The Prachakorn

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด


มนสิการ กาญจนะจิตรา

01 เมษายน 2563
328



พรุ่งนี้มีนัดต้องพาลูกคนเล็กไปหาหมอเพื่อฉีดวัคซีน ในขณะที่โรคโควิด-19 ยังคงระบาด ลูกก็ยังเล็ก สอนให้ดูแลตัวเองก็ยังไม่ได้ อุ้มตลอดก็ไม่ไหว จับวางก็คงวิ่งเล่นพร้อมจับผิวสัมผัสทุกสิ่งอย่างทั่วโรงพยาบาล และลงท้ายด้วยการเอามือเข้าปาก เป็นวัยที่พร้อมทำลายทุกมาตรการความปลอดภัย แล้วแม่จะตัดสินใจอย่างไรดี เมื่อฉีดวัคซีนก็สำคัญ แต่ไปโรงพยาบาลก็รู้สึกว่าเสี่ยง? 

ไม่รู้ว่าพ่อแม่คนอื่นเจอปัญหาหนักใจอย่างนี้กันบ้างหรือเปล่าส่วนหนึ่งที่โควิด-19 มันน่ากลัว เพราะเป็นโรคที่เกิดใหม่ และยังไม่รู้ว่าจะระบาดมากน้อยแค่ไหน แล้วความร้ายแรงจะมากเพียงใด โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก

ถึงแม้ตอนนี้งานวิจัยเกี่ยวกับเจ้าโควิด-19 นี้ยังมีไม่มาก แต่จากข้อมูลการติดเชื้อเท่าที่มี อาจพอทำให้พ่อแม่เบาใจขึ้นได้เล็กน้อย เพราะพบเคสที่เป็นเด็กน้อยมาก นักวิจัยทั้งในสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน นำข้อมูลการติดเชื้อและการเสียชีวิตจากโควิด-19 มาวิเคราะห์ พบว่าจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อกว่า 72,000 รายในจีน (ข้อมูลจากกลางเดือนกุมภาพันธ์) เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบไม่ถึงร้อยละ 1 และถ้าดูจำนวนคนตายจากการติดเชื้อกว่า 1,000 ราย ไม่พบว่าเป็นเด็กเลยแม้แต่คนเดียว

น่าแปลกใจ ทำไมจำนวนเด็กติดเชื้อถึงได้น้อยนัก? 

เพื่อหาคำตอบ นักวิจัยของประเทศจีนจึงได้ติดตามคนใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อคอยติดตามว่าคนเหล่านี้จะติดเชื้อหรือไม่ โดยมีการตรวจสอบเป็นระยะ ถึงแม้คน ๆ นั้นจะไม่มีอาการป่วยก็ตาม ซึ่งนักวิจัยก็พบว่าเด็ก ๆ มีโอกาสติดราว ๆ ร้อยละ 7-8 ซึ่งไม่ต่างกับผู้ใหญ่เลย แต่สิ่งที่แตกต่างคือเด็กมักมีอาการไม่รุนแรงเท่ากับผู้ใหญ่ เช่น มีอาการไอเพียงเล็กน้อย และหลายคนไม่แสดงอาการป่วยเลยด้วยซ้ำ 

สาเหตุที่เด็กอาการไม่รุนแรง ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไร แต่ข้อสันนิษฐานหนึ่ง คือ สภาพปอดของเด็กยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ต่างกับปอดของผู้สูงอายุที่ผ่านควัน มลพิษ ควันบุหรี่ ฝุ่น PM 2.5 มามากกว่า ทำให้ปอดอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ปอดเกิดการบาดเจ็บจากการติดเชื้อ และระบบภูมิต้านทานที่มาตอบสนองกับเชื้อโรคที่ลงปอดมากกว่า

สรุปคือ เด็กมีโอกาสติดโควิด-19 ได้ไม่ต่างกับผู้ใหญ่ เพียงแต่เด็กมีอาการไม่รุนแรง (ยกเว้นเด็กที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด หรือเด็กคลอดก่อนกำหนด ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ควรระวังเป็นพิเศษ) ได้ยินอย่างนี้ ส่วนหนึ่งก็เบาใจขึ้นเล็กน้อย ถ้าลูกเราเกิดติดขึ้นมา ก็คงไม่เป็นอะไรมากอย่างที่กังวล แต่ก็เกิดความกังวลขึ้นมาใหม่...อย่างนี้แปลว่าเด็กเนี่ยแหละ ที่จะกลายเป็นคนแพร่เชื้อที่สำคัญเลย เพราะถึงไม่แสดงอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้ 

ช่วงนี้เด็ก ๆ หลายบ้านคงปิดเทอมกันแล้ว จึงเป็นเรื่องดีเพราะน่าจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้บ้าง ตอนนี้ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรพาเด็ก ๆ ออกไปข้างนอก โดยเฉพาะในที่ที่คนอยู่กันแออัดเยอะ ๆ นาน ๆ ถือโอกาสพาลูก ๆ ไปเที่ยวสถานที่กลางแจ้งบ้าง เช่น สวนสาธารณะ (ดีที่ช่วงนี้ฝุ่นเริ่มเบา ๆ ลงบ้าง) และที่สำคัญคือ ล้างมือ ล้างมือ และล้างมือ เพราะเป็นการลดโอกาสการติดเชื้อที่ดีที่สุด ถ้าเป็นเด็กเล็กมาก ๆ พ่อแม่ก็ต้องคอยหมั่นล้างมือให้จนเป็นนิสัย ส่วนเรื่องหน้ากากอนามัย ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าถ้าหากไม่ป่วยและไม่ได้ใกล้ชิดผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่หรือไม่ จึงไม่ทราบว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คือ ถ้ามีอาการไอ จาม มีน้ำมูก ควรต้องใส่เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค 

สุดท้ายแล้ว ครอบครัวเราตัดสินใจว่าจะพาลูกไปฉีดวัคซีนตามปกติ แต่จะเพิ่มความระมัดระวัง โดยระหว่างรอหมอจะเลือกไปอยู่บริเวณที่คนน้อยหน่อย มีอากาศถ่ายเท และพกแอลกอฮอล์สารพัดชนิดไปด้วย ตอนนี้ในกระเป๋ามีแอลกอฮอล์ทั้งแบบพ่น แบบเจล และแบบผ้าเปียก พร้อมทุกสถานการณ์จริง ๆ แต่ถึงพ่นแอลกอฮอล์อย่างไร ก็จะต้องไม่ลืมพาเจ้าตัวเล็กไปล้างมืออยู่ดี

คงต้องติดตามกันต่อไป ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกจะไปต่อในทิศทางใด แต่เชื่อว่าถึงแม้ โควิด-19 จะทุเลาลงไปแล้ว การฝึกให้เด็กรู้จักดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองและผู้อื่นให้ห่างจากโรคภัยถือเป็นอุปนิสัยพื้นฐานสำคัญที่จะสู้ทุกโรคภัยในอนาคต ในวิกฤตครั้งนี้กลับมีโอกาสฝึกลูกให้ตระหนักจากสถานการณ์จริง

 
ภาพจาก: https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1791323

ที่มา:    Wu, Z., & McGoogan, J. M. (2020). Characteristics of and important lessons from the coronavirus disease 2019 (COVID-19) outbreak in China: summary of a report of 72 314 cases from the Chinese Center for Disease Control and Prevention. Jama.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th