ผู้สูงวัยรุ่นใหม่ อัตคัดหลาน
ผมลองคิดเปรียบเทียบการมีลูกมีหลานของตัวเองกับของคนรุ่นพ่อแม่ แล้วก็เห็นชัดเจนว่าสถานการณ์ระหว่างคนสองรุ่นนี้ช่างแตกต่างกันมากจริงๆ เมื่อพ่อแม่ของผมอายุ 60 กว่าปีนั้น ท่านมีสถานะเป็นพ่อแม่ของลูก 4 คน และเป็นปู่ย่าตายายของหลาน 8 คนแล้ว
มาถึงตัวผมเอง เมื่ออายุ 60 กว่าปีในขณะนี้ แม้จะมีลูก 4 คนเท่ากับพ่อแม่ แต่ผมไม่มีหลานเลยสักคน และดูเหมือนไม่มีวี่แววว่าจะมีหลานสักคนในอนาคตอันใกล้
เพื่อนๆ รุ่นเดียวกับผมก็อยู่ในสถานการณ์ที่อัตคัดหลานเช่นเดียวกัน ไม่นับเพื่อนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเพื่อนหญิงที่ครองโสดถาวร ไม่ยอมแต่งงาน จึงไม่มีแม้แต่ลูก เพื่อนหลายคนมีลูก แต่ลูกๆ ก็ไม่ยอมแต่งงาน สำหรับเพื่อนที่ลูกๆ แต่งงานไปแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสได้เลี้ยงหลานมากที่สุด แต่หลายคนในกลุ่มนี้ ก็ยังบ่นว่าลูกๆ ไม่ยอมมีหลาน หรือถ้ามี ก็มีน้อยเกินไป ไม่สะใจคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายเอาเสียเลย
เด็กไทยเกิดน้อยลง
ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีประชากรที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย ประมาณ 63 ล้านกว่าคน ยังมีประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีหลักฐาน เช่น แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่เข้าเมืองอย่างไม่ถูกต้องอีกเป็นจำนวนมาก (อาจมากถึง 3-4 ล้านคนก็เป็นได้)
ในแต่ละปี จะมีการเกิดที่มาจดทะเบียนประมาณ 8 แสนคน เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนเด็กเกิดในประเทศไทยได้ลดน้อยลงอย่างมากในรอบ 50 ปีที่ผ่านมานี้ ในช่วง 20 ปีระหว่างปี พ.ศ.2506 ถึง 2526 มีเด็กเกิดปีละเกินกว่าหนึ่งล้านคน (ที่ผมเรียกว่า “ คนรุ่นเกิดล้าน ” ) บางปีตัวเลขสูงขึ้นไปถึง 1.2 ล้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 เป็นต้นมา เด็กเกิดในประเทศไทยมีจำนวนค่อยๆ ลดลง ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนในแต่ละปี ตัวเลขล่าสุดในปี พ.ศ.2551 มีเด็กเกิดเพียง 797 ,356 ราย น้อยกว่า 8 แสนคนแล้ว
สถิติประชากรให้ตัวเลขที่น่าตกใจ เมื่อ 50 ปีก่อน ผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีลูกเฉลี่ยตลอดวัยเจริญพันธุ์ของตนประมาณ 5-6 คน แต่ทุกวันนี้ผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีลูกโดยเฉลี่ยเพียง 1.5 คนเท่านั้น น้อยกว่าเมื่อก่อนถึง 4 เท่าตัว
เด็กเกิดน้อยลงเป็นแนวโน้มทั่วโลก
ดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์ประชากรที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ที่การเกิดมีแนวโน้มจะลดลง บางประเทศ เช่น ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป การเกิดได้ลดลงมานานแล้ว บางประเทศการเกิดเพิ่งจะลดลงเมื่อไม่นานมานี้ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย แม้จะมีอัตราเกิดที่ยังสูงอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะลดลงในอนาคตอันใกล้
เดี๋ยวนี้ ประเทศที่มีภาวะเจริญพันธุ์ หรือการเกิดลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ ผู้หญิงจะมีลูกตลอดวัยเจริญพันธุ์ของตน เฉลี่ยต่ำกว่า 2 คน เรียกว่าเป็น “ ภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทน ” หมายถึงว่า ผู้หญิงคนหนึ่งมีลูกเฉลี่ยน้อยกว่า 2 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่พอที่จะทดแทนพ่อและแม่ ประเทศในเอเชียหลายประเทศ มีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทนแล้ว ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน รวมทั้งประเทศไทย มีอัตราเจริญพันธุ์รวม หรือจำนวนลูกที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ต่ำกว่า 1.5 คน บางประเทศกำลังเป็นกังวลว่าประเทศของตนกำลังมีเด็กเกิดน้อยเกินไป จนในที่สุดแล้วจะทำให้ประชากรลดลงได้
หลายประเทศที่มีอัตราเกิดต่ำมากๆ มีนโยบายและมาตรการส่งเสริมให้มีการเกิดเพิ่มมากขึ้น เช่น สิงคโปร์มีมาตรการหลายอย่าง ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่จับคู่แต่งงานกัน หนุ่มสาวชาวสิงคโปร์คงมุ่งอยู่กับการทำงาน จนขาดโอกาสในการพบคู่ รัฐบาลจึงริเริ่มโครงการให้หญิงชายได้พบปะกัน เมื่อแต่งงานแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ก็ส่งเสริมให้มีลูก ให้แรงจูงใจแก่คู่แต่งงานที่จะมีลูกด้วยมาตรการด้านภาษี ที่อยู่อาศัย และสวัสดิการช่วยดูแลเด็กเล็ก
ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นอีกสองประเทศที่แสดงความกังวลอย่างมากกับการที่ประชากรในประเทศของตนมีลูกกันน้อยเกินไป ทั้งสองประเทศประกาศนโยบายส่งเสริมให้คนมีลูกกันมากขึ้นอย่างประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 127 ล้านคน อัตราเกิดของชาวญี่ปุ่นต่ำมาก จนถึงวันนี้ อัตราเพิ่มประชากรได้เริ่มติดลบแล้ว หมายความว่าประชากรญี่ปุ่นกำลังลดจำนวนลง อีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรญี่ปุ่นอาจจะลดลงเหลือ 123-124 ล้านคน
ประเทศไทยควรมีนโยบายส่งเสริมการเกิดหรือไม่
มีแนวโน้มว่าจำนวนลูกโดยเฉลี่ยของสตรีไทยจะยิ่งลดน้อยลงไปอีก จนอาจเหลือเพียง 1.2-1.3 คน ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันในปัจจุบัน เมื่อดูแนวโน้มจำนวนเกิดที่ลดลงมาเรื่อยๆ แล้ว ก็ค่อนข้างแน่ชัดว่า เด็กเกิดในแต่ละปีจะยิ่งลดลงไปอีก โดยเฉพาะในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เมื่อ “ คนรุ่นเกิดล้าน ” (เกิดปี พ.ศ.2506-2526) มีอายุเกินกว่า 30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นอายุที่ผู้หญิงจะไม่ค่อยมีลูกกันแล้ว เราอาจจะได้เห็นสถิติว่า มีเด็กเกิดในประเทศไทยเพียงปีละราว 7 แสนคน ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตที่นานออกไปอีก ก็เป็นไปได้มากทีเดียวที่จำนวนเด็กเกิดในประเทศไทยจะลดลงเหลือน้อยกว่า 7 แสนคนต่อปี
มีคำถามเกิดขึ้นว่า เมื่อเด็กเกิดน้อยลงอย่างนี้ ประเทศไทยควรจะมีนโยบายส่งเสริมการเกิดหรือยัง นโยบายส่งเสริมการเกิด เป็นนโยบายที่มีทิศทางตรงกันข้ามกับนโยบายคุมกำเนิด หรือโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติของประเทศไทย ที่เริ่มขึ้นพร้อมกับนโยบายประชากรของประเทศที่ประกาศมาตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2513 ขณะนั้น อัตราเกิดของประเทศสูงมาก จึงต้องส่งเสริมให้คู่สมรสชาวไทยวางแผนครอบครัวหรือใช้วิธีคุมกำเนิดเพื่อให้อัตราเกิดลดต่ำลง อันจะส่งผลให้อัตราเพิ่มประชากรของประเทศชะลอช้าลงด้วย มาถึงวันนี้ เราควรหันหลังกลับไปส่งเสริมการเกิดกระนั้นหรือ
เด็กเกิดน้อยเพราะอะไร
ก่อนที่จะตอบคำถามสำคัญว่า ประเทศไทยควรมีนโยบายส่งเสริมการเกิดหรือยัง เราควรดูสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยเกิดน้อยลงเสียก่อน ผมคิดว่าเด็กเกิดน้อยมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ประการแรก คนไทยรุ่นใหม่จับคู่แต่งงานกันน้อยลง และประการที่สอง คนที่แต่งงานแล้วไม่อยากมีลูกกันมากนัก
ในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมานี้ คนไทยรุ่นใหม่แต่งงานกันน้อยลงจริงๆ ลองสังเกตคนใกล้ตัวของพวกเราดูเถิด ทั้งผู้หญิงผู้ชายอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะผู้หญิงมีสถานภาพสูงขึ้น เพราะได้รับการศึกษาสูงขึ้น ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน ในที่ทำงานต่างๆ ผู้หญิงมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ผู้หญิงรุ่นใหม่จึงมุ่งไปที่การทำงาน จนบางครั้งให้ความสนใจกับการหาคู่แต่งงานน้อยลง บางครั้ง อิสรเสรีที่ได้จากการอยู่เป็นโสดก็ดูมีคุณค่ามากสำหรับสตรีรุ่นใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น สภาพการทำงานในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เร่งให้คนทำงานทั้งหญิงและชายมุ่งทำแต่งาน ก็ทำให้โอกาสที่จะพบปะจับคู่แต่งงานกันน้อยลง ระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตในสังคมสมัยใหม่นี่เอง ที่ทำให้คนไทยรุ่นใหม่ลดคุณค่าของการแต่งงานลง และให้ความสำคัญแก่อิสรเสรีจากการอยู่เป็นโสดมากขึ้น
สาเหตุประการที่สอง ที่ทำให้การเกิดในประเทศไทยลดจำนวนลงคือ คู่สมรสรุ่นใหม่ต้องการมีลูกกันน้อยลง เดี๋ยวนี้คงหาได้ยากแล้ว ที่จะมีใครบอกว่า แต่งงานแล้วจะมีลูกให้เต็มบ้าน มีหลานให้เต็มเมือง บางคู่มีลูกโทนเพียงคนเดียวก็พอแล้ว คู่สมรสสมัยใหม่จำนวนไม่น้อย ที่แต่งงานเพียงเพื่อได้อยู่เป็นเพื่อนกัน ไม่ต้องการจะมีลูกให้เป็นภาระใดๆ นอกจากความปรารถนาที่จะมีลูกน้อยลงแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ ก็อาจมีอิทธิพลทำให้คู่สมรสจำนวนไม่น้อยเกิดภาวะมีบุตรยาก การมุ่งทำงานมากไป หรือสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เคร่งเครียด อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คู่สมรสหลายคู่มีบุตรยากหรือไม่สามารถมีบุตรได้เลย
ดังนั้น ถ้าจะทำให้คนมีลูกกันมากขึ้น ก็จะต้องแก้กันที่สาเหตุ ทำอย่างไรจะให้คนหนุ่มสาวจับคู่แต่งงานกันมากขึ้น ทำอย่างไรจึงจะให้คนที่แต่งงานแล้วอยากมีลูกกันมากขึ้น
การสร้างโอกาสให้หญิงชายได้พบกัน เพื่อช่วยให้หญิงชายได้พบคู่แต่งงาน อาจช่วยให้มีคู่สมรสเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่น่าจะมากนัก เพราะสาเหตุที่แท้จริงที่คนไม่ยอมแต่งงาน คือคุณค่าของการแต่งงานที่ลดน้อยลง เพราะถูกคุณค่าของอิสรเสรีภาพ และผลประโยชน์จากการมุ่งทำแต่งานมาบดบัง การตัดสินใจที่จะแต่งงานเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับคู่ที่แต่งงานแล้ว ทำอย่างไรให้พวกเขาอยากมีลูกกันมากขึ้น แต่ก็คงไม่ง่ายนักที่จะให้คู่แต่งงานมีลูกมากๆ ถึง 4-5 คนเหมือนในอดีต เดี๋ยวนี้ครอบครัวหนึ่งมีลูก 2 คน ก็ดูเหมือนจะเป็นครอบครัวในอุดมคติแล้ว หลายประเทศจัดสวัสดิการให้คู่สมรสที่มีลูก เช่น มีศูนย์เลี้ยงดูเด็กเล็ก เพื่อผ่อนภาระของพ่อแม่ ให้สิทธิแก่ทั้งพ่อและแม่ในการลาหลังคลอดเป็นระยะเวลานานเป็นปีเพื่อดูแลลูก สวัสดิการทำนองนี้ ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้มากทีเดียว และอาจช่วยคู่สมรสได้มากในการมีลูกสักคนสองคน แต่ไม่น่าที่จะถึงขนาดเป็นแรงจูงใจให้คู่สมรสมีลูกเพิ่มมากขึ้น
มาส่งเสริมคุณภาพของการเกิดกันดีกว่า
ภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงไปแล้วเปรียบเสมือนสายน้ำที่ไม่ไหลกลับ เมื่อคนมีลูกน้อยลงแล้ว ก็ยากที่จะทำให้หวนกลับมามีลูกมากกันอีก อย่างประเทศไทยจำนวนเกิดได้ลดลง และมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อไปอีก เราไม่น่าจะที่จะไปกังวลมากนักเรื่องจำนวนเกิดที่ลดลงนั้น ต้องถือว่านั่นเป็นแนวโน้มที่ต้องเป็นไปอย่างนั้น เราควรกลับมาคิดกันถึงเรื่องคุณภาพของการเกิดจะดีกว่า ถึงเกิดน้อย แต่เป็นการเกิดที่มีคุณภาพ ย่อมดีกว่าเกิดมากขึ้น แต่ด้อยคุณภาพ
คุณภาพของการเกิดเป็นอย่างไร ถ้าการเกิดแต่ละรายเริ่มจากการตั้งครรภ์ที่พร้อม คือแม่มีสถานภาพที่พร้อม และตั้งใจที่จะท้อง ไม่ใช่ยังเป็นเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ท้องโดยไม่ตั้งใจ อาจเพราะโดนบังคับขืนใจ หรือไม่รู้จักใช้วิธีคุมกำเนิด เมื่อเริ่มด้วยการตั้งครรภ์ที่พร้อมและตั้งใจแล้ว ครรภ์นั้นต้องได้รับการดูแลอย่างดี ฝากครรภ์ไว้กับบุคลากรทางการแพทย์ แต่ละครรภ์ได้รับการทำนุบำรุง ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย และเมื่อถึงเวลาคลอด ก็ทำคลอดโดยบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข หลังจากนั้น ทารกที่คลอดออกมาทุกรายก็ได้รับการดูแลหลังคลอด ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ จนกระทั่งทารกและเด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นถึงวัยเรียน ก็เข้าสู่ระบบการศึกษาที่จะเสริมสร้างคุณภาพของเด็กเหล่านั้นในลำดับต่อไป
ในการนี้ หากรัฐจะริเริ่มโครงการจัดให้มีสิ่งจูงใจ เช่น ให้ของขวัญ เงินช่วยเหลือ หรือสวัสดิการอื่นใดที่ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกแก่การเกิดทุกรายจากการตั้งครรภ์ที่มารดาพร้อมและตั้งใจ เพื่อส่งเสริมให้การเกิดทุกรายในประเทศไทยมีคุณภาพแล้วละก็ จะเป็นเรื่องน่านำไปพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าการเกิดทุกรายในประเทศไทยมีคุณภาพ เราก็ไม่ต้องกังวลนักเกี่ยวกับจำนวนเกิด เราควรเน้นที่ประเด็นว่า จะทำอย่างไรจึงจะให้ “ การเกิดทุกรายในประเทศไทยมีคุณภาพ ” แล้วการเกิดที่มีคุณภาพก็จะเป็นต้นทุนพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศต่อไป