คอลัมน์สถิติน่ารู้เมื่อ 2 ฉบับก่อนได้เสนอให้ผู้อ่านทราบแล้วว่า ผู้หญิงไทยครองโสดถาวรมากกว่าผู้ชายมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา และหญิง-ชาย ชาว กทม. ครองโสดถาวรมากกว่าคนในภาคอื่นๆ มาโดยตลอดเช่นกัน โดยได้มีการให้คำจำกัดความของ “ครองโสดถาวร” ว่าหมายถึงการที่หญิงหรือชายเมื่ออายุ 50 ปี แล้วยังไม่แต่งงาน สำหรับฉบับนี้ จะแสดงการเปรียบเทียบการครองโสดถาวรระหว่างผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและชนบท
ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2513 – 2543 จำแนกตามเขตที่อยู่อาศัย แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มการครองโสดถาวรของหญิงและชาย ทั้งในเขตเมืองและชนบทต่างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ. 2513มีหญิงและชายในเมืองครองโสดถาวรอยู่ร้อยละ 4.2 และ 3.9 ตามลำดับ แต่เมื่อถึงปี พ.ศ. 2543 พบว่าผู้หญิงในเมืองครองโสดถาวรเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 10.7 ในขณะที่ผู้ชายในเมืองครองโสดถาวรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.3 เท่านั้น สำหรับในเขตชนบท เมื่อปี พ.ศ. 2513 มีหญิงและชายครองโสดถาวรอยู่ร้อยละ 2.3 และ 1.6 ตามลำดับ การครองโสดถาวรนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.6 สำหรับหญิง และ 2.6 สำหรับชายในปี พ.ศ. 2543
จากตัวเลขดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าทั้งหญิงและชายไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบทต่างมีแนวโน้มที่จะครองโสดถาวรเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โดยที่ผู้หญิงในเขตเมืองจะเป็นกลุ่มเดียวที่อัตราครองโสดถาวรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ