The Prachakorn

ด้วยรักและโรคระบาด


ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

07 ธันวาคม 2563
934



ปีนี้เป็นปีที่วิถีชีวิตของมนุษย์สะดุดไปในแทบจะทุก ๆ ทาง ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเชื่องช้าเพราะการมาของไวรัส ด้านหนึ่งที่น่าสนใจคือ การแพร่ระบาดของไวรัสส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และครอบครัวในหลายมิติ โควิด-19 ทำให้ “คนที่รักกัน” ต้องแยกห่างจากกัน ในอีกด้านก็เป็นสถานการณ์ที่บังคับให้ “คนแล้งรัก” ต้องอยู่ด้วยกันอีกด้วย 

คู่รักที่พลัดพราก

ผลกระทบแรก ๆ ของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คือการจำกัดการเดินทางข้ามประเทศ ในยุคที่การคมนาคมกำลังรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ประชาชนเคยชินกับการเดินทางไกลทั้งทางรถ เรือ และเครื่องบิน การโดยสารโดยเครื่องบินในยุคนี้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันราคาค่าโดยสารก็ถูกลงเป็นอย่างมาก การเดินทางที่ถูกลงและสะดวกสบายนั้นทำให้คู่รักข้ามชาติหลายคู่ สามารถใช้ชีวิตแบบยืดหยุ่นได้ กล่าวคือ สามารถมีความสัมพันธ์แบบไม่อยู่ติดที่ มีการไปมาหาสู่ของคู่รักโดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่มีการวางแผนเพื่อเดินทางพบปะกันเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะต้องทำงาน หรือดูแลครอบครัวในอีกประเทศหนึ่ง เป็นต้น 


ที่มา : https://www.oprahmag.com/life/relationships-love/a27628635/long-distance-relationship-tips/

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของโรคระบาดทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง ในช่วงแรกที่การระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมากในต่างประเทศ ในเดือนมีนาคม 2563 สำนักการบินพลเรือน (กพท.) ได้มีการประกาศห้ามเที่ยวบินพาณิชย์เข้าประเทศไทย นอกจากนั้นรัฐบาลไทยยังได้ออกมาตรการให้คนไทยที่อยู่ต่างประเทศต้องขอใบรับรองการเดินทางจากสถานทูตและใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง หรือ Fit to Fly Health Certificate ที่มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง เพื่อใช้ประกอบในการเข้าประเทศ ซึ่งในช่วงแรกก็มีความวุ่นวายอยู่พอสมควร เนื่องจากการให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน และกรอบเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป คนไทยในต่างประเทศบางส่วนได้ให้ความเห็นว่าการขออนุญาต Fit to Fly นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงและอาจจะไม่สามารถรับรองได้ว่าคนนั้นไม่ติดเชื้อ เพราะเชื้อมีการฟักตัวถึง 14 วัน แต่ Fit to Fly ต้องมีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงเท่านั้น และเนื่องจากมีการจำกัดเที่ยวบินพาณิชย์เข้าประเทศ ทำให้คนไทยในต่างประเทศต้องเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อจองตั๋วกลับประเทศตนเอง บางคนกลับบ้านไม่ทันเพื่อที่จะดูใจคนในครอบครัวที่กำลังจะเสียชีวิต และบางรายถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าเพราะไม่ได้กลับประเทศไทยและคิดถึงคนทางบ้าน1 

ทั้งการปิดน่านฟ้าและความเข้มงวดต่อคนไทยที่ประสงค์จะกลับประเทศ ทำให้คู่รักข้ามชาติหลายคู่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่รักที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หญิงไทยรายหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC Thai ว่าเธออาจจะต้องคลอดลูกคนเดียวเนื่องจากคู่ของเธอเป็นชาวต่างชาติ ทั้งคู่วางแผนที่จะจดทะเบียนสมรสกัน แฟนหนุ่มชาวไต้หวันของเธอไม่มีวีซ่าติดตามคู่สมรส หรือวีซ่าประเภท Non-Immigrant “O”2  จึงไม่สามารถเข้าประเทศในฐานะคู่สมรสได้ คนไทยที่มีคู่รักชาวต่างชาติได้ร่วมกันรณรงค์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Love is not tourism Thailand3  เพื่อเคลื่อนไหวให้รัฐบาลอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เป็นคนรักของคนไทยสามารถขอวีซ่าและเข้ามายังประเทศไทยได้ด้วยเหตุผลเชิงมนุษยธรรม

รักร้าวเพราะโควิด

ในขณะที่คู่รักข้ามชาติกำลังเรียกร้องหาทางเพื่อให้ได้พบหน้ากับคนรัก ในอีกด้านหนึ่งคู่รักจำนวนหนึ่งกลับตัดสินใจตัดสายสัมพันธ์ในช่วงโควิด มาตรการกักตัวและมาตรการปิดเมืองในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้คู่รักได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมากขึ้น หรือเรียกได้ว่าตลอดเวลา ทำให้รู้ถึงธาตุแท้ของกันและกัน บางคู่ถึงกับทนไม่ได้ที่จะต้องอยู่กับคู่สมรสตลอดเวลาจนนำไปสู่การหย่าร้างกัน บางฝ่ายมองว่าโรคระบาดทำให้คนในครอบครัวมีความตึงเครียดมากขึ้น แต่บางฝ่ายกล่าวว่าโรคระบาดเป็นการเปิดแผลในความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้วมากกว่า 

จากการรายงานของ BBC4   พบว่า คู่รักจำนวนมากทั่วโลกต้องการจะหย่าขาดจากกันในช่วงล็อกดาวน์ ความกดดันกับวีถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป การแบ่งภาระในการดูแลบ้าน การดูแลลูก การทำงานที่บ้าน ทำให้คนในครอบครัวเกิดความเครียดมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงจะมีความเครียดและกดดันมากกว่าผู้ชาย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการนอกใจกันของคู่รักในช่วงกักตัว จนนำไปสู่การแตกหักกันอีกด้วย ในเมืองซีอานของประเทศจีน มีรายงานว่าหลังจากการระบาดของโควิด คู่สมรสชาวจีนได้พากันไปจดทะเบียนหย่าเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ5  ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียก็เช่นเดียวกัน ศาลครอบครัวเมืองบันดุงรายงานว่า ในช่วงปกติมีการจดทะเบียนหย่าประมาณ 15 คู่ต่อวัน แต่หลังจากที่ศาลได้เปิดทำการหลังจากปิดมานานเนื่องจากการระบาดของโควิดกลับพบว่ามีผู้มาเข้าคิวขอจดทะเบียนหย่าเพิ่มมากขึ้นถึง 150 คู่ต่อวันเลยทีเดียว6 

 
ที่มา: https://cooperativetherapy.com/fighting-couples-what-starts-the-fights/

Kate Moyle นักจิตบำบัดแนะนำว่า การอยู่ด้วยกันในช่วงกักตัวอาจทำให้เราหงุดหงิดกับการกระทำของอีกฝ่ายได้ง่ายขึ้น คู่รักควรสื่อสารถึงความรู้สึกของตัวเอง แทนที่จะกล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่ง ให้สื่อสารออกไปว่าตนเองรู้สึกอย่างไรกับการกระทำของอีกฝ่าย นอกจากนั้นสมาชิกในครอบครัวควรจะมีเวลาเป็นของตนเอง 

การใช้เวลาด้วยกันตลอดเวลา อาจไม่ใช่เวลาที่มีคุณภาพเสมอไป และช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับคนที่เพิ่งเลิกราจากคนรัก ควรจะขอความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือเพื่อน และควรฝึกดูแลตนเอง หากิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุขหรือสบายใจ7 


อ้างอิง

  1. Suwanthawit, P. (6 สิงหาคม 2563). เมื่อรัฐไทยกีดกันคนไทย : จากปัญหามาตรการการขอ Fit To Fly และอาการคลั่งเลข 0 ของ ศบค. The Matter. เข้าถึงได้จาก https://thematter.co/social/when-government-decline-thai-people-in-fit-to-fly/119426?fbclid=IwAR0sl_-xqWdZ4c74w9puuqMureXodPjny6mqH8ZJ6cHmp-sYG_pIc6HTd9Y
  2. ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล. (12 สิงหาคม 2020). วันแม่ : สกัดโควิด-19 ปิดน่านฟ้า พาคนรักพลัดพรากยามคับขัน. BBC Thai. Retrieved from  https://www.bbc.com/thai/thailand-3739525?fbclid=IwAR2XHhozJnVJv4i21UhjhdmuSaUde_LWJexRbZxmmQpzVx50PGH_bGdpS9s
  3. https://www.facebook.com/loveisnottourismTH
  4. Ailes, E. (3 December 2020). 'Covid ended our marriage': The couples who split in the pandemic. BBC News. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-55146909
  5. พสุ เดชะรินทร์. (8 เมษายน 2563). เมื่ออัตราหย่าร้างเพิ่มขึ้น ภายหลัง 'โควิด-19'!. กรุงเทพธุรกิจ. เข้าถึงได้จากhttps://www.bangkokbiznews.com/news/detail/874965
  6. Amarin News. (27 สิงหาคม 2563). โควิดทำพิษ! คู่รักอินโดนีเซีย แห่จดทะเบียนหย่า. เข้าถึงได้จากhttps://www.amarintv.com/news/detail/43941
  7. Ailes, E. (3 December 2020). 'Covid ended our marriage': The couples who split in the pandemic. BBC News. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-55146909
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

คนไทยไม่เคยทิ้งกัน

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th