The Prachakorn

น้ำลาย


วรชัย ทองไทย

27 กุมภาพันธ์ 2563
5,083



น้ำลายเป็นของเหลวนอกเซลล์ที่เหนียว ไม่มีสี และสะท้อนแสง น้ำลายถูกผลิตและขับออกมาโดยต่อมน้ำลายที่อยู่ในปาก น้ำลายมนุษย์ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 98) นอกนั้นเป็นสารเคมี เมือก เกลือ แร่ธาตุ โปรตีน สารป้องกันแบคทีเรีย และเอนไซม์

ภาพจาก: https://www.adelbergpediatricdental.com/fun-facts-about-saliva//สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2563

ต่อมน้ำลายจะผลิตน้ำลายอยู่ตลอดเวลา คนทั่วไปจะผลิตน้ำลายราว 2-6 แก้ว ต่อวัน คนเราจะมีน้ำลายสอในเวลาที่ได้กลิ่นอาหารหรือคิดถึงอาหาร ตอนบ่ายเป็นช่วงเวลาที่มีน้ำลายมากที่สุด ส่วนเวลานอนหลับจะมีน้ำลายน้อยที่สุด อันมีผลทำให้จำนวนแบคทีเรียในปากเพิ่มมากขึ้น และมีกลิ่นปากในตอนเช้า

ปากของเราจะแห้งในเวลาที่รู้สึกกระวนกระวาย ประหม่า เครียด หรือหวาดกลัว เนื่องจากในขณะที่สมองรับรู้ถึงความเครียดหรือรู้สึกว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้น สมองจะส่งสัญญาณไปให้ระบบย่อยอาหารรวมทั้งต่อมน้ำลายให้หยุดทำงาน เพื่อจะได้ประหยัดพลังงานไว้ให้ร่างกายเตรียมพร้อมที่จะ “ต่อสู้หรือวิ่งหนี”

น้ำลายทำหน้าที่ในขั้นต้นของกระบวนการย่อยอาหารคือ น้ำในนัำลายทำให้อาหารเปียกนุ่ม เมือกในน้ำลายช่วยให้อาหารเคี้ยวแล้วไหลจากปากลงสู่กระเพาะได้ง่ายขึ้น และเอนไซม์ในน้ำลายช่วยแตกย่อยอนุภาคของแป้งและไขมันในอาหาร นอกจากนี้เอนไซม์ยังทำให้ตุ่มรับรสสามารถรับรู้รสชาติของอาหารอีกด้วย คนที่มีน้ำลายน้อยจะไม่รู้รสชาติของอาหารหรือได้แต่รสโลหะในอาหาร

เมือกในน้ำลายจะเคลือบเนื้อเยื่อในปาก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บในเวลาเคีัยวอาหารและกลืนอาหาร คนที่มีน้ำลายน้อยมักประสพปัญหาความเจ็บปวดในปาก และอาหารติดในปาก

น้ำลายช่วยป้องกันฟันผุและเหงือกอักเสบด้วยการชะล้างเศษอาหาร แบคทีเรีย และเซลล์ที่ตายแล้วออกไปจากปาก เศษอาหารตามซอกฟันโดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวและแป้ง เป็นบ่อเกิดของน้ำตาลอันตรายที่จะทำลายเคลือบฟัน

น้ำลายมีสารเคมีที่ควบคุมปริมาณพีเอช (pH คือ ค่าที่แสดงความเป็นกรด-ด่าง) ในปากให้อยู่ในพิสัยที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันฟันผุแล้ว ยังจะสร้างเกราะป้องกันเคลือบฟันอีกด้วย ส่วนสารป้องกันแบคทีเรียในน้ำลายจะช่วยให้บาดแผลในปากหายเร็วขึ้น ช่วยป้องกันเหงือกอักเสบ และทำให้ปากสะอาด

ถึงแม้น้ำลายจะทำให้ปากสะอาดโดยธรรมชาติ แต่อาหารส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ใข่อาหารตามธรรมชาติ แต่เป็นอาหารปรุงแต่งด้วยสารเคมีมากมาย เราจึงควรแปรงฟันสม่ำเสมอเพื่อสุขอนามัยช่องปาก

น้ำลายช่วยควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายให้สมดุล เพราะเมื่อน้ำในร่างกายลดลง ปริมาณน้ำลายก็จะลดลงด้วย อันจะส่งผลให้ปากแห้ง ทำให้เรารู้สึกกระหายน้ำ    

ตัวอย่างของน้ำลายสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อค้นหาร่องรอยของการใช้ของมึนเมาและสารเสพติด รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ

การมีน้ำลายน้อยทำให้ปากแห้ง อันเป็นบ่อเกิดของฟันผุและเหงือกอักเสบ ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะปากแห้ง วิธีแก้ไขที่ง่าย คือ ดื่มน้ำ เคี้ยวหมากฝรั่งไร้น้ำตาล หรืออมลูกอมไร้น้ำตาล ส่วนการมีน้ำลายมากไม่เป็นปัญหา นอกจากความรำคาญ วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือ กลืนน้ำลายลงคอ ไม่ใช่ถุยน้ำลายออก

การถุยน้ำลายคือ การพ่นหรือถ่มน้ำลายออกจากปาก เมื่อปริมาณน้ำลายมีมากขึ้น เรามักจะถุยออก หรือถ้าต้องการกำจัดสารที่ไม่ต้องการหรือรสที่ไม่ต้องการในปากออก เราก็จะถุยออกเช่นกัน การถุยน้ำลายถือว่าไม่สุภาพและเป็นที่ต้องห้ามในสังคม ในบางประเทศถือว่าผิดกฎหมาย เช่น ประเทศสิงค์โปร์ ที่ผู้ทำผิดจะถูกจับกุมและมีโทษปรับ

ส่วนการถุยน้ำลายใส่ผู้อื่นโดยเฉพาะถุยน้ำลายใส่หน้านั้น คนทั่วโลกถือว่าเป็นสัญญาณของความโกรธ ความเกลียดชัง การขาดความเคารพหรือการดูถูก

งานวิจัยเกี่ยวกับน้ำลายที่ได้รับรางวัลอีกโนเบล คือ

  • สาขาเคมี (2562) มอบให้กับนักวิจัยชาวญี่ปุ่น 5 คน (Shigeru Watanabe, Mineko Ohnishi, Kaori Imai, Eiji Kawano และ Seiji Igarashi) ที่ร่วมมือกันคาดประมาณปริมาณน้ำลายที่ผลิตขึ้นในแต่ละวันของเด็กอายุ 5 ขวบ
  • สาขาเคมี (2561) มอบให้กับนักวิจัยโปรตุเกส 3 คน (Paula Romão, Adília Alarcão และ César Viana) ที่ร่วมมือกันวัดประสิทธิภาพในการทำความสะอาดพื้นของน้ำลายมนุษย์

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่เรียกเสียงหัวเราะก่อน แล้วจึงได้คิด
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th