The Prachakorn

ความสุขของเด็กบ้านนอก


กาญจนา เทียนลาย

13 มีนาคม 2563
316



เย็นวันหนึ่ง เมื่อเด็กน้อยเลิกเรียน กระโดดลงมาจากรถตู้ของโรงเรียนที่มาส่ง แล้วรีบบอกกับผู้เป็นแม่ว่า 

เด็กน้อย :  แม่ ครูบอกว่า วันนี้ปิดเทอมแล้ว หนูขอหยุดเรียนได้ไหม 
แม่ : จะปิดได้ยังไง เพราะจดหมายครูบอกว่า ต้องไปอีก 4 วันนะ โรงเรียนจึงจะปิดเทอมใหญ่ 
เด็กน้อย : แต่ครูบอกว่าปิดจริงๆ นะแม่ หนูขอหยุดเรียน แล้วแม่ไปส่งหนูที่บ้านยายได้ไหม (หมายเหตุ: บ้านยายอยู่ต่างจังหวัด) 

เมื่อแม่เปิดดูกระเป๋านักเรียน ก็พบว่ามีหนังสือแจ้งจากทางโรงเรียนจริงๆ ว่า เลื่อนการปิดภาคเรียนให้เร็วขึ้น ด้วยเพราะสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือและโควิด-2019 เอาแล้วสิ! งานเข้าแม่แล้ว ลูกปิดเรียนก่อนกำหนด พรุ่งนี้ประชุมเต็มวัน สุดท้าย ถ้าต้องให้ลูกมาทำงานด้วยกับ มันก็จะวุ่นๆ หน่อย 

ตกเย็นของอีกวัน พอเลิกงาน จึงรีบขับรถไปส่งลูกที่บ้านยาย ใช้เวลาราวๆ 2 ชั่วโมงจากศาลายา นครปฐม กว่าจะถึงก็ สองทุ่มครึ่ง รีบอาบน้ำแต่งตัวให้ลูกพร้อมนอน สองคนพ่อแม่ก็รีบขับรถกลับเพื่อเตรียมตัวทำงานในวันต่อไป ในใจก็คิดถึงลูกหน่อยๆ เพราะนอนด้วยกันทุกคืน 

เช้าวันใหม่ ตาได้ส่งคลิปวีดีโอของหลานสาวตัวน้อยมาให้แม่ตั้งแต่ 6.30 น. หลานสาวยตัวน้อยตื่นแต่เช้ากว่าวันไปโรงเรียน รีบมาหัดปั่นจักรยานที่ลานหน้าบ้านเป็นชั่วโมง โดยไม่ต้องห่วงเรื่องจะออกถนน เพราะบ้านของเราห่างจากถนน พอตกช่วงบ่ายก็ไปกับตายายที่ทุ่งนา ได้เล่นดิน เล่นโคลน กระโดดไปมาระหว่างคันนาและเถียงนา วิ่งเข้าวิ่งออกโดยไม่ห่วงว่าแดดจะร้อนหรือไม่ ลมเย็นๆ ของทุ่งนา ดูเหมือนว่าจะทำให้เด็กน้อยมีพลังของความสุขสนุกสนาน พอตกค่ำถึงเวลาที่จะต้องวิดีโอคอลคุยกับแม่ เด็กน้อยไม่รีรอที่จะเล่าให้ฟังถึงความสนุกที่เกิดขึ้นของวันนี้ แววตามีความสุขมาก แถมพ่วงท้ายว่า แม่วางสายได้แล้วจะไปเที่ยวงานวัดต่อ 

เราในฐานะคนเป็นแม่ ก็มาย้อนคิดดูว่าลูกดูมีความสุขมากกว่าจะมานั่งรอเราทำงานที่ทำงาน ซึ่งเราก็ได้แต่แล้วปล่อยให้เขาเล่นไปเรื่อย แม้ว่าจะให้ไปเล่นกับพี่ๆ คนอื่นที่เต็มใจจะช่วยดูแล แต่เราก็มีความเกรงใจว่าลูกของเราอาจจะทำให้คนอื่นรำคาญ เหมือนกับที่บางคนมักเขาพูดกันเสมอว่า “ลูกเราอาจจะไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” การที่ให้เขาได้เปลี่ยนบรรยากาศไปอยู่กับตายายที่เลี้ยงกันมาแต่เล็ก แม้ว่าจะได้เล่นมือถือเยอะกว่า หรือดูการ์ตูนมากกว่าอยู่กับเรา ก็น่าจะเป็นผลดีกว่าอีกทางเลือกที่อยู่กับเรา ซึ่งแต่เขาคงได้เล่นและสัมผัสกับธรรมชาติน้อยลง 

เผอิญเลื่อน Facebook ผ่านมาเจอเพจของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ท่านได้ให้ความสำคัญกับการเน้นให้เด็กมี EF (Executive Functions) หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ” ว่าเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งในการเรียน การงาน การอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ การคิดสร้างสรรค์ และการจัดการทุกด้านตลอดชีวิต 

ว่ากันว่า EF ไมได้ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เรียนรู้ผ่านการลงมือทำและประสบการณ์ที่หลากหลาย เมื่อฝึกจนแข็งแรงแล้ว ก็จะติดตัวไปตลอด “     แล้วเราจะสร้างลูกให้มี EF ได้อย่างไร” คุณหมอก็แนะนำว่า ให้เด็กเล่นทราย ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน ฉีกตัดปะกระดาษ เล่นบล๊อคไม้ เล่นสมมติ เล่นเสรีในสนาม ปีนที่สูง ฝึกให้ลูกช่วยเหลือเองได้ กินข้าว อาบน้ำ ใส่เสื้อผ้า รวมทั้งการให้ลูกช่วยงานบ้าน เป็นต้น 

มาย้อนคิดดู เราเลี้ยงลูกแบบนี้บ้างหรือไม่ มีอ่านนิทาน ให้เล่นระบายสี ตัดกระดาษ ทำงานบ้านนิดหน่อย ก็มาถูกทางบ้าง แต่คงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกันไป จะว่าไปแล้ว การเป็นแม่คน ก็เหมือนป็นการเรียนรู้ครั้งใหญ่ของแม่ๆ ทุกคนเมือนกันนะ 


ภาพโดย: เพ็ญจันทร์ เทียนลาย (ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพให้เผยแพร่ได้)

คำสำคัญ: เด็ก, EF, บ้านนอก, แม่, ลูก, โรงเรียน, อ่านนิทาน, ระบายสี, 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th