ การวิเคราะห์ตัวแปรพหุ การวิเคราะห์สมการถดถอย การวิจัยสำรวจ การวิเคราะห์เครือข่ายสังคม การวิจัยตลาด ฯลฯ

ส่วนวิธีวิจัยที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ เช่น การอภิปรายกลุ่ม การสัมภาษณ์ การสังเกตแบบมีส่วนร่วม กรณีศึกษา ชาติพันธุ์วรรณา ประวัติชีวิต ฯลฯ

ในกรณีที่นักวิจัยเลือกทำวิจัยโดยใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม นักวิจัยจะต้องเข้าไปอยู่อาศัยในสังคมที่ศึกษา เพื่อจะได้ทำตัวให้ผสมกลมกลืนไปกับสังคมนั้นๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นสังคมของสัตว์ก็ตาม ดังเช่นรางวัลอีกโนเบลสาขาชีววิทยาในปี 2559 ที่มีผู้ได้รับรางวัล 2 คน คนแรกคือ Charles Foster นักวิจัยจากสหราชอาณาจักร ที่ต้องทำตัวให้เหมือนกับสัตว์ที่เขาได้ร่วมอาศัยอยู่ด้วยในป่า โดยสัตว์ที่ศึกษามี 5 ชนิด ได้แก่ หมาหริ่ง นาก กวาง สุนัขจิ้งจอก และนก ส่วนอีกคนหนึ่งคือThomas Thwaites นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรเช่นกัน ที่ได้คิดค้นแขนและขาเทียม ซึ่งเมื่อใส่แล้วจะได้เดินเหมือนกับแพะ เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่บนเชิงเขาร่วมกับฝูงแพะ (ดังรูป)

 

Thomas Thwaites ในขณะที่ใส่แขนและขาเทียม
ที่มา: https://www.kunc.org/post/what-does-goat-man-say-baa-maa-or-im-crazy#stream/0      
สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำ แล้วจึงได้คิด

หมายเหตุ: ปรับแก้จาก “การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ” ใน ประชากรและการพัฒนา 37(6) สิงหาคม - กันยายน 2560:8
 



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th