The Prachakorn

โกหก


วรชัย ทองไทย

03 เมษายน 2561
5,557



โกหกเป็นคำกล่าวที่ไม่จริง โดยผู้พูดมีวัตถุประสงค์เพื่อหลอกลวง และต้องการให้คนฟังเชื่อว่า สิ่งที่ไม่จริงนั้นเป็นจริง คนเรามักมีเหตุผลในการพูดโกหก เช่น ต้องการปิดบังบางสิ่งบางอย่าง หรือต้องการประโยชน์จากคนฟัง หรือเป็นเพียงการโกหกด้วยเจตนาดี ที่เรียกว่า โกหกสีขาว (white lie) เป็นต้น แต่บางคนโกหกเพราะเป็นโรคชอบโกหก (pathological lying) ก็เป็นได้

การโกหกต้องมีความตั้งใจที่จะกล่าวเท็จ แต่ถ้าเราพูดในสิ่งที่ไม่จริงโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่เป็นความจริง ก็จะถือว่าเป็นเพียงพูดผิด ไม่ใช่พูดโกหก ในบางกาละและบางเทศะ การโกหกอาจเป็นที่ยอมรับ เป็นสิ่งที่คาดหวัง หรือถึงกับสนับสนุน อย่างไรก็ตาม การหลงเชื่อหรือทำตามข้อมูลที่ไม่จริง ก็อาจก่อให้เกิดผลร้ายแรงตามมา

โกหกถือว่าเป็นบาปในบางศาสนา เช่น ศาสนาคริสต์เป็นหนึ่งในบัญญัติ 10 ประการ เป็นต้น ส่วนศาสนาพุทธถือว่า โกหกเป็นอกุศล จึงเป็นความประพฤติที่ควรละเว้น และเป็นหนึ่งในศีล 5 ที่สาธุชน คือ คนที่ควรแก่การสรรเสริญจะพึงปฏิบัติ

ระดับของการโกหกมีหลายระดับ ตั้งแต่เล็กน้อยที่ไม่มีใครถือสา ไปจนถึงขั้นร้ายแรงถึงต้องติดคุกติดตาราง ได้แก่

พูดไร้สาระ (bullshit) เป็นการพูดเรื่อยเปื่อยโดยไม่สนใจว่า สิ่งที่กล่าวออกไปจะเป็นจริงหรือเท็จ เพราะจุดสนใจของผู้พูดอยู่ที่ความต้องการที่จะให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจเท่านั้น ซึ่งการพูดไปเรื่อยๆ อาจนำไปสู่การโกหกได้

โกหกสีขาว (white lie) เป็นการโกหกเล็กน้อยที่มีเจตนาดี เพื่อให้ผู้ฟังมีความรู้สึกดีขึ้น หรือป้องกันไม่ให้ผู้ฟังเสียใจถ้าได้ฟังความจริง ซึ่งการไม่รู้ความจริงนี้จะต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ในบางครั้งผู้พูดโกหกสีขาวอาจจะคิดว่า ตนเองทำไปเพื่อให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวม และจะมีผลดีในระยะยาวก็เป็นได้

การพูดเกินจริง (exaggeration) เป็นการพูดให้เกินไปกว่าความจริงที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งทางบวกและทางลบ ส่วนการบิดเบือน (distortion) เป็นการเพิ่มหรือลดรายละเอียดบางอย่างของข้อเท็จจริง โดยทั้ง 2 ชนิดนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนฟังเข้าใจผิด มักใช้กันบ่อยในการโฆษณา

การหลอกลวง (deception) คือ การทำให้คนอื่นหลงเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง หรือเป็นความจริงเพียงบางส่วนว่าเป็นความจริงทั้งหมด ซึ่งจะต้องทำบ่อยๆ เป็นเวลานาน จนทำให้หมดความระแวงสงสัย โดยจะรวมไปถึงการหลอกลวงตนเอง (self-deception) ด้วย เช่น การหลอกลวงว่าต้นไม้ต้นนี้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

การโกง (fraud) คือ การทำ.ให้คนเชื่อในสิ่งที่เป็นเท็จ เพื่อที่จะหลอกเอาทรัพย์สินเงินทองจากคนเหล่านั้น ถ้าเป็นการโกงที่ก่อให้เกิดความเสียหายมาก ก็จะมีความผิดทางกฏหมาย

มนุษย์เราเริ่มโกหกตั้งแต่อายุ 6 เดือน โดยใช้การร้องไห้และหัวเราะ เพื่อเรียกร้องความสนใจของพ่อแม่ ส่วนเด็กเล็กจะเรียนรู้การโกหกจากประสบการณ์ตรงของตัวเองว่า ถ้าโกหกแล้วอาจทำให้ไม่ต้องถูกลงโทษ เมื่อทำผิดก็ได้

ในขณะที่เด็กได้เรียนรู้เป็นครั้งแรกว่า โกหกอย่างไรจึงจะได้ผลนั้น เขายังไม่มีความเข้าใจในคุณธรรมอย่างเพียงพอที่จะรู้ว่า เมื่อไรควรจะงดเว้นการพูดโกหก เด็กจะใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาความเข้าใจในเรื่องนี้ ด้วยการสังเกตคนรอบข้างพูดโกหก รวมทั้งได้เห็นผลลัพธ์ของการพูดโกหกด้วย ดังนั้นสังคมจึงมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมคุณธรรมด้านนี้

ถึงแม้ผู้หญิงและผู้ชายจะมีความถี่ในการโกหกเท่าๆ กัน แต่ก็แตกต่างกันในจุดประสงค์ของการโกหก กล่าวคือ ในขณะที่ผู้หญิงจะโกหกเพื่อเอาใจคนอื่น ผู้ชายจะโกหกเพื่อสนองความต้องการของตนเอง โดยทั่วไปแล้ว คนพูดโกหกจะใช้เวลามากกว่าคนพูดความจริง เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า คนพูดจริงพูดน้อย คนพูดปดพูดมาก

คนพูดปดมักจะแสดงกิริยาอาการบางอย่างที่ไม่เป็นธรรมชาติ เช่น เคลื่อนไหวน้อย ตัวแข็ง ทำตัวลีบ ไม่ยอมสบตา ใช้มือแตะหน้า ลำคอ หรือริมฝีปาก เอามือเกาจมูกหรือหู เป็นต้น แต่ที่ไม่เป็นความจริงคือ คนที่พูดโกหก จมูกจะยาวขึ้น ซึ่งความคิดดังกล่าวนี้ ได้มาจากนิทานเรื่อง การผจญภัยของปิน็อกกีโอ แต่งโดยชาวอิตาลี ชื่อ Carlo Collodi

นิทานเรื่องนี้มีการแปลออกเป็นภาษาต่างๆ มากมายแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้งภาษาไทยที่มีผู้แปลอยู่หลายสำนวน นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ในสื่อแบบอื่นอีก เช่น ละคร ละครร้อง การแสดงหุ่นกระบอก เพลง และภาพยนต์ เป็นต้น สำหรับภาพยนต์การ์ตูนของวอลท์ ดิสนีย์ เรื่อง ปิน็อกกีโอ ก็ถือกันว่า เป็นรูปแบบที่แพร่หลายที่สุด

ปิน็อกกีโอ เป็นเรื่องราวการผจญภัยของหุ่นไม้มีชีวิตที่มีนิสัยชอบพูดโกหก จนทำให้ชีวิตมักจะเผชิญแต่ความยุ่งยาก ปิน็อกกีโอมีลักษณะพิเศษคือ จมูกของเขาจะยาวขึ้นทุกครั้งที่พูดโกหก (ดังรูป) ด้วยความแพร่หลายของนิทานเรื่องนี้ ทำให้คนจมูกยาวกลายเป็นภาพล้อของคนโกหก และ “ปีน็อกกีโอ” กลายเป็นคำพ้องของ “โกหก”

รูป ปิน็อกกีโอที่จมูกยาวขึ้น เพราะพูดโกหก

โกหกเป็นหัวข้อที่มีการศึกษาวิจัยกันมากมาย ซึ่งพฤติกรรมเกี่ยวกับการโกหกที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็ได้มาจากการศึกษาวิจัยดังกล่าว ดังนั้นรางวัลอีกโนเบลสาขาจิตวิทยาปีล่าสุด จึงได้มอบให้กับนักวิจัยชาวเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน แคนาดา และอเมริกัน (Evelyne Debey, Maarten De Schryver, Gordon Logan, Kristina Suchotzki และ Bruno Verschuere) สำ.หรับงานวิจัย ที่ได้สัมภาษณ์คนโกหกหนึ่งพันคนว่า พูดโกหกบ่อยไหม และที่ต้องตัดสินใจว่า ควรจะเชื่อคำตอบที่ได้รับหรือไม่

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัย “ที่ทำให้หัวเราะก่อนคิด”


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th