วิกฤติโควิด-19 สะท้อนว่าเจนวายในวัยสร้างเนื้อสร้างตัวเปราะบางที่สุด ขณะที่เบบี้บูมที่ทำงานมาตลอดชีวิตกว่า 40 ปี มีรายได้และเงินออม เข้มแข็งที่สุด แต่จะอยู่รอดได้นานแค่ไหนเมื่อหลายครอบครัวยังไม่มีเงินเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
ผลกระทบวิกฤต โควิด-19 กับเจเนอเรชัน
จากภาวะปกติ มาสู่ภาวะวิถีชีวิตใหม่ ครอบครัวคนทำงานแต่ละเจเนอเรชันได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างไรบ้าง การสำรวจผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ต่อคนทำงานองค์กรทุกเจเนอเรชันพบว่า ร้อยละ 46 ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 42 ได้รับผลกระทบปานกลาง อย่างไรก็ตามเมื่อแยกตามเจเนอเรชันพบว่าเกินกว่าครึ่งของเจเนอเรชันวาย (ร้อยละ 51) ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด ขณะที่เบบี้บูมเมอร์และเจเนอเรชันเอ็กซ์ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 46 และ 41 ตามลำดับ
เรื่องเงิน มาเป็นอันดับ 1 ในเจเนอเรชันวายและเอ็กซ์
ความช่วยเหลือที่จำเป็นและต้องการของคนทำงานองค์กรในเจเนอเรชันวายและเอ็กซ์ ที่มาเป็นอันดับหนึ่งเหมือนกัน คือ เรื่องเงิน โดยสัดส่วนความต้องการช่วยเหลือเรื่องนี้ คนทำงานองค์กรเจเนอชันวายมากกว่า เจนอื่นคือ 1 ใน 3 ของคนทำงานองค์กรเจเนอเรชันวาย มากกว่า 1 ใน 4 ของ คนทำงานองค์กรเจเนอชันเอ็กซ์ ต้องการความช่วยเหลือ เรื่องเงินเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือความต้องการช่วยเหลือด้านเกี่ยวกับสุขภาพ
ผลสำรวจพบว่า คนทำงานองค์กรเบบี้บูมเมอร์ต้องการความช่วยเหลือในด้านสุขภาพมากที่สุด รองลงมาคือ เจเนอเรชันเอ็กซ์และเจเนอเรชันวาย ความต้องการช่วยเหลือด้านสุขภาพแบ่งเป็นเรื่องการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และข้อมูลการป้องกันโควิด-19 ทั้งนี้ความต้องการช่วยเหลือด้านสุขภาพของเบบี้บูมเมอร์มากกว่าเจเนอเรชันเอ็กซ์และวาย ก็น่าจะมาจากภาวะสุขภาพที่ถดถอยไปตามอายุ จึงเป็นความเสี่ยงที่เบบี้บูมเมอร์จะรู้สึกกังวลเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ขณะที่เจเนอเรชันเอ็กซ์และวายต้องการความช่วยเหลือในด้านสุขภาพเพียงร้อยละ 16 และร้อยละ 14 ตามลำดับ
ร้อยละความต้องการความช่วยเหลือที่จำเป็นของแต่ละเจเนอเรชัน
เรื่องที่กระทบกับชีวิตคนทำงานองค์กรเจเนอเรชันวายมากที่สุด
เป็นที่ยอมรับว่าในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ได้เกิดมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐขอความร่วมมือและบังคับใช้ ทำให้องค์กรหลายแห่งปรับรูปแบบการทำงาน เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในองค์กรที่ทำงาน นำไปสู่การปรับรูปแบบการทำงานขององค์กรในภาวะที่ไม่ปกติ กระทบต่อคนทำงาน และส่งผลไปถึงครอบครัวของคนทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจนคือ เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกับคนทุกเจเนอเรชัน เพราะบางองค์กรอาจมีการขอลดเงินเดือนพนักงาน เพื่อให้องค์กรอยู่รอด แน่นอนว่ารายได้ประจำที่ลดลงย่อมกระทบโดยตรงกับมนุษย์เงินเดือน รูปแบบการทำงานที่ต้องคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical distancing) การปรับรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นขึ้น เกิดการทำงานที่บ้านแทนการทำงานในที่ทำงาน (Work from home) ทำให้รายจ่ายที่เกิดจากค่าอินเทอร์เน็ต หรือ รายจ่ายอื่น ๆ ที่ไม่คาดคิดว่าจะมีขึ้นหรือเพิ่มขึ้น ก็เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19
คนทำงานองค์กรเจเนอเรชันวาย ร้อยละ 38 มีปัญหาที่กระทบมากที่สุดในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากสถานการณ์วิกฤตที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเพิ่มขึ้นแล้ว ภาวะหนี้สินเดิมที่มีอยู่ยิ่งสะสมเป็นปัญหาการเงินสะสม รายงานการสำรวจจากธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2562 พบว่า ร้อยละ 50 ของคนเจเนอเรชันวายมีหนี้สินและส่วนใหญ่ยังมีเงินไม่พอใช้จ่าย เจเนอเรชันวาย ซึ่งอยู่ในช่วงอายุแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวจึงเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบด้านการเงินมากที่สุด
รายได้ก็ไม่เพียงพอ เงินออมก็ไม่พอเก็บ
เมื่อเรื่องเงิน เป็นเรื่องใหญ่ คนที่มีเงินเก็บออมก็พอจะลดภาระที่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดได้บ้าง แต่เมื่อมีรายได้ไม่เพียงพอ การมีเงินเก็บคงเป็นเรื่องลำบาก หากตั้งสมมติฐานว่า เพราะคนเจเนอเรชันวายอยู่ในช่วงสร้างครอบครัว ความมั่นคงทางการเงินอาจจะไม่เข้มแข็งเท่ากับคนเจเนอเรชันเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์ก็เป็นไปได้
เบบี้บูมเมอร์น่าจะเอาตัวรอดได้ในเรื่องของการเงิน แต่หากดูจำนวนแล้ว มีไม่ถึงครึ่งที่มีรายได้เพียงพอและมีเงินเก็บเพียงพอ แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเจเนอเรชั่น เบบี้บูมเมอร์ดูจะเข้มแข็งทางการเงินมากกว่ากลุ่มเจเนอเรชั่นอื่น แต่ยังมีอีกมากกว่าครึ่งที่มีปัญหาด้านการเงิน รวมถึงเจเนอเรชันวายและเอ็กซ์เช่นกัน แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอด้านวินัยการออมเงินของคนทุกเจเนอเรชัน
ความปลอดภัยเรื่องเงินในภาวะวิกฤต
ในภาวะวิกฤตโควิด-19 เรื่องเงินคือปัญหาที่คนทำงานทุกคนต้องการความช่วยเหลือ การสำรวจเร่งด่วนนี้ แสดงชัดเจนว่า ร้อยละ 36 ของผู้ตอบแบบสำรวจทุกเจเนอเรชันได้รับผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด และ เจเนอเรชันวายต้องการความช่วยเหลือด้านการเงินมากกว่าเจเนอเรชันอื่น
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับคนทุกเจเนอเรชัน และ “เรื่องเงิน” ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับทุกคน สำหรับประเทศไทยที่เป็นสังคมสูงอายุ ข้อมูลเผยแพร่และส่งเสริมเรื่องการเตรียมพร้อมเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณพบได้ตามสื่อและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้ขึ้นมาอย่างกระทันหัน จึงเห็นได้ว่าการวางแผนการเงินเมื่อเกิดวิกฤตเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ
สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2563 ประเมินว่าจะมีแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบถึง 1.5 ล้านคน จากแรงงาน 5.9 ล้านคนในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราว 570 แห่ง ยังไม่นับรวมเด็กที่เพิ่งจบการศึกษาและกำลังหางานทำที่จะประสบปัญหาว่างงานในอนาคต สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือคนทำงานในทุกเจนเนอเรชัน กระทรวงแรงงานจะต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการหามาตรการสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้คนทำงาน อย่างน้อย 1.5 ล้านคนในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ จะต้องมีงานทำ มีรายได้ ก่อนที่ปัญหาเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ปัญหาครอบครัว และ ปัญหาสังคม ที่สำคัญคือกระทบด้านจิตใจ ความวิตกกังวลที่จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม และความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต ทั้งในกลุ่มเสี่ยงที่จะตกงานและกลุ่มใหม่ที่กำลังหางานทำ ครอบครัวไทยในระยะหลังวิกฤตโควิด-19 คือครอบครัววิถีชีวิตใหม่ ทบทวนปรับพฤติกรรมใหม่ สร้างวินัยทางการเงินของครอบครัว ปรับพฤติกรรมใช้จ่ายเงิน เพิ่มการออมเงิน และความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนโยบายส่งเสริมมาตรการจ้างงาน ส่งเสริมทักษะการทำงาน และสร้างวินัยทางการเงิน เพื่อสร้างครอบครัวไทยเข้มแข็ง
|
ภาพปกโดย Image by mohamed Hassan from Pixabay