The Prachakorn

ณ Cornell University Episode 5 Happy End


ภัสสร มิ่งไธสง

06 มีนาคม 2563
727



สวัสดีค่ะทุกๆท่าน ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้วสำหรับประสบการณ์จาก Cornell University ในชื่อตอน "ณ Cornell University Episode 5 Happy End" แต่ไม่ต้องเสียใจไปว่าจะไม่ได้อ่านเรื่องราวต่างๆจากดิฉันอีกนะคะ เพราะ ดิฉันจะมีสาระใหม่ๆมาเล่าให้ทุกท่านได้อ่านเช่นเคยค่ะ

ตอนที่ 4 ดิฉันและโสรยาได้ทำความรู้จักกับ Cornell University และเพื่อนๆผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาของ mission หลักของการเดินทางครั้งนี้ คือ  การนำเสนอผลงานวิชาการนะคะ แน่นอนว่า ตื่นเต้นมาก ๆ ระหว่างที่รอนำเสนอนั้นดิฉันสังเกตได้ว่าทุก ๆ คนในงานให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก เริ่มต้นตั้งแต่การแต่งกายที่สุภาพ การเงียบรับฟังผู้นำเสนอท่านอื่น ๆ อย่างตั้งใจ แม้แต่เสียงเปิดปิดประตูยังแทบไม่มี การถ่ายภาพที่พร่ำเพรื่อไม่พบเห็นเลยจากห้องประชุมแห่งนี้ ทุกคนจะถามเมื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อเสนอแนะและถามคำถามเรียบร้อยแล้ว แต่ที่สังเกตได้ชัด คือ ไม่มีใครชี้ว่า งานใครถูกหรือผิด ทุก ๆ คนจะถามในสิ่งที่ตนไม่ทราบหรือสนใจ หรือชี้แนะในสิ่งที่นำไปพัฒนาต่อยอดได้เท่านั้น ส่วนตัวดิฉันเห็นว่า นี่คือบรรยากาศทางวิชาการที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก แม้แต่ตอนที่ดิฉันและโสรยานำเสนอเอง แม้จะมีการผิดพลาดทางเทคโนโลยีที่ไม่เชื่อมต่อกัน ทุกคนก็พร้อมที่จะรอคอยและเป็นห่วงความรู้สึกของเราทั้งสองมากๆเมื่อการนำเสนอจบลง เรื่องราวเหล่านี้ยังประทับอยู่ในจิตใจและความทรงจำของดิฉันเสมอมา

ภาพโดย ภัสสร มิ่งไธสง

สิ่งหนึ่งที่ดิฉันอยากเรียนให้ผู้อ่านทราบ คือ เพื่อน ๆ ที่ไปร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในครั้งนี้หลาย ๆคน ได้สะท้อนว่า นี่เป็นการก้าวข้ามความกลัวในการพูดต่อหน้าสาธารณะชนครั้งแรก หลายคนไม่ได้บอกว่าตัวเองเก่งกาจอะไร แต่การมาในครั้งนี้ทุกคนมาเสนอความคิด เสนองานวิชาการ เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้รับทราบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อโลกใบนี้ไม่มากก็น้อย และการได้พบเพื่อนต่างชาติ ต่างมหาวิทยาลัย ทำให้เราทราบความเป็นไป บริบท ความก้าวหน้าทางวิชาการของแต่ละที่ ทำให้เราไม่ตกยุค 

คุณแม่ของดิฉันคัดค้านการเดินทางมาทีนี่ และหลายๆคนตั้งคำถามว่า “ไปทำไมหรอ เงินก็ออกเอง ทุนก็ไม่รู้จะได้หรือเปล่า” แต่ดิฉันขอตอบคำถามเหล่านี้อีกครั้งว่า ตอนแรกดิฉันไม่มีคำตอบให้ทุกคนที่ถาม แต่ตอนนี้ดิฉันมีคำตอบที่เป็นอีกแง่มุมดีๆให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้ทราบโดยพร้อมเพรียงกันว่า ประสบการณ์ที่ได้จากการไปนำเสนอผลงานวิชาการที่ Cornell University ในครั้งนี้ สอนให้ดิฉันทราบว่าการขอวีซ่าต้องทำอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร ระวังอะไรบ้าง การเดินทางสองวันต้องอดทนอะไรบ้าง ได้ทราบว่า อุณหภูมิ -6 องศาเซลเซียส เป็นอย่างไร “ความรู้สึกที่เหมือนเส้นเลือดมือจะแตกนั้นแท้จริงแล้วเป็นแบบนี้นี่เอง!!!” ที่สำคัญต้องใส่เสื้อผ้าหนาขนาดไหน บริบทของสหรัฐอเมริการเป็นอย่างไร การขึ้นรถ ลงเรือ ขึ้นเครื่องบิน ฯลฯ สนุกสนานแค่ไหน ได้เรียนรู้วิธีการรับมือกับอาการที่เรียกว่า “Jet Lag” เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยแล้วอย่างเข้มข้นขนาดไหน  และเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางไปประเทศอื่น ๆ ยิ่งขึ้น 

 

ภาพโดย ภัสสร มิ่งไธสง

สิ่งที่ได้เพิ่มเติมมามากมายมหาศาล คือ ความกล้าที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง การจะนำธงไทยไปปักบนเวทีโลกนั้น เราต้องพร้อมมากๆ ทั้งด้านภาษา วิชาการ มารยาททางสังคมที่แตกต่างและเงินทุน กลับจาก Cornell University ครั้งนี้ ทำให้ดิฉันต้องกลับมาตั้งใจเรียนใหม่ แม่ว่าดิฉันกับโสรยากลับถึงประเทศไทยเวลาตี 1 แต่เราก็พกความมุ่งมั่นตั้งใจ ไปเรียนต่อในวันรุ่งขึ้นทันที ขอบคุณประสบการณ์ชีวิตในครั้งนี้ ประสบการที่หาที่ไหนไม่ได้ ถ้าไม่ไปเอง 

สำหรับตอนจบนี้ ถือว่า จบแบบ happy ending ท่านใดสงสัย อยากพูดคุย แลกเปลี่ยน ท่านสามารถพูดคุยกับดิฉันได้ที่สถาบันวิจัยประกรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เกือบทุกวันนะคะกราบขอบพระคุณ ทุกท่านที่ติดตามอ่านมาโดยตลอดค่ะ ในครั้งหน้า ดิฉันจะมาพูดคุยเรื่องอะไร ขอให้ติดตามกันให้ดีนะคะ
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th