The Prachakorn

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม... จากความคิดสู่การลงมือทำ


ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

08 กรกฎาคม 2563
1,325



เมื่อ COVID-19 มาเยือน ทำให้เราต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น ต้องปรับวิถีชีวิตในหลาย ๆ แง่มุม บางอย่างถือว่าเป็นความท้าทาย แต่บางอย่างก็ถือว่าเป็นโอกาส ในช่วงเวลานี้เองที่ผู้เขียนได้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมภายในบ้านมากขึ้น ถือว่าเป็นโอกาสที่ได้นำความสนใจที่มีมานานแปรเปลี่ยนเป็นการลงมือทำ

ผู้เขียนนั้นมีความสนใจในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่เป็นความสนใจแบบตื้น ๆ หรือผิวเผินก็ว่าได้ คือ พยายามที่จะลดขยะด้วยตัวเอง เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ได้หลายครั้ง พกพาและใช้แก้วน้ำส่วนตัว ลดการใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น แต่ก็สังเกตว่าปัญหาขยะไม่ได้เกิดจากพลาสติกหรือโฟมเพียงเท่านั้น ขยะจากอาหารก็เป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเราเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากการศึกษาปัญหาขยะอาหารของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เมื่อ พ.ศ. 25621  ที่พบว่าขยะอินทรีย์ที่เกิดจากครัวเรือนในประเทศไทยนั้นมีมากถึง 10 ล้านตันต่อปี โดย 43% ถูกกำจัดด้วยการเผาในเตาเผาหรือแปลงเป็นปุ๋ย และอีก 57% ถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบหรือถมกลางแจ้ง ซึ่งนำไปสู่การแพร่เชื้อโรคลงสู่แม่น้ำลำคลอง ดึงดูดพาหะนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน และส่งกลิ่นเหม็นต่อชุมชนใกล้เคียง

ที่บ้านของผู้เขียน นอกจากสมาชิกหลายคนชอบการทำอาหารแล้ว ยังมีร้านขนมเล็ก ๆ อีกด้วย ขยะอาหารที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจึงมีปริมาณมาก เมื่อก่อน การกำจัดขยะเหล่านี้ก็ใช้วิธีใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงไว้ แล้วนำไปทิ้งลงถังขยะ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มขยะพลาสติกเข้าไปอีก ต่อมาก็มีการนำเศษอาหารที่เป็นพวกพืช เช่น เปลือกผลไม้ เศษผัก ไปทิ้งไว้ใต้โคนต้นไม้ เพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย แต่ปัญหาของการทำแบบนี้คือบางครั้งมีกลิ่นรบกวนและมีแมลงมากขึ้น โดยเฉพาะแมลงหวี่และแมลงวัน

ก่อนหน้าที่จะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ผู้เขียนไม่ได้มีเวลาใส่ใจกับการจัดการขยะของที่บ้านมากนัก โดยส่วนตัวก็เคยลองค้นหาว่าจะมีวิธีไหนที่จะช่วยลดขยะอาหารได้ แต่ก็ทำแบบผ่านๆ คือแค่เปิดดูตามเว็บไซต์ไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อต้องพบกับภาวะกักตัวและ Work From Home ทำให้ผู้เขียนได้มีเวลาใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านและรอบบ้าน พอมีเวลามากขึ้นจึงได้ศึกษาอย่างลงลึก เพื่อเปรียบเทียบว่าวิธีไหนที่เหมาะกับการจัดการขยะของบ้านตนเอง หลังจากได้ค้นคว้าไปสักพักก็สรุปได้ว่าการหมักปุ๋ย (composting) โดยใช้ถังหมักปุ๋ยดินเผา น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับบ้านของผู้เขียน

 
ถัง “ปั้นปุ๋ย” ที่หลังบ้านของผู้เขียน (ถ่ายภาพโดยผู้เขียน)

อันที่จริง การหมักปุ๋ยมีอยู่หลายวิธี เช่น การหมักปุ๋ยแบบพลิกกอง แบบน้ำ แบบใส่ตะกร้า เป็นต้น ซึ่งบางวิธีก็ใช้เวลามาก ใช้พื้นที่เยอะ ต้องมีการดูแลที่ละเอียด แต่กับการหมักปุ๋ยโดยถังหมักปุ๋ยดินเผาไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผู้เขียนเลยตัดสินใจซื้อถังหมักปุ๋ยแบบดินเผาที่มีขนาดพอเหมาะ (กับจำนวนสมาชิก) และดูแลจัดการได้ง่าย ถังหมักปุ๋ยนี้มีชื่อเรียกว่า “ปั้นปุ๋ย” ถังนี้เป็นความคิดริเริ่มโดยกลุ่ม “ผักDone”2  ซึ่งสนใจในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและอาหารที่ปลอดภัย โดยการกำจัดขยะอินทรีย์เพื่อให้ได้ปุ๋ยแล้วนำปุ๋ยที่ได้นั้นมาใช้ปลูกพืช เพื่อให้ได้อาหารที่ปลอดภัยและเป็นการลดขยะไปในตัว โดยเริ่มต้นจากหน่วยครัวเรือน 

ตัวถังนั้นทำมาจากดินเผา แบ่งออกเป็นสามชั้น มีฝาปิดชั้นบนเพื่อกันแมลงและสัตว์ต่าง ๆ ชั้นบนและชั้นกลางมีไว้เพื่อใส่เศษอาหารและสารตั้งต้นเพื่อทำการหมัก ส่วนชั้นสุดท้ายสามารถเปิดออกมาเพื่อทำการเก็บปุ๋ยที่หมักแล้ว แต่ละชั้นมีรูเล็ก ๆ เพื่อให้มีการระบายอากาศ ส่วนการใช้ก็ง่ายมากเพียงแค่นำเศษอาหารไปกรองน้ำออก ใส่ลงไปในถังแล้วตามด้วยสารตั้งต้นที่ร้านให้มา ที่ทำด้วยใบไม้แห้ง กากกาแฟ หัวเชื้อที่หาได้จากธรรมชาติ เป็นต้น คลุกเคล้าเศษอาหารกับสารตั้งต้นเข้าด้วยกัน และใส่น้ำตาลทรายลงไปเล็กน้อยเพื่อช่วยย่อยเศษอาหาร ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนถังเต็ม จากนั้นทิ้งเศษอาหารที่หมักไว้ประมาณ 1 เดือน จากนั้นเราก็ได้ปุ๋ยมาใช้ 

ทั้งหมดที่กล่าวมาสำหรับการหมักปุ๋ยด้วย “ปั้นปุ๋ย” นั้นดูง่ายมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มีอุปสรรค ที่ทำให้ผู้เขียนเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง และได้ความรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการหมักปุ๋ยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพอที่จะสรุปได้ 5 ประเด็นต่อไปนี้

  • ไม่ใช่อาหารทุกอย่างจะหมักปุ๋ยได้ดี ช่วงแรกใส่ลงไปเกือบทุกอย่าง เปลือกกุ้ง เปลือกหอย ขนมปัง ฯลฯ ก็ลงไปหมด หารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดกลิ่นและทำให้แมลงวันมาเยี่ยมเยียนกองปุ๋ยของเรา เปลือกหอยและเปลือกกุ้งยังย่อยสลายยากมาก ๆ ต้องใช้เวลานาน ผู้เขียนต้องใช้วิธีทุบบดเปลือกต่าง ๆ ซึ่งใช้เวลาและแรงไม่น้อยเลย สิ่งที่ใส่ลงไปแล้วไม่ก่อให้เกิดการเน่าเสียคือ เศษพืช เปลือกผลไม้ ผักต่าง ๆ 
  • การใส่เศษอาหารและสารตั้งต้นต้องคำนึงถึงสัดส่วนของคาร์บอนและไนโตรเจน ไนโตรเจนมาจากอาหารสด พืชสด มูลสัตว์ กากกาแฟ เป็นต้น ส่วนคาร์บอนมาจากของแห้ง เช่น ใบไม้แห้ง เศษกระดาษ เศษไม้ เป็นต้น ถ้ากองปุ๋ยของเราเริ่มมีกลิ่นแสดงว่ามีสัดส่วนไนโตรเจนมากเกินไป จะต้องใส่คาร์บอนเพิ่ม เพื่อให้กองปุ๋ยย่อยสลายอย่างสมดุล ไม่เน่าเสีย 
  • เจอสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยเจอ แรก ๆ เจอหนอนตัวใหญ่แบบที่ไม่เคยเห็นก็ตกใจมาก กลัวว่ากองปุ๋ยเราเน่าหรือเปล่า ถึงมีหนอนพวกนี้ได้ หลังจากได้ไปค้นคว้าเพิ่มเติมก็ค้นพบว่า หนอนที่เราเห็นคือ หนอนของแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) ได้ยินชื่อว่าแมลงวันก็รู้สึกว่าน่ารังเกียจใช่ไหมคะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แมลงวันลายไม่ใช่แมลงวันบ้านที่เป็นพาหะนำโรคและก่อความรำคาญให้เรา แมลงวันลายไม่เป็นพาหะนำโรคและตัวอ่อนของแมลงวันลายมีประโยชน์ต่อการย่อยสลายอาหารเป็นอย่างมาก แมลงวันลายมีวงจรชีวิตโดยเป็นตัวเต็มวัยแค่ประมาณ 5-6 วัน ก่อนที่มันจะตาย แมลงวันลายจะวางไข่ไว้ ซึ่งต่อไปจะฟักเป็นหนอนมีอายุราว 19-23 วันและเข้าสู่ระยะก่อนดักแด้ มีอายุ 14-19 วัน3  สองระยะนี้เป็นระยะที่หนอนแมลงวันลายจะกินและย่อยสลายวัตถุอินทรีย์อย่างรวดเร็ว หนอนเหล่านี้แหละ เป็นผู้ช่วยที่สำคัญของเรา เพราะกินเศษอาหารได้เร็วและถ่ายออกมาเป็นปุ๋ย ก่อนที่ผู้เขียนจะเข้าวงการหมักปุ๋ยยังไม่เคยเห็นแมลงวันลายสักครั้ง เพิ่งจะได้เห็นก็คราวนี้ และได้เรียนรู้ว่าหนอนของแมลงวันลายนั้นมีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงเพื่อการค้าอย่างจริงจัง โดยนำไปขายเป็นอาหารสัตว์ที่มีสารอาหารสมบูรณ์ ขายได้ประมาณกิโลกรัมละ 500-600 บาทเลยทีเดียว จากที่ไม่ชอบหนอน ตอนนี้ผู้เขียนเฝ้ามองหาหนอนแมลงวันลายในกองปุ๋ย แต่น่าเสียดายที่พอเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แมลงวันลายไม่มาวางไข่เหมือนในช่วงฤดูร้อน

   
หนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly Larvae)
ที่มา http://kuse.csc.ku.ac.th/page/article_read/418


 แมลงวันลายตัวเต็มวัย (Black Soldier Fly)
ที่มา http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=9050.16

  • การหมักปุ๋ยทำให้เราต่อยอดความพยายามในการลดขยะอาหารต่อไปอีก คือ นอกจากเราจะมุ่งกำจัดขยะในครัวเรือนแล้ว ก็ไปขอวัตถุดิบในการหมักปุ๋ยจากคนอื่น ๆ มาด้วย เช่น ไปขอกากกาแฟจากร้านขายกาแฟที่รู้จักกัน เนื่องจากกาแฟมีสารอาหารและเมื่อนำไปตากแห้งแล้ว สามารถนำมาใช้เป็นตัวดูดซับความชื้นในถังปุ๋ยของเราได้ ผู้เขียนยังคิดขยายผลไปขอใบไม้แห้งจากคนกวาดถนนอีกด้วย 
  • ปุ๋ยหมักที่เราได้นั้นปลอดสารเคมีแน่นอน เพราะมาจากขยะอาหารในครัวเรือน และไม่ได้มีการใส่สารเร่งอื่น ๆ ลงไป ปุ๋ยหมักที่ได้นั้นออกมาเป็นสีดำหรือที่วงการคนทำสวนเรียกว่า ทองคำสีดำ (Black gold) มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช

 
ปุ๋ยที่ได้จากการหมักขยะอาหารประมาณ 1 เดือน ของบ้านผู้เขียน (ถ่ายภาพโดยผู้เขียน)

 
ปุ๋ยที่ร่อนแล้ว (ถ่ายภาพโดยผู้เขียน)

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ครอบคลุมได้หลายอย่าง แต่ผู้เขียนเองอยากเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่เราสามารถทำได้ภายในครัวเรือน การกำจัดขยะอาหารก็เป็นวิธีหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เราสามารถทำได้ ตอนนี้การหมักปุ๋ยได้เป็นงานอดิเรกที่ผู้เขียนทำอย่างเต็มตัว ตอนแรกก็คิดว่าคงไม่มีอะไรมาก เพียงแค่ทิ้งเศษอาหารลงไปให้ย่อยสลาย แต่จริง ๆ แล้วมีกระบวนการให้เรียนรู้อีกมาก เรียนรู้จากทั้งความสำเร็จและความผิดพลาด อาหารแบบไหนทำให้เราได้ปุ๋ยที่ดี ย่อยสลายยากหรือง่าย ก่อให้เกิดการเน่าเสียหรือไม่ ทำอย่างไรจะได้ทองคำสีดำแบบที่เราต้องการ ผู้เขียนลองคำนวณคร่าว ๆ จากที่ได้ถังปุ๋ยมาเมื่อสองเดือนที่แล้วจนถึงตอนนี้ น่าจะสามารถกำจัดขยะอาหารไปได้ประมาณ 50-60 ลิตร แทนที่ขยะเหล่านี้จะไปนอนเน่าเสียอยู่ในลานขยะ ตอนนี้ได้กลายร่างเป็นสารอาหารสำหรับสวนที่บ้านไปแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เริ่มต้นจากระดับครัวเรือนนั้นมีพลังมาก การร่วมมือกันคนละนิดคนละหน่อย ทำสิ่งที่เราทำได้ จะนำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ในอนาคต

หมายเหตุ: ขอขอบคุณ แอดมินเพจ "ผักDone" ที่ให้คำแนะนำ และตรวจทานข้อมูลและเนื้อหาของบทความ 


1  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2562). รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final report) การศึกษาแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อลดปัญหาขยะอาหารที่เหมาะสมกับประเทศไทย. สืบค้นจาก https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2019/09/final_food_waste_management.pdf

2  https://www.facebook.com/PakDoneThailand/

3  กุลชาติ บูรณะ และ ทัศนีย์ แจ่มจรรยา. (2554). พฤติกรรมการผสมพันธุ์และการวางไข่ของแมลงวันลาย Hermetia illucens (L.). The 12th Kon Kaen University Graduate Research Conference. สืบค้นจาก https://gsbooks.gs.kku.ac.th/54/grc12/files/bmo11.pdf 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th