The Prachakorn

ณ Cornell University Episode 4 การพบปะ


17 กุมภาพันธ์ 2563
213



สวัสดีค่ะทุกๆท่าน พบกันอีกแล้วนะคะ กับ " ณ Cornell University Episode 4 การพบปะ" ซึ่งเป็นตอนเกือบสุดท้ายแล้วค่ะ สำหรับประสบการณ์เดินทางไปนำเสนอผลงานวิชาการที่ Cornell University ของปุ๋ยปุ้ยและโสรยา 

ขออนุญาติเล่าต่อนะคะ เมื่อเราทั้งสองถึงที่พักและได้นอนพักอย่างเพียงพอแล้ว ในช่วงบ่ายของวันที่ 8 มีนาคม 2562 จึงได้เตรียมตัวเพื่อออกไปร่วมงานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งที่ 21 หรือ Cornell Southeast Asia Program Graduate Student Conference ที่ปีนี้มีธีมว่า “Conformities and Interruptions in Southeast Asia” 

ต้องบอกก่อนว่า Cornell University อยู่ในเมืองอิธากา (Ithaca) ก็จริง แต่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นราบเหมือนเขตที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ในเมืองนั้น โดยตัวมหาวิทยาลัยตั้งอยู่บนเขาค่ะ ดิฉันและคุณโสรยาได้เดินชมเมืองไปเรื่อยๆ จึงสังเกตได้ว่าตามท้องถนนแทบไม่มีคนเดินสวนทาง คิดว่าอาจเป็นเพราะ หิมะตกแทบตลอดเวลา และอากาศที่เย็นมากๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ดิฉันชอบมากที่สุด คืออากาศเย็น และอากาศดีมากๆ ค่ะ สามารถหายใจได้อย่างเต็มปอด รวมถึงมีร้านกาแฟท้องถิ่นที่รสชาติกลมกล่อมมาก อุ่นร้อนๆ ให้เราจิบด้วย ต้องขอบคุณ คุณอเล็กซานดร้าโฮสของเรา ที่แนะนำเราให้ได้รู้จักร้านกาแฟร้านนี้ และทุกๆ วันก่อนเดินขึ้นเขาไปมหาวิทยาลัยเราจะมานั่งจิบกาแฟที่ร้านนี้เป็นประจำ

   


ภาพโดย นางสาวภัสสร มิ่งไธสง

เมื่อเดินขึ้นเขาไปถึงไปถึง Cornell University เราก็ได้พบกับอาคารต่างๆ ที่มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ และหิมะขาวโพลนไปหมด เป็นความสวยงามอีกแบบ สำหรับงานประชุมวิชาการได้จัดขึ้นที่ The George McT. Kahin Center for Advanced Research on Southeast Asia ซึ่งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย รูปแบบของการจัดงานดูเหมือนจะแตกต่างจากที่เคยเจอในประเทศไทย เนื่องด้วย งานได้เริ่มขึ้นในช่วงค่ำ มีการกล่าวเปิดงาน นำเสนอผลงานเกี่ยวกับรูปแบบสื่อการแสดงที่มีความสอดคล้องกับการเมืองในแต่ละช่วงของการปกครอง สร้างมิติใหม่ขององค์ความรู้ให้แก่ดิฉันในอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งไม่เคยให้ความสนใจในด้านนี้มาก่อน หลังจากการนำเสนอแล้วจึงเป็นการพบปะสังสรร ทำความรู้จักผู้มาร่วมนำเสนองาน ทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ ในหลักสูตร Southeast Asia และมีการเลี้ยงอาหารในงานด้วย

ในงานนี้เราได้พบปะเพื่อนใหม่จากต่างมหาวิทยาลัยและหลากหลายเชื้อชาติ ได้มีการแลกเปลี่ยนทั้งความเป็นมาของตนเองและเนื้อหาทางวิชาการที่สนใจหรือกำลังทำวิจัยอยู่ แต่สิ่งที่สร้างความอัศจรรย์ใจมากที่สุด คือ ผู้ร่วงงานในครั้งนี้เกือบครึ่งหนึ่งสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ หากพูดติดตลกก็จะบอกว่า “ห้ามนินทาภาษาไทยเชียว” จากการสอบถาม พบว่า หลายๆคนที่พูดภาษาไทยได้ส่วนใหญ่จะมาทำวิจัยที่ประเทศไทย ในงานนี้มีมหาวิทยาลัยจากเอเชียเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการเพียง 2 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน และมหาวิทยาลัยมหิดล จากจุดนี้เองทำให้ดิฉันและคุณโสรยาได้มีเพื่อนสนิทชาวไต้หวันเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ซึ่งเพื่อนคนนี้ได้เคยมาพบปะที่เมืองไทย และปัจจุบันได้ศึกษาต่อด้านมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ดิฉันและโสรยาก็มีความภูมิใจกับมิตรภาพนี้เป็นอย่างมาก 
      

  

ภาพโดย นางสาวภัสสร มิ่งไธสง

เมื่ออิ่มท้องและทำความรู้จักครบทุกคนแล้วเราก็กลับไปที่พักด้วยการเดินลงเขาชมบรรยากาศช่วงกลางคืนของเมืองอิธากา (Ithaca) ด้วยอารมณ์ที่ผ่อนคลายที่ภารกิจวันแรกจบไปได้ด้วยดี ท่ามกลางบรรยากาศเหน็บหนาวกับอากาศที่มีอุณหภูมิติดลบไม่รู้กี่องศา แต่ค่ำคืนนี้เราก็หลับกันอย่างเป็นสุขและอบอุ่น….พบกันใหม่อีกครั้งในตอนจบของเราตอนหน้าที่มีชื่อว่า "ณ Cornell University Episode 5 The End" นะคะ


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th