The Prachakorn

แนะนำหนังสือ “สังคมอายุรวัฒน์”


เพ็ญพิมล คงมนต์

17 ธันวาคม 2562
650



สังคมอายุรวัฒน์ ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ ได้ให้นิยาม คือ “สังคมที่คนทุกรุ่นวัยในชุมชนท้องถิ่นร่วมกันพัฒนาทักษะ และสมรรถนะการเสริมหนุนให้แต่ละรุ่นวัยสามารถใช้ชีวิตที่มีอายุขัยยืนยาวขึ้น ได้อย่างมีสุขภาวะ มีชีวิตสังคมที่มีคุณภาพ ประกอบอาชีพที่มีคุณค่าก่อประโยชน์สุขต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม” 

สังคมไทยส่วนใหญ่มอง “ผู้สูงวัย (Aged People)” ในฐานะผู้ด้อยโอกาส เป็นภาระแก่ผู้แบกรับ คือกลุ่มวัยแรงงานเป็นผู้หาเลี้ยง จึงไม่สอดคล้องกับสังคมยุคข่าวสาร หรือปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งอาศัยความคิดริเริ่มใช้สติปัญญาเป็นพลังหาเลี้ยงชีพ และขับเคลื่อนสังคมร่วมกันสู่อนาคต การนำประเด็นสังคมสูงวัย ซึ่งมีภาพแตกต่างจากแนวคิดเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยเท่านั้น มาสู่ “สังคมหลายรุ่นวัย” (Society of Generation Diversity) ซึ่งแต่ละรุ่นต่างก็มีอายุยืนยาวขึ้น หรือ อายุรวัฒน์ และแต่ละรุ่นวัยต่างมีวัฒนธรรม และวิธีคิดที่แตกต่างกัน การจัดการสังคมมุ่งอนาคต มีวิวัฒนาการขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ใช้ระเบียบวิธีคาดการณ์อนาคต เตรียมชุมชนและท้องถิ่นไทยให้มีสมรรถนะในการวางแผนการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างและระบบงาน มีกระบวนการบริหารจัดการ ประกอบด้วย มิติด้านครอบครัว มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านนวัตกรรม มิติด้านระบบนโยบาย จึงเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่จำเป็น ดังนั้นจะเห็นว่ารูปแบบการเสริมหนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้โดยอาศัย “ผู้เอื้อการเรียนรู้ (Facilitator)” จากผู้มีประสบการณ์และทักษะทางวิชาการในด้านสังคม เศรษฐกิจสุขภาพ และการจัดการประชารัฐ สามารถช่วยให้ผู้รับผิดชอบการจัดบริการสาธารณะในระดับพื้นที่ชุมชน ร่วมกับประชาคมผู้ใช้บริการวินิจฉัย และตรวจสอบอนาคตที่พึงปรารถนาของชุมชนท้องถิ่นและร่วมกันวิเคราะห์ข้อจำกัดเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนเปลี่ยนผ่านระบบและโครงสร้างการจัดบริการ ให้สามารถปรับ “รูปแบบ (Model)” การให้บริการทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพเป็นลำดับขั้นตอน จนยกระดับการจัดการสังคมสูงวัยให้เป็น “ชุมชนสูงวัยที่ใช้พลังยังประโยชน์แก่สังคม” ภายใน 20 ปี ได้

เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ ได้แก่ เหตุผล วัตถุประสงค์และวิธีการจัดการงานวิจัย/การศึกษาทบทวนนิยามและขอบเขตนโยบายสังคมสูงวัย/กรอบวิธีการเอื้อการเรียนรู้ (Facilitation)/เวทีประชาคม/ภาพอนาคตสังคมสูงวัยของชุมชนท้องถิ่น คือ พลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญของอำเภอและจังหวัด/การร่วมกันคาดการณ์อนาคต คือ พื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน


หมายเหตุ: ติดตามอ่านตัวเล่ม ได้ที่ งานบริการ ห้องสมุดสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล
ที่มา: วิพุธ พูลเจริญ. (2562). สังคมอายุรวัฒน์. กรุงเทพฯ : หนังสือวันดี.
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th