ผู้เขียนขอนำเรื่องราวของธนาคารเวลา (Time Bank) เพื่อการดูแลผู้สูงอายุแห่งเมืองนานกิง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาแบ่งปันให้ผู้อ่าน ธนาคารเวลาเป็นนวัตกรรมสังคมที่เกิดขึ้นเมื่อราวปี 1973 ในประเทศญี่ปุ่น ผู้คิดคือ คุณเทรุโกะ มิซุชิมแห่งเมืองโอซาก้าทีี่ต้องการกระตุ้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ หลักการสำคัญของธนาคารเวลาก็คือการใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้คนในชุมชนดูแลกันและกัน มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับผ่านการแลกเปลี่ยนเวลา โดยเราสามารถสะสมเวลาที่เราเคยไปดูแลให้ความช่วยเหลือคนอื่นไว้กับธนาคาร และในอนาคตเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือก็สามารถนำเวลาที่สะสมไว้ไปแลกเวลาของสมาชิกคนอื่นเพื่อให้เขามาให้บริการดูแลเรา หรืออาจนำไปแลกกับบริการอื่น ๆ ได้ภายใต้กติกาที่เรามีส่วนร่วมกำหนดขึ้น โดยมีการจัดการระบบบัญชีการฝาก-ถอนเวลา คล้ายคลึงกับระบบของธนาคารทั่วไป
เมืองนานกิงมีประชากรสูงอายุมากถึง 1.34 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มากกว่าสองแสนคน เมืองนานกิงจึงเป็นเมืองหนึ่งที่ประสบปัญหาผู้สูงอายุไม่มีคนดูแล ในปี 2013 รัฐบาลจีนมีนโยบายให้ท้องถิ่นดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยการจัดงบประมาณสนับสนุน โดยมีสำนักงานเทศบาลนครนานกิงเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ช่วงแรกของการพัฒนาธนาคารเวลา ได้มีการวางเป้าหมายไว้เพียงแค่สนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ยังมีร่างกายแข็งแรงเป็นจิตอาสาไปช่วยดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ปัจจุบันนี้ ธนาคารเวลาแห่งเมืองนานกิงมีการบริหารและโครงสร้างที่ชัดเจน กำหนดมาตรฐานการแลกเปลี่ยนเวลาระบบเดียวกัน และนำแอปพลิเคชั่นมาใช้ลงทะเบียนเพื่อรับสมัครสมาชิกจิตอาสา และอาสาสมัคร ผู้สูงอายุที่ใช้บริการสามารถเลือกประเภทบริการที่หลากหลายได้ ตั้งแต่เป็นเพื่อนพูดคุย ตัดผม ตัดเล็บ อาบน้ำ ทำความสะอาดห้อง ปรุงอาหาร ไปจนถึงเป็นวิทยากรอบรมทักษะ หรือความรู้แก่ผู้สูงอายุ ฯลฯการเลือกให้บริการ หรือรับบริการสามารถทำได้ง่าย โดยผ่านแอปพลิเคชั่นหรือ walk in ซึ่งมีธนาคารหลายสาขาคอยให้บริการตั้งแต่ระดับเมือง ไปจนถึงระดับตำบล
สมาชิกจิตอาสาจะเบิกถอนเวลามาใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีเวลาสะสมอยู่ตั้งแต่ 20 หน่วยชั่วโมงขึ้นไป อาจนำ.ไปแลกเป็นการรับบริการการดูแลตามความจำเป็นของตน หรืออาจถอนเวลามาเปลี่ยนเป็นเงินหรืออาหาร สามารถโอนเวลาสะสมของตนไปให้กับสมาชิกในครอบครัวได้ โดยจำกัดเวลาที่สะสมได้ว่าต้องไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง และทั้งหมดจะต้องสะสมได้ไม่เกิน 1,500 ชั่วโมงต่อคน ร้อยละ 70 ของเวลาที่สะสมกำหนดให้นำมาใช้แลกบริการจิตอาสาเท่านั้น และถ้าหากจะแลกเป็นสิ่งของต้องไม่เกินร้อยละ 20 และใช้แลกเป็นเงินสดได้ไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งอัตราการแลก 1 ชั่วโมงเท่ากับ 12 หยวน
การคิดอัตราการแลกเปลี่ยนเวลาไม่ได้คิดในอัตราที่เท่ากัน แต่จะคิดตามความยากและความชำนาญเฉพาะของงานที่อาสาสมัครไปให้บริการ เช่น ถ้าไปเป็นจิตอาสาช่วยตัดผม ตัดเล็บ เป็นเพื่อนคุย ทำความสะอาดห้อง หรือปรุงอาหาร ฯลฯ ก็จะเก็บเวลาสะสมได้น้อยกว่าการไปเป็นวิทยากรจัดอบรมให้กับผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น ซึ่งระบบการคิดเทียบหน่วยเพื่อแลกเปลี่ยนเวลานี้ ผ่านกระบวนการทดลองและการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมช่วยคิดสูตรอัตราการแลกเปลี่ยนให้ด้วย
ปัจจุบันนี้นานกิงมีธนาคารเวลาเปิดดำเนินการแล้ว 38 สาขา มีอาสาสมัครมากกว่า 15,000 คน มีผู้สูงอายุที่ใช้บริการมากกว่า 30,000 คน มีเวลาของอาสาสมัครที่สะสมอยู่ในธนาคารกว่า 500,000 ชั่วโมง มีอาสาสมัครเบิกเวลาของตนมาใช้แล้วกว่าร้อยละ 80 หรือมากกว่า 400,000 ชั่วโมง
เพื่อกระตุ้นให้คนหนุ่มสาววัยทำงานเข้ามาเป็นจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุกันมากขึ้น มหาวิทยาลัยแห่งเมืองนานกิงได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยอนุญาตให้นักศึกษาที่ช่วยงานจิตอาสาสามารถนำเวลาที่สะสมไว้ไปแลกเป็นคะแนนในวิชาเรียนได้ และเทศบาลเมืองนานกิงเอง ก็มีการมอบรางวัลพลเมืองดีของเมืองนานกิงแก่คนรุ่นใหม่ที่ทำ.งานจิตอาสาในธนาคารเวลาอีกด้วย
ถ่ายภาพโดย สุชาดา ทวีสิทธิ์
หมายเหตุ: ได้รับอนุญาตจากธนาคารเวลาเมืองนานกิิงให้เผยแพร่ภาพได้