The Prachakorn

ศีล 5


วรชัย ทองไทย

01 เมษายน 2563
84,934



หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า คำสอนในพุทธศาสนามีแต่เรื่องทุกข์ เรื่องของจิตใจที่ไกลตัว ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และเป็นศาสนาเฉพาะตัว ซึ่งใครทำอะไรก็ได้รับผลนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับคนรอบข้างหรือสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับตรงกันข้าม เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ย่อมมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไปหมด

พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเรื่องของธรรมชาติ ความจริงของธรรมชาติ และกฎของธรรมชาติ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างมีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหมด ดังนั้น การกระทำของบุคคลแต่ละคน ย่อมมีผลกระทบต่อสังคม ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงของสังคมย่อมมีอิทธิพลต่อบุคคลด้วย นอกจากนี้ พุทธศาสนายังมีจุดหมายอยู่ที่ความสุข ดังคำกล่าวที่ว่า "ทุกข์สอนให้รู้จัก สุขสอนให้เข้าถึง"

เพราะความทุกข์เป็นปัญหาสำคัญที่คนเราต้องการกำจัดให้หมดไป พุทธศาสนาจึงเริ่มด้วยการชี้ให้เห็นตัวปัญหาหรือทุกข์เสียก่อน จากนั้นจึงสอนให้รู้ถึงสาเหตุของปัญหาหรือสาเหตุของทุกข์  แสดงให้เห็นถึงผลลัพท์เมื่อปัญหาหรือทุกข์หมดไป และเสนอแนวทางปฏิบัติที่จะแก้ไขปัญหาหรือทุกข์ ซึ่งคำสอนชุดนี้คือ อริยสัจจ์ 4 อันประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค นั่นเอง

สำหรับผลลัพท์เมื่อทุกข์หมดไปคือ นิพพาน อันเป็นความสุขสูงสุด และเป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนาด้วย แต่จุดหมายเฉพาะหน้าของพุทธศาสนาคือ การปฏิบัติตนให้มีความสุขในทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าสถานการณ์รอบตัวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม

ความสุขนั้นมีหลายระดับ ถึงแม้การที่เข้าถึงความสุขในแต่ละระดับ จะเป็นเรื่องที่เราต้องทำด้วยตนเองก็ตาม แต่สิ่งแวดล้อมและสังคมก็เป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยขัดขวางการเข้าถึงความสุขของเราเองด้วย

ศาสนาพุทธจึงมีคำสอนที่จะทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข โดยคำสอนขั้นต้นที่ทุกคนในสังคม ควรปฎิบัติอย่างสม่ำเสมอ คือ ศีล 5

ศีล 5 หรือเบญจศีล เป็นการประพฤติชอบทางกายและวาจา 5 ประการ ประกอบด้วย

  1. ปาณาติปาตา เวรมณี คือ เว้นจากการฆ่า การประทุษร้ายกัน
  2. อทินนาทานา เวรมณี คือ เว้นจากการลัก โกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ หรือทำลายทรัพย์สิน
  3. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี คือ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
  4. มุสาวาทา เวรมณี คือ เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง
  5. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี คือ เว้นจากน้ำเมาและสิ่งเสพย์ติด อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

เมื่อได้ละเว้นการกระทำที่ไม่ดี 5 ประการแล้ว ก็ควรทำแต่สิ่งที่ดีคือ ธรรม 5 หรือเบญจธรรม คู่กันไป ประกอบด้วย

  1. เมตตาและกรุณา คือ มีความรักและความสงสาร
  2. สัมมาอาชีวะ คือ การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต
  3. กามสังวร คือ รู้จักยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์ ไม่ให้หลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส
  4. สัจจะ คือ มีความสัตย์
  5. สติสัมปชัญญะ คือ ระลึกและรู้ตัวอยู่เสมอ ไม่ประมาท

คำสอนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันและการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่เราควรปฏิบัติยังมีอีกมาก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างพอเป็นสังเขป ได้แก่

  • ทิศ 6 คือ การปฏิบัติตนต่อคนรอบข้าง 6 ประเภท ประกอบด้วย 1. บิดามารดา 2. ครูอาจารย์ 3. ภรรยาหรือสามี 4. มิตรสหาย 5. คนรับใช้และคนงาน 6. พระสงฆ์
  • สังคหวัตถุ 4 คือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้สังคมสุขสงบ มั่นคง สามัคคี และมีเอกภาพ ประกอบด้วย 1. ทาน (ให้ปัน) 2. ปิยวาจา (พูดอย่างรักกัน) 3. อัตถจริยา (ทำประโยชน์แก่เขา) 4. สมานัตตตา (เอาตัวเข้าสมาน)
  • พรหมวิหาร 4 คือ ธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐ ประกอบด้วย 1. เมตตา (ความรัก) 2. กรุณา (ความสงสาร) 3. มุฑิตา (ความเบิกบานพลอยยินดี) 4.อุเบกขา (ความมีใจเป็นกลาง)

จะเห็นได้ว่า คำสอนในพุทธศาสนาจะมีเป็นชุดๆ โดยแต่ละชุดมีข้อปฏิบัติมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งในการปฏิบัติให้ได้ผลนั้น ต้องปฏิบัติให้ครบทุกข้อ เป็นองค์รวม เพราะถ้าปฏิบัติแยกส่วน โดยเลือกปฏิบัติเพียงข้อใดข้อหนึ่ง หรือเพียงบางข้อแล้ว ย่อมจะไม่ประสพผลสำเร็จตามจุดประสงค์

สังคมไทยดั้งเดิมเป็นสังคมสงบสุข เพราะมีวัฒนธรรมอันมีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน เป็นสังคมที่เข้มแข็ง โดยสามารถประยุกต์วัฒนธรรมต่างชาติให้เข้ากับสังคมไทยได้ แต่สังคมไทยปัจจุบันกลับไม่สงบสุข เพราะอ่อนด้อยทางศีลธรรม และเป็นสังคมที่อ่อนแอ เพราะรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามา โดยไม่แยกแยะ และไม่ประยุกต์เสียก่อน  

ส่วนวัฒนธรรมตะวันตกดั้งเดิมนั้น มีรากฐานมาจากศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาที่มีพระเจ้าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ และพระเจ้าได้สร้างกฏหรือศีลขึ้น เพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติตาม ถ้ามนุษย์ไม่ทำตามจะถือว่าเป็นบาปและต้องตกนรก โดยการไถ่บาปจะทำให้ไม่ตกนรก

วิทยาศาสตร์จะปฏิเสธทฤษฎีการสร้างมนุษย์ของพระเจ้า (Creation) โดยยอมรับทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolution) เมื่อวิทยาศาสตร์แพร่หลายมากขึ้น จึงเกิดความขัดแย้งกับศาสนาคริสต์ ทำให้คนในสังคมตะวันตกส่วนหนึ่ง เลิกนับถือศาสนา และคิดว่าผู้นับถือศาสนาเป็นคนงมงาย

ในปี พ.ศ. 2537 รางวัลอีกโนเบล สาขาคณิตศาสตร์ ได้มอบให้กับThe Southern Baptist Church of Alabama ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้สร้างสูตรคณิตศาสตร์ของศีล เพื่อคาดประมาณจำนวนพลเมืองในแต่ละเขตปกครองของรัฐอาลาบามาว่า มีจำนวนเท่าไรที่จะต้องตกนรก เพราะไม่ได้ไปไถ่บาป

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัย “ที่ทำให้หัวเราะก่อนคิด”


หมายเหตุ ผู้สนใจในรายละเอียดของคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถดาวน์โหลดหนังสือชื่อ ธรรมนูญชีวิต โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้ที่  http://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/a_constitution_for_living_thai-eng.pdf


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th