The Prachakorn

5 เหตุการณ์ Talk of the town ในยุคโควิด-19


สิรินทร์ยา พูลเกิด

02 มิถุนายน 2563
374



การระบาดของโควิด-19 ทำเอาประชาชนทั่วโลกตื่นตัว เปิดหู เปิดตา รับฟังข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อย่างใกล้ชิดติดจอ วันนี้จึงขอหยิบยก 5 เหตุการณ์สำคัญ ที่ทำเอาคนทั่วโลก รวมถึงคนไทย พากันมีส่วนร่วมวิพากษ์ วิจารณ์ ให้ความเห็นกันมากมาย

1. คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกกับการใส่หน้ากากอนามัย

30 มีนาคม พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลก แถลงข่าวแนะนำไม่ให้ประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพดีใส่หน้ากากอนามัย หากตัวเองไม่ได้ป่วยด้วยโควิด-19 หรือกำลังดูแลคนที่ป่วยด้วยโรคนี้อยู่ (Lacina L, 2020) การประกาศนี้ขัดกับมาตรการของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ขอให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากเมื่อออกจากบ้าน ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยว่า สรุปแล้ว คนทั่วไปควรใส่หรือไม่ใส่หน้ากาก

6 เมษายน พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลก กลับลำแถลงข่าวแนะนำการใส่หน้ากากแบบผ้าหรือทำเอง อาจช่วยป้องกันคนทั่วไปจากการติดเชื้อโรคนี้ได้ (World Health Organization, 2020) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลักฐานที่พบว่า คนติดเชื้อบางคนไม่แสดงอาการป่วย แต่สามารถเป็นพาหะนำโรคไปติดผู้อื่นได้

2. แผน Herd immunity ของประเทศอังกฤษ

ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 สำนักข่าวของประเทศอังกฤษรายงานการพิจารณาใช้วิธี Herd immunity ของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อช่วยจัดการโควิด-19 ภายในประเทศ ข่าวนี้ทำเอานักวิชาการและคนทั่วไป ต่าง search หาความหมายของ Herd immunity และหยิบยกข้อมูลเอกสารงานวิจัยตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 มาวิเคราะห์ วิจารณ์ ไล่ตั้งแต่ประสิทธิภาพของ Herd immunity ไปจนถึงจริยธรรมของการใช้วิธีการนี้

Herd immunity เป็นวิธีการปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งติดเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้เอง เมื่อคนกลุ่มนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้โอกาสในการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยสู่คนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันลดลง (สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ, 2563) แต่แนวคิดนี้ดูท่าจะถูกพับเก็บ หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษออกแถลงว่า Herd immunity ไม่ใช่เป้าหมายหรือนโยบายของรัฐบาล แต่เป็นเพียงแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ หรือ scientific concept ซึ่งรัฐบาลยังรับฟังทุกคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและจะตัดสินใจบนหลักฐานที่น่าเชื่อ (The Telegraph, 2020)

3. มาตรการล็อคดาวน์ประเทศ

23 มกราคม พ.ศ. 2563 ประเทศจีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นและอีกหลายเมืองในมณฑลหูเป่ย ที่มีการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่การจำกัดการเดินทางเข้า-ออกเมือง การปิดบริษัท ห้าง ร้าน รวมถึงสถานที่สาธารณะ เช่น สนามบิน ซึ่งต่อมาหลายประเทศได้ทยอยใช้มาตรการล็อคดาวน์นี้เช่นกัน รวมถึงประเทศไทย (Wikipedia, 2020)

มาตรการล็อคดาวน์ในช่วงแรก ได้สร้างความสับสนและวิตกกังวลให้แก่ผู้ที่ติดอยู่ในประเทศที่ถูกล็อคดาวน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเวลาต่อมาหลายประเทศได้ส่งเครื่องบินมารับนักท่องเที่ยวของตนกลับประเทศ ในบางประเทศยังได้เพิ่มมาตรการคัดกรองโรคของนักท่องเที่ยวตั้งแต่ประเทศต้นทาง เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่เชื้อในประเทศปลายทาง

4. คนดังติดเชื้อโควิด-19

11 มีนาคม พ.ศ. 2563 ทอม แฮงก์ส นักแสดงและผู้ผลิตหนังฮอลลีวูด ได้โพสต์บนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เขาและภรรยาติดเชื้อโควิด-19 (Gunia A, 2020) ต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม สำนักข่าวประเทศอังกฤษรายงานการติดเชื้อโควิด-19 ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ แห่งเวลส์ (BBC NEWS, 2020) นอกจากนี้ ยังมีผู้นำประเทศอีกหลายคนที่ติดเชื้อ เช่น นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษและรัสเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอิสราเอลและอังกฤษ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอิหร่าน ขณะที่ประเทศไทยเองยังพบนักร้อง นักแสดง นักการเมือง และผู้บริหารระดับสูงติดเชื้อเช่นกัน

การพบคนดังตั้งแต่เชื้อพระวงศ์ ผู้นำประเทศ ไปจนถึงขวัญใจประชาชนติดเชื้อ กลายเป็นกระแสพูดคุย สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร สำคัญแค่ไหน คุณก็สามารถติดโรคนี้ได้ทั้งนั้น

5. หยุดจับมือทักทาย หันมาไหว้กันเถอะ

11 มีนาคม พ.ศ. 2563 กับข่าวน่ารัก ๆ ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แห่งเวลส์ที่ใช้การไหว้ หรือที่ต่างชาติเรียกว่า “Namaste sign” แทนการจับมือทักทายแบบสากล เพื่อลดการติดเชื้อจากคนสู่คน ในงานมอบรางวัลแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน (Calvario L, 2020) ได้สร้างกระแสความสนใจอย่างมากต่อการไหว้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการแสดงความเคารพที่หลายประเทศใช้กันอยู่แล้ว รวมถึงประเทศไทย

แต่เหมือนว่า พฤติกรรมนี้คงเปลี่ยนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ยาก แม้ว่าหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศอย่างศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ หรือ US CDC จะออกโรงเตือนประชาชนอเมริกัน ให้งดจับมือทักทายในช่วงระบาดนี้ (Ma A, 2020) แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงเดินหน้าจับมือทักทายต่อไป แม้แต่ในเวทีประชุมโควิด-19 เอง ซึ่งความยึดมั่นของท่านประธานาธิบดีนี้ ได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากทีเดียว

กับ 5 เหตุการณ์ Talk of the town นี้ แม้จะมีทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือไม่มีความเห็น แต่ได้สร้างสีสัน กระตุ้นความสนใจ และชวนให้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจกับการป้องกันตนเองและคนรอบข้างจากโควิด-19 ได้ดีทีเดียว

ภาพโดย: Gordon Johnson จาก Pixabay

เอกสารอ้างอิง
BBC NEWS. (2020, 26 March). Coronavirus: Prince Charles tests positive but ‘remains in good health’. Retrieved from https://www.bbc.com/news/uk-52033845

Calvario. L. (2020, 11 March). Prince Charles says he’s struggling to not shake hands amid Coronavirus outbreak. Retrieved from https://www.etonline.com/prince-charles-says-hes-struggling-to-not-shake-hands-amid-coronavirus-outbreak-142948

Gunia A. (2020, 11 March). Tom Hanks and Rita Wilson test positive for COVID-19. Retrieved from https://time.com/5801534/tom-hanks-rita-wilson-coronavirus/

Lacina L. (2020). Should you wear a face mask? WHO officials weigh in at today’s COVID-19 briefing. Retrieved from https://www.weforum.org/agenda/2020/03/who-should-wear-a-face-mask-30-march-who-briefing/

Ma A. (2020, 6 April). Trump, a known germaphobe, says he will keep shaking hands during the coronavirus outbreak even though the CDC told people to stop. Retrieved from https://www.businessinsider.com/coronavirus-trump-continue-shaking-hands-not-thrilled-elbow-bumps-2020-3 

The Telegraph. (2020, 14 March). We must all do everything in our power to protect lives. Retrieved from https://www.telegraph.co.uk/politics/2020/03/14/must-do-everything-power-protect-lives/

Wikipedia. (2020). 2020 coronavirus lockdown in Hubei. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/2020_coronavirus_lockdown_in_Hubei

World Health Organization. (2020). Advice on the use of masks in the context of COVID-19. Retrieved from https://www.who.int/publications-detail/advice-on-the-use-of-masks-in-the-community-during-home-care-and-in-healthcare-settings-in-the-context-of-the-novel-coronavirus-(2019-ncov)-outbreak

สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ. (2563). Herd immunity ควบคุมโรคอุบัติใหม่ได้ผลจริงหรือไม่. Retrieved from https://www.hfocus.org/content/2020/04/18908
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th