The Prachakorn

ครัวเรือนข้ามรุ่น (ชั่วคราว) : ในสถานการณ์โควิด-19


กาญจนา เทียนลาย

04 เมษายน 2563
287



ในฐานะที่ทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มาบ้าง ขออนุญาตมาแชร์ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ฟัง ในช่วงเดือนธันวาคมของปี 2562 เริ่มมีข่าวคราวจากประเทศจีนที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด 19 อย่างรวดเร็ว มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งการปิดเมืองอู่ฮั่นของจีนในเวลาต่อมา ในประเทศไทยเองนักท่องเที่ยวจีนถูกมองว่าอาจจะเป็นพาหะที่นำโรคเข้ามาในบ้านเรา ในช่วงแรกคนไทยก็ยังไม่ค่อยตระหนักเกี่ยวกับไวรัสโคโรนามากนัก เห็นมีการป้องกันตัวบ้างในบางสถานที่ เช่น สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

ประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยรายแรก เป็นคนขับรถแท็กซี่ที่ติดจากนักท่องเที่ยวชาวจีน หลังจากนั้นเรื่อยมาการระบาดของไวรัสโคโรนาก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนในช่วงต้นดือนมีนาคม 2563 โรงเรียนระดับอนุบาล-ประถมศึกษา เริ่มทยอยปิดภาคเรียนก่อนกำหนด และยกเลิกการเรียนภาคฤดูร้อนทั้งหมด

ครอบครัวของเราก็ “เคยเป็นครัวเรือนข้ามรุ่น1 ในช่วงหนึ่งตอนที่ลูกอายุ 3 เดือน จึงให้ลูกไปอยู่กับตายายที่ต่างจังหวัด จนกระทั่ง 3 ขวบจึงได้มาอยู่ด้วยกัน พอในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และติดกันง่ายมากเช่นนี้ เราจึงจำเป็นต้องให้ลูกของเรากลายสถานะไปเป็น “ครัวเรือนข้ามรุ่น (ชั่วคราว)” อีกครั้ง ด้วยภาระงานที่ต้องออกไปทำงานทุกวัน ดูเหมือนว่าเราค่อนข้างเสี่ยงที่จะไปรับเชื้อมาแล้วอาจจะนำมันมาติดลูกของเราได้ เมื่อโรงเรียนต้องปิดเทอมก่อนกำหนด พวกเราก็ไม่รอช้า รีบพาลูกไปอยู่กับตายายที่ต่างจังหวัดชั่วคราว เพราะโอกาสเสี่ยงน้อยกว่ามาก ดูเหมือนว่าเราจะเอาภาระไปให้ตายายที่ต่างจังหวัด ในความรู้สึกนึกคิดของเราที่เป็นพ่อแม่ที่ต้องห่างลูก คิดถึงแทบแย่ ห่วงทั้งลูกและตายายว่าจะอยู่กันอย่างไร เป็นยังไงบ้าง คอยสั่งสินค้าออนไลน์ส่งไปให้ที่บ้านมากมาย เช่น กุนเชียง มาม่า ขนม หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และอีกหลายอย่าง เพื่อให้ตายายออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด

ผ่านไป 1 อาทิตย์ที่เราเอาลูกไปฝากให้ตายายช่วยเลี้ยงนั้น เราก็กลับไปเยี่ยมลูกพร้อมกับซื้อของใช้ที่จำเป็นกลับไปให้ตายายและลูกของเราที่ต่างจังหวัดและคิดว่าอีกนานกว่าจะได้กลับจนกว่าการระบาดจะลดน้อยลง ไปค้างแค่คืนเดียวแล้วรีบกลับมาตอนบ่ายของวันอาทิตย์ พอตกเย็นมีการประกาศเฝ้าระวังจากผู้ใหญ่บ้านว่า บ้านไหนที่มีลูกกลับมาเยี่ยมบ้านจากพื้นที่ระบาดให้เฝ้าระวังและพยายามกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน เรานี่รู้สึกผิดมากที่กลับไป แถมยังกังวลอีกว่าเราจะเอาเชื้อกลับไปแพร่ให้กับคนที่บ้านต่างจังหวัดหรือไม่

จะว่าไปแล้ว สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบต่อพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองที่ทำงานด้านสาธารณสุข เช่น หมอ พยาบาล เภสัชกร รวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ทำงานในโรงพยาบาลด้วย หรือพ่อแม่ที่ยังต้องออกไปทำงานและคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงที่อาจจะติดโควิด-19 จากการเดินทางไปทำงานด้วย เราเองเห็นเพื่อนๆ ใน Facebook หลายครอบครัวที่ทำแบบเดียวกับเรา ส่งลูกกลับไปอยู่กับปู่ย่าตายายที่ต่างจังหวัด

ท้ายนี้ ขอให้ทุกคนพยายามอยู่บ้านให้มากที่สุด ลดการเดินทางไปไหนมาไหนสักระยะ สถานการณ์มันคงจะดีขึ้นในเร็ววัน และจะได้ไปรับลูกกลับมาอยู่ด้วยกัน


กิจกรรมยามเย็น พากันไปเที่ยวทุ่งนา ดูสนุกสนานร่าเริงมาก

เตรียมอาหาร และน้ำดื่มไปทำนากับตา พร้อมกับกระเป๋าเป้สีส้มที่ข้างในมีของเล่น

ใส่บาตรยามเช้ากับตา ที่พระเดินนผ่านหน้าบ้านทุกวัน

หมายเหตุ: ภาพทั้งหมดได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพแล้ว เพ็ญจันทร์ เทียนลาย
 


1 ครัวเรือนข้ามรุ่น หมายถึง ครัวเรือนที่มีเพียงคน 2 รุ่น คือ ปู่ย่าหรือตายายเลี้ยงดูหลาน โดยไม่มีรุ่นพ่อแม่อาศัยอยู่ในบ้าน 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th