The Prachakorn

นโยบาย Replacement Migration กับ โควิด-19


อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

11 สิงหาคม 2563
320



ใน “ประชากรและการพัฒนา” ฉบับเดือนสิงหาคม–กันยายน 2562 ผู้เขียนได้เขียนเรื่อง “ความมั่นคงทางประชากร”ของประเทศไทย และในตอนสุดท้ายได้กล่าวถึงนโยบายการนำเข้าประชากรและแรงงานจากต่างประเทศ ตามแนวทางที่สหประชาชาติได้รณรงค์ส่งเสริมให้ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากจนเข้าขั้นวิกฤตจนเกิดการลดลงของประชากรอย่างต่อเนื่อง หันมาใช้วิธีการที่เรียกว่า Replacement Migration ซึ่งเริ่มแนะนำให้ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2001 แล้ว (United Nations Secretariat, 2001)

ประจวบกับเมื่อปีที่แล้วสหประชาชาติ ได้ทำการคาดประมาณประชากรของประเทศต่าง ๆ ไปจนสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 คืออีก 80 ปี ข้างหน้า พบว่าประชากรประเทศไทย จะลดจำนวนลงไปมากถึงกว่าหนึ่งในสาม ถือเป็นประเทศที่ประชากรจะลดลงมากที่สุดในโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประชากรจะลดลงไปประมาณ 40% (United Nations, 2019) แม้แต่ประเทศเกาหลีใต้หรือประเทศเยอรมนี ก็จะมีประชากรลดลงเพียงประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้าอิงตัวเลขตามการคาดประมาณประชากรของสหประชาชาตินี้ ประเทศไทยเมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 จะมีประชากรเหลือเพียง 44 ล้านคน การคาดประมาณนี้ได้ใช้อัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ระดับปานกลาง แต่จากการศึกษาเชิงคุณภาพพบว่าในสังคมไทยการมีบุตรเป็นสิ่งที่ยากลำบากยิ่งขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ประกอบกับขณะนี้การระบาดของโควิด-19 กระทบความเป็นอยู่ของประชากร ทัศนคติและพฤติกรรมการมีบุตรจึงเป็นสิ่งที่ปรากฏออกมาเชิงลบมากขึ้นเรื่อย ๆ และจากการคาดประมาณประชากรโดยใช้อัตราเจริญพันธุ์รวมที่คาดว่าจะลดต่ำลงไปอีก พบว่าปลายศตวรรษนี้ ประชากรไทยจะมีไม่ถึง 30 หรือ 40 ล้านคนเสียด้วยซ้ำไป

ในขณะเดียวกันสหประชาชาติคาดประมาณว่าประชากรโลกเมื่อสิ้นศตวรรษ 21 จะเพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ 11,000 ล้านคน ดังนั้น การทะลักของประชากรโลกจำนวนมากเข้าสู่ประเทศไทยทางใดทางหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เราจึงควรวางแผนจัดการการย้ายถิ่นเข้าประเทศให้ดี และเตรียมมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบไว้แต่เนิ่น ๆ

นโยบาย Replacement Migration ของเราก็คือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่าภายในศตวรรษนี้ เราจะทดแทนประชากรที่กำลังจะลดลงหรือไม่ และเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 เราควรจะมีประชากรสักเท่าไรจึงจะเหมาะสม เราควรจะนำประชากรต่างชาติเข้าประเทศในรูปแบบใดบ้าง และจำนวนเท่าไร การให้วีซ่าระยะยาวในลักษณะต่าง ๆ ควรมีเท่าไร การให้สัญชาติไทยแก่ชาวต่างชาติให้กว้างขวางขึ้นจะตั้งเป้าอย่างไร เมื่อไร จำนวนปีละเท่าไร และคุณสมบัติของชาวต่างชาติเหล่านั้นต้องเป็นอย่างไร การให้สัญชาติกับผู้ที่เกิดในประเทศควรทำหรือไม่ การยอมรับ dual citizenship เป็นไปได้ไหม ตลอดจนวิธีการและการออกกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจการตัดสินการให้สัญชาติ ควรจะมีกระบวนการทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างไร (มิใช่ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว) และที่สำคัญยิ่ง เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางทัศนคติและเพื่อสร้างนโยบายสาธารณะที่ถูกต้อง การให้สัญชาติไทยควรจะเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยหรือไม่ เช่น โดยผ่านระบบรัฐสภา และการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชนและท้องถิ่นในการคัดสรรผู้เข้ามารับสัญชาติไทยควรเป็นอย่างไร เช่น ใช้ตัวอย่างจากประเทศแคนาดา ให้สัญชาติปีละประมาณ 300,000 คน โดยใช้ระบบลูกขุนและการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการคัดเลือก ออสเตรเลีย ให้สัญชาติปีละเกือบ 200,000 คน โดยใช้ระบบการให้คะแนนคุณลักษณะที่เหมาะสมที่กำหนดร่วมกันโดยใช้ระบบรัฐสภา หรือสิงคโปร์ที่ใช้ระบบใส่ใจกับผู้ย้ายถิ่น โดยยึดหลักสร้าง hope, heart, home ให้แก่ผู้ย้ายถิ่น เพื่อดึงดูดใจผู้ย้ายถิ่นคุณภาพ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดว่าจะทำสิ่งเหล่านี้อย่างไร การจะได้คนดี ๆ เข้ามาอยู่ในประเทศ เราจำเป็นต้องมีการให้ที่ดีด้วยหรือไม่ 

การระบาดของโควิด–19 ยังทำให้การย้ายถิ่นของโลกแทบจะสิ้นสุดลงด้วย ศูนย์การย้ายถิ่นของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดในปีนี้ได้กล่าวว่า “ยุคของการเคลื่อนย้ายประชากร” (age of migration)ในโลก ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาจนปัจจุบัน และขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ในที่สุดก็อาจจะต้องจบลงด้วยการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ (Gamlen, 2020) โดยเฉพาะในประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูง หรือประเทศที่ไม่ชอบความหลากหลายของประชากรและพหุวัฒนธรรมอยู่ก่อนแล้ว การสร้างและตอกย้ำกำแพงกั้นเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก และการยับยั้งการอพยพเข้าเมือง และยุติการให้สัญชาติทั้งหมดแก่ชาวต่างชาติ เป็นตัวอย่างของการประณามการย้ายถิ่นให้เป็นแพะรับบาปของโควิด-19 หน่วยงานสหประชาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก และประชาสังคมระดับนานาชาติ เช่น Lancet Migration ได้ออกมาแจ้งมาตรการการดูแลสุขภาพผู้ย้ายถิ่นแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ชูประเด็นสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (global health security) อย่างจริงจัง เพื่อต่อสู้ในเรื่องนี้

สำหรับประเทศไทย ขออย่าให้พวกเราหลงประเด็น อย่าได้ใช้ “ชาตินิยม” มาทำให้เราเสียโอกาสสร้างความมั่นคงทางประชากรของเราในระยะยาว จากการมองเชิงบวกกับเหตุการณ์ที่ผกผันของโลกในตอนนี้ ประเทศไทยได้รับการยกย่องการจัดการกับโควิด–19 จากระบบสาธารณสุขและการแพทย์ที่ดีและครอบคลุม เรามีความร่วมมือของสาธารณชน เรียกได้ว่าประเทศไทยมีทุนทางสังคมและภูมิศาสตร์ที่ดี นอกจากนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาการดูแลแรงงานย้ายถิ่นได้ดีมากระดับหนึ่ง คำถามก็คือ เราจะสามารถดำเนินการตามนโยบาย Replacement Migration อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับประเทศได้มากที่สุดต่อไปได้หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด–19 นี้ คำตอบของผู้เขียนก็คือเราทำได้ถ้ามีการจัดการที่ดี และมีการสร้างทัศนคติที่ดีเสียแต่เนิ่น ๆ และที่สำคัญคือเราต้องมีข้อมูลทางประชากรที่ถูกต้อง ระบบสุขภาพของประเทศไทยทำให้เราเป็นประเทศ “หล่อเลือกได้” เราสามารถดำเนินการคัดสรรผู้ย้ายถิ่นอย่างเช่นประเทศต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วได้เช่นกัน อย่าปล่อยให้ประชากรทะลักเข้ามาด้วยตัวของมันเอง หรือผ่านระบบที่ไร้ธรรมาภิบาล หรือรูรั่วเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ปัจจุบันโควิด–19 สอนให้เรามีระเบียบวินัยมากขึ้น ซึ่งสามารถจะนำไปใช้กับการจัดการการย้ายถิ่นเข้าออกประเทศได้เป็นอย่างดี เราควรพัฒนาและดำรงระบบการดูแลและคัดกรองผู้ย้ายถิ่นอย่างเป็น “นิวนอร์มอล”จนถึงที่สุดสามารถจัดการกระบวนการและทัศนคติเพื่อคัดสรรแรงงานและประชากรชาวต่างชาติที่มีคุณภาพ ภายใต้นโยบาย Replacement Migration เพื่อความมั่นคงทางประชากรของประเทศในศตวรรษที่ 21 นี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์

ภาพโดย: https://www.tcijthai.com/news/2020/4/scoop/10070

อ้างอิง

  • Gamlen, A. (2020). Migration and Mobility after the 2020 Pandemic: The End of an Age? WP-20-146, Centre on Migration, Policy and Society, University of Oxford.
  • United Nations. (2019). World Population Prospects 2019, DESA, Population Division, UN., New York, 2019.
  • United Nations Secretariat. . (2001). Replacement Migration, DESA, Population Division, UN., New York, 2001.
     

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th