เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2563 ผมติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์โควิด-19 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค ได้รายงานว่า ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 2,067 รายแล้ว และมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 20 ราย
ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 ในประเทศไทยยังค่อนข้างต่ำจนนำไปวิเคราะห์ให้ละเอียดลงไปไม่ได้มากนัก ผมได้แต่นำตัวเลขการตายเท่าที่ได้รับรายงานนี้มาคำนวณหา "อัตราตาย" (death rate) จากการติดเชื้อโควิด-19 นี้ อย่างหยาบๆ โดยนำเอาจำนวนตาย (20 ราย) ตั้ง แล้วหารด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด (2,067 ราย) คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ได้ผลเท่ากับ 0.97% อัตรานี้เรียกได้ว่าเป็น "ความน่าจะเป็น" (probability) หรือโอกาสที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเสียชีวิต (ใน 100 คนที่ติดเชื้อ จะมีกี่คนที่เสียชีวิต)
ภาพจาก Coronavirus COVID-19 Global Cases by the Center for Systems Science and Engineering (CSSE) at Johns Hopkins University (JHU) วันที่ 6 เมษายน 2563
https://gisanddata.maps.arcgis.com/apps/opsdashboard/index.html#/bda7594740fd40299423467b48e9ecf6
อัตราตายด้วยโควิด-19 ของคนไทยนับว่ายังต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับอัตราตายของทั่วโลก รายงานล่าสุด เมื่อ 4 เมษายน 2563 ทั่วโลกมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมทะลุหลักล้านเป็นจำนวน 1,201,483 ราย มีผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตไปแล้วมากถึง 64,690 ราย คิดเป็นอัตราตายด้วยโควิด 5.38%
นับว่าอัตราตายด้วยโควิด-19 ของทั่วโลกสูงกว่าอัตราตายด้วยโควิด-19 ของไทยมากกว่า 5 เท่าตัว
ภาพจาก Coronavirus world map: which countries have the most cases and deaths?
https://www.theguardian.com/world/2020/apr/05/coronavirus-world-map-which-countries-have-the-most-cases-and-deaths
สถิติทางประชากรศาสตร์เกี่ยวกับการตายด้วยโควิด
Worldometer ได้นำข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 และการตายเพราะการติดเชื้อไวรัสนี้ ที่เผยแพร่ในรายงานและการศึกษาของประเทศจีนมาวิเคราะห์ ตารางสถิติที่จำแนกผู้เสีียชีวิตตามอายุ เพศ และโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ก่อนของผู้ติดเชื้อ นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจมาก
อัตราตายด้วยโควิด-19 จำแนกตามกลุ่มอายุ
โอกาสที่จะเสียชีวิตถ้าติดเชื้อโควิด-19 (%) แตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุ ตารางข้างล่างนำเสนอความเสี่ยงที่บุคคลหนึ่งจะตายถ้าเขาติดเชื้อโควิด-19 เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุของบุคคลนั้น ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลการแพร่ระบาดในประเทศจีน เดือนกุมภาพันธ์ 2563
(ร้อยละที่แสดงไว้ในตารางรวมกันแล้วจะไม่เท่ากับ 100 เพราะไม่ได้แสดงการกระจายจำนวนผู้เสียชีวิตไปตามกลุ่มอายุ)
กลุ่มอายุ |
อัตราตาย |
อัตราตาย |
80 ปีขึ้นไป |
21.9% |
14.8% |
70-79 ปี |
|
8.0% |
60-69 ปี |
|
3.6% |
50-59 ปี |
|
1.3% |
40-49 ปี |
|
0.4% |
30-39 ปี |
|
0.2% |
20-29 ปี |
|
0.2% |
10-19 ปี |
|
0.2% |
0-9 ปี |
|
ยังไม่มีข้อมูลการเสียชีวิต |
แหล่งข้อมูล: Worldometer Coronavirus Section.
ในกลุ่มผู้สูงอายุวัยปลายที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงสุดถึง 22% (หรือมากกว่า 1 ใน 5) ถ้าติดเชื้อโควิด-19 ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของคนวัยหนุ่มสาว อายุต่ำกว่า 50 ปีลงมามีไม่ถึง 1% เรียกได้ว่าโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุวัยปลาย อย่างแท้จริง
อัตราตายด้วยโควิด-19 จำแนกตามเพศ
โอกาสที่จะเสียชีวิตถ้าติดเชื้อโควิด-19 (%) ของผู้ชายจะสูงกว่าของผู้หญิง ตารางข้างล่างนี้จะนำเสนอความเสี่ยงที่ผู้ชายหรือผู้หญิงคนหนึ่งจะตายถ้าเขาติดเชื้อโควิด-19 (ร้อยละที่แสดงไว้ในตารางรวมแล้วจะไม่เท่ากับ 100 เพราะไม่ได้แสดงการกระจายจำนวนผู้เสียชีวิตตามเพศ)
เพศ |
อัตราตาย |
อัตราตาย |
ชาย |
4.7% |
2.8% |
หญิง |
2.8% |
1.7% |
แหล่งข้อมูล: Worldometer Coronavirus Section.
ผู้ชายมีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ถ้าติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าผู้หญิงเกือบเท่าตัว อาจเป็นเพราะผู้ชายมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้วมากกว่าผู้หญิงก็เป็นได้ ทาง worldometer ผู้นำเสนอข้อมูลก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์นี้เป็นข้อมูลจากประเทศจีน ซึ่งผู้ชายชาวจีนมีพฤติกรรมสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง จึงอาจมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้วก็ได้
อัตราตายด้วยโควิด-19 จำแนกตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว
โอกาสที่จะเสียชีวิตถ้าติดเชื้อโควิด-19 (%) แตกต่างกันไปตามโรคประจำตัวที่ผู้นั้นเป็นอยู่ก่อนแล้ว ตารางข้างล่างนำเสนอความเสี่ยงที่บุคคลหนึ่งจะเสียชีวิตถ้าเขาติดเชื้อโควิด-19 (ร้อยละที่แสดงไว้ในตารางรวมกันแล้วจะไม่เท่ากับ 100 เพราะไม่ได้แสดงการกระจายจำนวนผู้เสียชีวิตตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ก่อน)
โรคประจำตัวที่เป็นอยู่ก่อน |
อัตราตาย |
อัตราตาย |
โรคหัวใจ |
13.2% |
10.5% |
เบาหวาน |
9.2% |
7.3% |
โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเรื้อรัง |
8.0% |
6.3% |
ความดันโลหิตสูง |
8.4% |
6.0% |
มะเร็ง |
7.0% |
5.6% |
ไม่มีโรคประจำตัว |
|
0.9% |
แหล่งข้อมูล: Worldometer Coronavirus Section.
คนที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว ถ้าติดเชื้อโควิด-19 ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงถึง 13% คนที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน โรคทางเดินหายใจ ความดันโลหิตสูง หรือมะเร็ง ถ้าติดเชื้อโควิด-19 ก็จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตเกือบ 10% เรียกได้ว่าโควิด-19 เป็นเชื้อโรคที่จ้องเล่นงานคนที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว
ผมหวังว่าข้อมูลชุดนี้จะเป็นประโยชน์ อย่างน้อยช่วยเตือนสติพวกเราไม่ให้ตื่นตระหนก ถ้ายังเป็นคนหนุ่มสาวที่ดูแลสุขภาพของตนเองให้ดี ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโควิต-19 จะต่ำมาก ส่วนอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคน ถ้ามีวินัย ดูแลรักษาตัวเองให้ดี ก็คงจะรอดพ้นจากการติดเชื้อโรคร้ายนี้ได้
คงมีเรื่องประชากรศาสตร์ของโควิด-19 มาคุยกันอีก นี่เป็นผลงานของการ working from home ครับ
หมายเหตุ