The Prachakorn

คลื่นกระทบฝั่ง


ปราโมทย์ ประสาทกุล

450



วัน เวลาผ่านไปราวติดปีกบิน บัดนี้ (ตุลาคม 2552) ?กาลปักษี? ก็ได้โผผินสู่ช่วง 3 เดือน สุดท้ายของปีแล้ว เสียงเพลงลอยกระทง ?จันทร์เพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง? ในวันกลางเดือนพฤศจิกายน และเพลง ?สวัสดีปีใหม่แล้ว ผองไทยจงแคล้วปวงภัย ? ? ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ดังแว่วแผ่วมา

สิ้นปีนี้ เพื่อน ๆ ของผม ทั้งที่เรียนชั้นมัธยมที่เทพศิรินทร์ และที่เรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาด้วยกัน ก็จะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุกันหมดทุกคนแล้ว แทบไม่น่าเชื่อ เมื่อ 40 กว่าปีก่อน เรายังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ตัดผมสั้น นุ่งกางเกงขาสั้น หิ้วกระเป๋าหนังสือไปโรงเรียน แล้วต่อมาผมและเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันก็เป็น ?หนุ่มเหน้า สาวสวย? ใช้ชีวิตสดใสของวัยรุ่นอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย

บ่อยครั้งที่ผมเห็นเด็กในชุดนักเรียน เห็นนิสิตนักศึกษาหนุ่ม ๆ สาว ๆ แล้วก็อดคิดถึงอดีต หวนรำลึกถึงชีวิตเมื่อเยาว์วัยไม่ได้ ถึงวันนี้ ผมรู้แล้วว่าวันเวลา 60 ปีนั้น ไม่นานเลย

คลื่นประชากร

จากวัยเด็ก วัยหนุ่มสาวเมื่อวันก่อน วันนี้คนรุ่นผมมีอายุผ่านหลัก 60 ปี จึงเรียกได้ว่าเป็นผู้สูงอายุแล้วตามเกณฑ์ของประเทศไทย แม้จะยังเป็นเหมือนเด็กในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่อีกไม่นานคนรุ่นผมก็จะมีอายุมากขึ้น กลายเป็นผู้อาวุโสในหมู่ผู้สูงอายุด้วยกัน อีก 40 ปีข้างหน้าคนเกิดรุ่นเดียวกับผมบางคนอาจจะมีโอกาสเป็น ?ศตวรรษิกชน? กับเขาบ้าง

เมื่อคิดถึงอดีตตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ดูตัวเองที่เป็นผู้สูงอายุในวันนี้ แล้วก็นึกจินตนาการเห็นคลื่นของคนรุ่นต่าง ๆ ที่ทะยอยเป็นระลอกเคลื่อนไปตามกาลเวลา เริ่มก่อตัวเป็นคลื่นตั้งแต่เกิด เป็นทารก เด็ก เคลื่อนเข้าสู่วัยรุ่น เติบโตเป็นหนุ่มสาว แล้วก้าวเข้าสู่วัยทำงาน 60 ปีผ่านไป ถ้ายังมีชีวิตอยู่ คลื่นของคนรุ่นนั้นก็เข้าสู่วัยสูงอายุ คลื่นของคนรุ่นเดียวกันนี้จะค่อย ๆ เล็กลงเมื่ออายุสูงขึ้น และในที่สุด เมื่อหมด ?อายุขัย? ของมนุษย์ ซึ่งยาวนานประมาณ 100 ปี คลื่นลูกนั้นก็เกือบจะสูญสลายไปทั้งหมด อาจจะเหลือคนที่มีอายุเกิน 100 ปี อยู่อีกไม่กี่คน แต่ในที่สุดคลื่นของคนรุ่นนั้นก็จะสูญสลายไปจนหมดสิ้น

ผมลองไปดูสถิติการจดทะเบียนเกิดของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2481 เป็นต้นมา ในช่วงปี พ.ศ.2491 ? 95 มีเด็กเกิดที่มาจดทะเบียนเฉลี่ยปีละ 516,403 คน แล้วผมไปดู ?ตารางชีพ? ก็พอจะประมาณได้ว่าคนเกิดรุ่นเดียวกัน ถ้าเป็นผู้ชายก็จะมีชีวิตรอดอยู่จนอายุ 60 ปี ประมาณ 75% และถ้าเป็นผู้หญิงจะเหลืออยู่ประมาณ 85% เมื่อเฉลี่ยทั้งผู้ชายผู้หญิงแล้ว คนเกิดรุ่นเดียวกันจะมีชีวิตเหลือรอดจนอายุถึง 60 ปี ประมาณ 80%

ดังนั้น คลื่นของคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2491 ? 95 ประมาณปีละ 5 แสนกว่าคนนั้นจะเคลื่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ในอีก 60 ปีต่อมา คือในช่วงปี พ.ศ.2551 ? 2555 ปีละประมาณ 4 แสนคน นึกภาพออกไหมครับ ? ปัจจุบันนี้กลุ่มประชากรสูงอายุจะได้สมาชิกใหม่ปีละ 4 แสนคน

คลื่นประชากรที่เคลื่อนเข้าสู่วัยสูงอายุจะยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก

ย้อนหลังไปในอดีต ตั้งแต่ พ.ศ.2491 เป็นต้นมา จำนวนเด็กเกิดแต่ละปีในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 4 แสน 3 หมื่นคนใน พ.ศ.2491 เป็น 5 แสน 7 หมื่นคนใน พ.ศ.2495 เป็น 7 แสน 8 หมื่นคนใน พ.ศ.2500 และได้เพิ่มขึ้นถึงหลักล้านในปี พ.ศ.2506 ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดปีละเกินล้านคนอยู่นานถึง 20 ปี จนถึงปี พ.ศ.2527 จึงได้ลดต่ำลงกว่าหลักล้าน ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.2506 ถึง 2526 ที่มีเด็กเกิดปีละเกินกว่าล้านคนนี้ บางปี จำนวนเกิดเพิ่มสูงขึ้นเกินหนึ่งล้าน 2 แสนคน เช่น ใน พ.ศ.2511 (1,200,131) และ พ.ศ.2514 (1,221,228)

ผมให้ตัวเลขเด็กเกิดมาเสียมากมาย เพียงต้องการจะบอกว่า เด็กที่เกิดในแต่ละปีเหล่านี้แหละ เปรียบเสมือนเป็น ?คลื่นประชากร? ที่เคลื่อนตัวไปตามกาลเวลา เมื่อเวลานับตั้งแต่เกิดผ่านไป 60 ปี คลื่นประชากรลูกนี้ก็จะเคลื่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งผมได้ประมาณไว้แล้วว่า 80% ของเด็กที่เกิดแต่ละปี จะ มีชีวิตเหลือรอดอยู่จนเป็นผู้สูงอายุ

เมื่อจำนวนเด็กเกิดในอดีตตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 เป็นต้นมา เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีก 60 ปีต่อมา จำนวนคนที่จะทะยอยเข้าสู่วัยสูงอายุ ตั้งแต่ พ.ศ.2551 เป็นต้นไปก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน

ผมทำตารางสรุปไว้ให้ดูว่าเด็กเกิดในช่วง พ.ศ.ใด เป็นจำนวนเฉลี่ยปีละเท่าไร แล้วเด็กเกิดในช่วงนั้น จะมีอายุถึง 60 ปี หรือเข้าสู่วัยสูงอายุในช่วง พ.ศ.ใด เป็นจำนวนเฉลี่ยปีละเท่าไร จากตารางนี้ ผมขอเชิญชวนให้ดูตัวเลขคลื่นประชากรที่จะเคลื่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ในอีก 10 ? 20 ปีข้างหน้านี้

ปีนี้มีประชากรอายุครบ 60 ปี ประมาณ 4 แสนกว่าคน แต่ช่วง พ.ศ.2556 ? 60 จะมีประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุประมาณปีละเกือบ 6 แสนคน แล้วก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก ช่วง พ.ศ.2561-65 เพิ่มเป็นปีละเกือบ 8 แสนคน ตั้งแต่ พ.ศ.2566 เป็นต้นไป จะมีประชากรอายุครบ 60 ปี ประมาณปีละ 9 แสน กว่าคน เป็นคลื่นประชากรสูงอายุที่ใหญ่มากนะครับ (เรียกว่าเป็นน้อง ๆ สึนามิ ได้เลยนะครับ)

คลื่นประชากร

คนรุ่นเกิด พ.ศ. เฉลี่ยปีละ มีอายุ 60 ปี พ.ศ. เฉลี่ยปีละ*
2491-2495 516,000 2551-2555 413,000
2496-2500 707,000 2556-2560 566,000
2501-2505 891,000 2561-2565 757,000
2506-2510 1,092,000 2566-2570 928,000
2511-2515 1,178,000 2571-2575 942,000
2516-2520 1,146,000 2576-2580 917,000
2521-2525 1,066,000 2581-2585 853,000
2526-2530 959,000 2586-2590 767,000
2431-2535 981,000 2591-2595 785,000
2536-2540 949,000 2596-2600 760,000
2441-2545 792,000 2601-2605 634,000
2446-2550 805,000 2606-2610 644,000
2551 797,000 2661 638,000

* สมมุติว่าคนที่เกิดปีเดียวกัน จะมีชีวิตรอดอยู่จนอายุถึง 60 ปี 80%

ต่อไปนี้ ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก

คงจะพอมองเห็นภาพแล้วนะครับ ว่าคลื่นประชากรที่กำลังทะยอยเข้าสู่วัยสูงอายุในแต่ละปี กำลังมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จาก 4 แสนกว่าคนในช่วง 4 ? 5 ปีนี้จนเป็น 9 แสนกว่าคนในอีก 10 กว่าปีข้างหน้า ในขณะที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปตายปีละ 2-3 แสนคนเท่านั้น คนตายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในปัจจุบันมีประมาณ 60% ของการตายทั้งหมด อย่างในปี พ.ศ.2551 มีคนตายทั้งหมดประมาณ 4 แสนราย เป็นผู้สูงอายุที่ตายประมาณ 2 แสน 4 หมื่นราย ปีต่อ ๆ ไป แม้จะมีผู้สูงอายุตายเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะเกิน 3 แสนรายไปมากนัก อีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อมีประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุปีละ 8 แสนคน แต่มีผู้สูงอายุตายไปปีละ 3 แสนกว่าคน ก็เท่ากับมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นถึงปีละ 5 แสนคน

วันนี้เขียนตัวเลขมามากแล้ว ก็ขออนุญาตเขียนตัวเลขต่อไปอีกสักนิดนะครับ ใน พ.ศ.2552 นี้ เราคาดประมาณว่ามีประชากรสูงอายุอยู่ราว 7 ล้านคน คิดเป็น 11% ของประชากรทั้งหมด อีก 10 ปีข้างหน้า ใน พ.ศ.2562 ประชากรสูงอายุจะเพิ่มเป็น 11 ล้านคน หรือคิดเป็น 16% ของประชากรทั้งหมด คิดคร่าว ๆ ในช่วงเวลา 10 ปีต่อนี้ไปประชากรสูงอายุจะเพิ่มเฉลี่ยปีละ 4.5% ในขณะที่จำนวนประชากรทั้งหมดค่อนข้างคงตัวอยู่ที่ประมาณ 64-65 ล้านคน คือเกือบไม่เพิ่มขึ้นเลย แต่ประชากรสูงอายุกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก

ประชากรวัยต่าง ๆ พ.ศ.2552


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th