The Prachakorn

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19


ปราโมทย์ ประสาทกุล

03 เมษายน 2563
646



เมื่อ 200 ปีก่อน ทอมัส มัลทัส นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความไม่สมดุลย์กันระหว่างการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากร กับการเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ของปัจจัยในการดำรงชีพซึ่งได้แก่ อาหาร เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นจนกว่าความสามารถในการผลิตอาหารที่จะรองรับ ก็จะมีกลไกที่จะยับยั้งการเพิ่มของประชากรไม่ให้เพิ่มเร็วจนเกินไป กลไกอย่างแรกเป็นการยับยั้งเชิงทำลาย เช่น เกิดทุพภิกขภัย โรคระบาดรุนแรง หรือเกิดสงคราม ที่ทำให้มีคนตายเป็นจำนวนมาก ๆ กลไกอีกอย่างหนึ่งเป็นการยับยั้งเชิงป้องกัน มัลทัสกล่าวถึงการยับยั้งไม่ให้ประชากรเพิ่มเร็วเกินไปโดยวิธีที่ไม่ผิดหลักศีลธรรม เช่น ชะลอการแต่งงาน การงดเว้นเพศสัมพันธ์

นักคิดในเวลาต่อมาได้ปรับกลไกการยับยั้งเชิงป้องกันของมัลทัสให้เป็นว่า การคุมกำเนิด หรือการวางแผนครอบครัวก็ช่วยควบคุมให้ประชากรเพิ่มช้าลงได้ และต่อมา แนวคิดของมัลทัสเกี่ยวกับความสามารถในการผลิตอาหารของมนุษย์ที่ไม่ทันความเร็วของการเพิ่มประชากรก็ถูกปฏิเสธด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดของมัลทัสจะไม่ได้รับการยอมรับแล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้คนล้มตายลงคราวละมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างประเทศ โรคระบาดรุนแรง หรือผู้คนอดตายเพราะขาดอาหาร คนก็มักอ้างถึงสาเหตุตามแนวของมัลทัสว่า เหตุการณ์เช่นนั้นเป็นเพราะประชากรมีจำนวนมากเกินไป หรือเพิ่มเร็วเกินไป จึงมีกลไกธรรมชาติที่จะรั้งถ่วงไว้ให้ประชากรลดน้อยลง

การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลกขณะนี้ จะช่วยลดจำนวนหรือชะลออัตราเพิ่มประชากรโลกได้หรือไม่

ในรอบสองสามทศวรรษที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์สำคัญที่พลิกโลก (หรือเปลี่ยนโลก หรือป่วนโลก) 2 เหตุการณ์ คือ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (disruptive technology) และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรแบบพลิกโลก (disruptive change of population age structure) เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ ได้มีเหตุการณ์ที่จะพลิกโลกอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือ การระบาดของโควิด-19 ทั้งสามเหตุการณ์นี้กำลังจะเปลี่ยนโลกของเราอย่างมากมายมหาศาล จะเปลี่ยนทั้งความคิด วิธีคิด ทัศนคติ พฤติกรรม และวิถีชีวิต ของมนุษยชาติ 

เหตุการณ์พลิกโลกทั้งสามมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แต่ผมจะไม่พูดถึงความสัมพันธ์นั้นในบทความนี้

ผมมีข้อสมมุติฐานว่าโควิด-19 จะเป็นสาเหตุการตายสำคัญในกลุ่มประชากรสูงอายุ ในทางประชากรศาสตร์ เราสนใจการตายในฐานะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ประชากรเปลี่ยนแปลงไป (องค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงประชากรได้แก่ การเกิด การตาย และการย้ายถิ่น) ผมไม่มีตัวเลขเกี่ยวกับลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่สำคัญ คือ อายุและเพศของคนที่เสียชีวิตเพราะติดเชื้อโควิด เท่าที่ฟังข่าว ก็พอจะได้ความคิดว่า ผู้ที่ตายเพราะโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่โรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว ข้อสมมุติฐานข้อนี้น่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริง คนเราเมื่อมีอายุสูงขึ้น ภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บก็ย่อมจะลดน้อยลง

ประเทศที่เป็นสังคมสูงอายุจะมีอัตราตายเฉลี่ยอยู่ที่ 10-11 ต่อประชากรพันคน และในสังคมสูงอายุ โดยทั่วไป ในจำนวนคนตาย 100 คน จะเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่า 80 คน ผมยังไม่มีสถิติตัวเลขของการตายด้วยโควิดเป็นรายกลุ่มอายุในประเทศยุโรป เช่น อิตาลี เยอรมัน และเบลเยี่ยม แต่น่าจะเป็นว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

สหประชาชาติได้คาดประมาณว่า ปี 2020 นี้ โลกของเรามีประชากรทั้งหมด 7,795 ล้านคน ประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีประมาณ 1,000 ล้านคน อัตราตายของประชากรโลกอยู่ที่ 8 ต่อประชากรพันคน (UN, 2017) เท่ากับว่ามีพลเมืองโลกเสียชีวิตในปีนี้ประมาณ 62 ล้านคน เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคระบาดอุบัติใหม่และยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ชี้ชัดว่า สถานการณ์โควิดรอบนี้จะจบลงเมื่อไร และอย่างไร ผู้คนจะเสียชีวิตเพราะเชื้อโรคร้ายนี้เป็นจำนวนเท่าไร แต่เราพอจะเห็นภาพความรุนแรงของการระบาดของโควิด การอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นมากขึ้นในเขตเมือง และความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางติดต่อกันทั้งภายในแต่ละประเทศและระหว่างประเทศ ล้วนเอื้อต่อการระบาดของโควิดทั้งสิ้น โควิด-19 รอบนี้คงผลาญชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก ประชากรโลกอาจเสียชีวิดด้วยโควิด-19 เป็นเรือนล้านหรือหลายล้านคน อย่างไรก็ตาม ถ้าโควิดจะทำให้คนในโลกนี้ตายเพิ่มขึ้นอีกมากถึงสิบล้านคน อัตราตายของประชากรโลกก็จะสูงขึ้นเป็น 9 ต่อประชากรพันคน ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราเกิด 18.5 ต่อประชากรพันคน เท่ากับว่าอัตราเพิ่มประชากรโลกจะต่ำลงจาก 1.1% เหลือ 1.0% ประชากรโลกก็ยังจะเพิ่มขึ้นในปีนี้อีก 80 ล้านคน และถ้าคิดต่อไปบนข้อสมมติฐานว่าโควิด-19 เป็นสาเหตุการตายของผู้สูงอายุแล้ว โควิดน่าจะเป็นเพียงการย่นอายุของผู้สูงอายุให้สั้นลงเล็กน้อยเท่านั้น พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าพวกเขาไม่ตายด้วยโควิดในวันนี้ อีกไม่นานนักพวกเขาก็ต้องตายเพราะสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นกันมากในกลุ่มประชากรสูงอายุ เช่น โรคปอดติดเชื้อ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งตายเพราะหมดอายุขัย ดังนั้น จำนวนตายในช่วงที่โควิดระบาดอยู่นี้อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากสถานการณ์ระบาดของโควิดคลี่คลายลงแล้ว จำนวนตายของผู้สูงอายุก็อาจลดต่ำลงกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม มีหลักทางประชากรศาสตร์ประการหนึ่งว่า เมื่อประชากรมีอายุสูงขึ้น อัตราตายของประชากรจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะผู้สูงอายุวัยปลายที่ในที่สุดแล้วก็ต้องตาย มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

มาดูการตายด้วยโควิด-19 ในประเทศไทยบ้าง

ในปี 2562 มีคนตายในประเทศไทย 506,211 ราย เฉลี่ยวันละ 1,387 คน

ในอนาคต ไม่ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงหรือยังคงอยู่ การตายของคนไทยจะเพิ่มจำนวนขึ้น ปราโมทย์ และคณะ (2561) คาดประมาณว่า การตายของคนไทยจะยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะประชากรมีอายุสูงขึ้น อีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า การตายของคนไทยในแต่ละปีจะเป็นจำนวนถึงหลัก 6 แสนราย ในขณะที่จำนวนเด็กเกิดจะลดลงจนต่ำกว่า 6 แสนรายในแต่ละปี ซึ่งจะทำให้อัตราเพิ่มประชากรของประเทศไทยติดลบ หรือประชากรไทยจะลดจำนวนลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

การตายด้วยโควิด-19 ของคนไทยที่ผ่านมา (จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563) มีจำนวน 11 ราย ผมคาดประมาณไม่ได้ว่า การตายด้วยโควิดจะมีจำนวนรวมทั้งหมดในปีนี้เท่าไหร่ เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะคำนวณอัตราตายตามสาเหตุ (ด้วยโควิด) อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตัวเลขคนตายด้วยโควิดในประเทศไทยจนถึงวันนี้แล้ว ก็ทำให้อยากนำไปเปรียบเทียบกับการตายด้วยอุบัติเหตุทางถนน ในแต่ละปี คนไทยตายด้วยอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 2 หมื่นราย อย่างเช่นในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตด้วยเหตุนี้ประมาณ 23,000 ราย เท่ากับเฉลี่ยวันละ 60 กว่าราย เฉพาะ 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็ตายมากถึง 386 ราย ส่วนใหญ่คนตายด้วยอุบัติเหตุทางถนนเป็นคนวัยทำงาน 

ในทางประชากรศาสตร์ การตายเมื่ออายุมาก ๆ จะมีผลต่อจำนวนปีที่คนมีชีวิตอยู่น้อยกว่าการตายของคนในวัยหนุ่มสาว 

มาตรการต่อสู้กับโควิด-19 ของไทย

โควิด-19 กำลังจะเปลี่ยนชีวิตของคนไทย มาตรการจำกัดการเดินทางของผู้คนที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่่ในช่วงเวลาวิกฤติตลอดเดือนเมษายนนี้ นอกจากจะช่วยไม่ให้โควิดแพร่กระจายไปแล้ว ผมเชื่อว่า มาตรการนี้จะช่วยรักษาชีวิตของคนในวัยแรงงานได้มาก อาจถึงหลักร้อยคนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

ในฐานะเป็นผู้สูงอายุวัยกลาง ผมอยากเห็นมาตรการต่อสู้กับเชื้อโรคโควิดที่มีความสมดุลระหว่างหลัก 3 ประการ หนึ่งคือ ให้คนไทยปลอดภัยจากเชื้อโรคโควิดอันร้ายกาจนี้ สองคือ ให้ผู้คนยังมีรายได้เพียงพอที่จะยังชีพในภาวะวิกฤตินี้ และประการสุดท้าย ให้ผู้คนมีภาวะจิตใจไม่เศร้าหมอง 

ในฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่ง ผมอยากให้พวกเราได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งสถิติตัวเลขของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต และเรื่องวิธีการแพร่กระจายและการติดเชื้อโควิด ไม่อยากให้พวกเราระแวงซึ่งกันและกันอย่างไร้เหตุผล อยากให้ทุกคนร่วมกันต่อสู้กับเชื้อโรคร้ายนี้อย่างมีสติ อยากให้ทุกคนมีวินัยและรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของตนเอง

ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปีหน้านี้ เราต้องการให้ประชากรไทยเจริญวัยขึ้นอย่างมีพลัง ซึ่งหมายถึงตลอดเส้นทางชีวิตของคนไทย นับตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นผู้มีสุขภาพดี มีความมั่นคงในชีวิต และมีส่วนร่วมในสังคม เริ่มตั้งแต่เกิดอย่างมีคุณภาพ จนกระทั่งตายเมื่อถึงวัยอันสมควร และด้วยสาเหตุอันสมควร ตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี

การตายเมื่อเป็นผู้สูงอายุวัยปลายคือ เมื่อใกล้หมดอายุขัยของตนย่อมเป็นการตายในวัยอันสมควร การตายด้วยเหตุติดเชื้อโควิดอาจไม่เป็นเหตุอันสมควร เพราะจะต้องทุกข์ทรมาน ทุรนทุราย ผู้สูงอายุที่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดอาจแสดงเจตนาไม่ประสงค์ให้ยื้อชีวิตของตนได้ด้วยการทำ "พินัยกรรมชีวิต" หรือ "ชีวเจตนา" ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 
 


1) United Nations. (2017). World Population Prospect: The 2017 Revision.

2) ปราโมทย์ ประสาทกุล พิมลพรรณ อิศรภักดี และศุทธิดา ชวนวัน. (2561). การศึกษาประชากรที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th