The Prachakorn

สังคมสูงวัยเปลี่ยน (ป่วน) โลก


ปราโมทย์ ประสาทกุล

19 กุมภาพันธ์ 2564
345



หลายวันมานี้ ผมรู้สึกอยากเขียนเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วทำให้โลกปั่นป่วน 3 เหตุการณ์  

โควิด 19 ป่วนโลก  

เหตุการณ์แรก คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ซึ่งก่อให้เกิดโรค “โควิด 19” ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับชาวโลกตั้งแต่ปลายปี 2562 มาจนถึงทุกวันนี้ วันที่ผมเขียนบทความนี้เมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 2564 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกไปแล้วถึง 90 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตด้วยพิษของไวรัสตัวนี้ไปแล้วเกือบ 2 ล้านคน  

เจ้าไวรัสวายร้ายจอมอำมหิตชนิดนี้ทำเอางานต้อนรับปีใหม่ 2564 ส่งท้ายปีเก่า 2563 ทั่วทั้งโลกกร่อยไปถนัด ที่เมืองไทย งานฉลองปีใหม่ปีนี้ต้องเงียบเหงา ไม่รื่นเริงสนุกสนานเหมือนปีก่อนๆ ผมจึงขอเรียกมันว่า “เจ้าโควิดป่วนโลก” (disruptive covid)  

ตลอดปี 2563 จนถึงวันนี้ โควิด 19 แสดงบทบาทตัวร้ายทำลายความสุขของชาวโลกไม่เลิก สำหรับคนไทย วิถีชีวิตปกติของพวกเราต้องเปลี่ยนไป พวกเราต้องใส่หน้ากากปิดบังใบหน้าเข้าหากัน ต้องพยายามอยู่ห่างๆ กันไว้ ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน บางคนหวาดระแวงเมื่อเห็นคนแปลกหน้าเหมือนคนเป็นโรคประสาท  

วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไปเพราะโควิด คนทำงานบางอาชีพเปลี่ยนสถานที่ทำงานจากสำนักงาน มาเป็นทำงาน จากบ้าน หลายกิจกรรมใช้การติดต่อกันทางออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน เดี๋ยวนี้ การประชุมปรึกษาหารือกัน การซื้อของ สั่งสินค้า หรือชอบปิงและอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง ก็กระทำด้วยวิธีออนไลน์เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด  

เทคโนโลยีป่วนโลก

ให้เป็นการบังเอิญว่าเมื่อโควิดแพร่ระบาดจนต้องหลีกเลี่ยงการติดต่อใกล้ชิด เทคโนโลยีบนโลกของเราก็ได้ก้าวหน้าไปแบบก้าวกระโดดในช่วงเวลา 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา การติดต่อกันด้วยระบบออนไลน์ที่เป็นไปได้อย่างสะดวกง่ายดายทุกวันนี้ก็เพราะมี “เทคโนโลยีป่วนโลก” (disruptive technology) กิจกรรมออนไลน์ทั้งหลายที่เป็นไปได้อย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดาเพราะความก้าวหน้าของระบบอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ เราได้เห็นยาน เคลื่อนที่ไปโดยไม่ต้องมีคนขับ เราได้เห็นเครื่องจักรกล และหุ่นยนต์ที่มีความสามารถเทียบเท่า (หรืออาจเหนือกว่า) มนุษย์  

ในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร ผมนึกถึงสมัยเมื่อยังเป็นเด็ก อยู่บ้านนอกที่ห่างไกลจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพียง  60 กิโลเมตร ทั้งหมู่บ้านไม่มีโทรศัพท์เลยสักเครื่อง เมื่อโตขึ้น เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ได้รู้จักเครื่องมหัศจรรย์ที่ใช้ส่งเสียงติดต่อกันทางไกล คือโทรศัพท์ (ตั้งโต๊ะและโยงสาย) ผมได้รับรู้ว่าเพื่อนๆ หลายคนที่บ้านอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ยังไม่มีโทรศัพท์ใช้ ต่อมาก็ได้รับรู้ถึงความยากลำบากในการที่จะได้หมายเลขและโทรศัพท์สักเครื่องมาใช้ที่บ้าน ต้องทำเรื่องขอหมายเลขจากองค์การโทรศัพท์ ต้องวางเงินประกัน และต้องรอคอยเป็นเวลานานนับเดือน  

เดี๋ยวนี้ โทรศัพท์ไม่ต้องใช้สายแล้ว (แม้ว่าเราจะยังเห็นสายโทรศัพท์พาดรุงรังไปตามเสาไฟฟ้าเป็นอนุสรณ์) โทรศัพท์สมัยใหม่ติดต่อถึงกันโดยอาศัยสัญญานคลื่นวิทยุ โทรศัพท์สมัยนี้มีขนาดเล็กเท่าฝ่ามือและน้ำหนักเบาจนสามารถถือได้ด้วยมือข้างเดียว คนไทยจึงเรียกมันสั้นๆ ว่า “มือถือ” มือถือมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปจากโทรศัพท์แบบเดิมจนเด็กรุ่นใหม่คงจะนึกไม่ออก โทรศัพท์ที่เคยเป็นของใช้ประจำ (บาง) บ้านได้กลายเป็นเครื่องใช้ประจำตัวของแต่ละคนไปเสียแล้ว  

เมื่อยังเป็นเด็กวัยรุ่น ผมจำได้ว่าเคยคุยกับเพื่อนๆ ว่า ถ้ามีโทรศัพท์ที่คุยกันแล้วเห็นหน้าเห็นตากันได้ก็จะเป็นเครื่องวิเศษที่ทำให้เรามีความสุขกันมากๆ แล้วเป็นอย่างไรเล่าครับ...มือถือสมัยนี้ คุยกันเห็นหน้ากันนั้นเป็นเรื่องธรรมดา สามารถคุยกันด้วยเสียง เขียนเป็นตัวหนังสือ ส่งรูปภาพทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทั้งยังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก  

ยิ่งคิด ยิ่งมองเห็นความมหัศจรรย์ของโทรศัพท์มือถือที่มีขนาดเท่าฝ่ามือซึ่งกลายเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่รวบรวมสรรพสิ่งไว้ด้วยกัน เป็นสมุดจดเบอร์โทรศัพท์ เป็นสมุดบันทึกวันเวลานัดหมาย เป็นวิทยุ เป็นโทรทัศน์ เป็นนาวิเกเตอร์ผู้บอกทางเป็นสนามเล่นเกม เป็นโรงภาพยนตร์ เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นที่ปรึกษาผู้รอบรู้ที่ช่วยตอบคำถามและข้อสงสัยต่างๆ เช่น “กูเกิ้ล” หรือที่บางคนเรียกว่า “อากู๋” รู้มากจนเราเรียกว่า “กูรู” ได้เต็มปาก หลายปีก่อน (2556) ผมแต่งกลอนยกย่องกูเกิ้ลไว้ว่า “อยากรู้เรื่องอะไรเป็นได้รู้ อยากดูเรื่องใดเป็นได้เห็น บอกเรื่อง ราวสารพัดได้ชัดเจน อากู๋เป็นคลังปัญญามหาชน”   

ที่มา: https://th.hrnote.asia/tips/190613-aging-society-working/สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2564   

สังคมสูงวัยเปลี่ยนโลก  

อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งทำให้โลกป่วนไปไม่น้อย คือการที่ประชากรมีอายุสูงขึ้นอย่างมากในชั่วเวลา 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา โลกของเราซึ่งเคยเป็นสังคมเยาว์วัยที่มีเด็กมาก ก็กลายเป็นสังคมสูงวัยที่มีคนแก่มาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นด้วยสาเหตุสำคัญสองประการ คือ อัตราเกิดของผู้คนในประเทศต่างๆ ลดต่ำลง และผู้คนในโลกนี้มีอายุยืนยาวขึ้น โครงสร้างอายุของประชากรโลกได้เปลี่ยนไปอย่างที่เรียกได้ว่า ทำลายล้างโครงสร้างเดิม พีระมิดประชากรที่เคยมีฐานกว้างเพราะมีเด็กมากที่ฐานและมียอดแหลมเพราะมีคนแก่น้อย ได้กลับหัวกลับหางกลายเป็นประชากรที่มีผู้สูงอายุมาก แต่มีเด็กน้อย  

คนทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งคนไทยด้วย ในอดีตเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน เคยมีลูกกันมาก จนต้องมีนโยบายชะลออัตราเพิ่มประชากร ด้วยการรณรงค์ให้คู่สมรสวางแผนครอบครัวกัน เดี๋ยวนี้ คนสมัยใหม่ แต่งงานยังไม่อยากจะแต่ง แต่งงานกันแล้วก็ไม่อยากมีลูกมาก มีกันแค่คนสองคน บางคู่แม้แต่มีลูกสักคนยังไม่อยากจะมี ในสังคมไทยสมัยนี้ ผู้หญิงไทยมีสถานภาพสูงขึ้นมาก มีการศึกษาสูงกว่าผู้ชาย ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ นักศึกษาที่เป็นหญิงจะมีมากกว่านักศึกษาชาย แทบทุกคณะและทุกมหาวิทยาลัย สมัยนี้ ผู้หญิงไทยทำงานนอกบ้านกันมาก จะให้หญิงไทยเป็นแม่บ้าน  อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนนั้นคงหาได้ยากขึ้นทุกวัน และมีเรื่องแปลก ที่สมัยนี้คนที่อยากมีลูกกลับมีไม่ได้ บางคู่ต้องไปเที่ยวแสวงหาเจ้าแม่เจ้าพ่อ ต้องไปอธิษฐาน บนบาน ขอท่านบันดาลให้ “เด็กดี” มาเกิดในครรภ์  

นึกถึงอดีตเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ผมเรียนจบกลับมาทำงานที่สถาบันวิจัยประชากรฯ ได้รับรู้ถึงความเอาจริงเอาจังของโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2514 คู่สมรสชาวไทยสมัยนั้นพากันมารับบริการคุมกำเนิดกันมาก วิธีคุมกำเนิดมีหลากหลายทั้งวิธีชั่วคราว เช่น ถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด วิธีกึ่งถาวร เช่น ห่วงอนามัย ยาฉีดคุมกำเนิด และวิธีถาวร เช่น การทำหมันหญิง หมันชาย ช่วงนั้น ผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีลูกเฉลี่ยมากกว่า 5 คน  

ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อ 50 ปีก่อน เด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยปีละล้านกว่าคน แต่ในปีสองปีที่ผ่านมา เด็กเกิดในประเทศไทยปีละ 6 แสนกว่าคนเท่านั้น ผมกำลังรอลุ้นตัวเลขว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา จำนวนเด็กเกิดจะต่ำกว่า 6 แสนคนแล้วหรือยัง (ทันทีที่ผมเขียนบทความนี้จบ ก็มีคนมารายงานผมว่าจำนวนเกิดในประเทศไทยเมื่อปีกลายลดต่ำลงกว่าหลัก 6 แสนแล้วครับ ปี 2563 มีเด็กเกิด 587,368 คน)  

โครงสร้างอายุของประชากรที่เปลี่ยนไปทำให้ลักษณะของครอบครัวไทยเปลี่ยนไปด้วย แต่ก่อนครอบครัวมีขนาดใหญ่ เพราะมีพ่อแม่และลูกๆ อีกหลายคน เดี๋ยวนี้ ครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง เหลือเพียง 3 คนโดยเฉลี่ยเท่านั้น เดี๋ยวนี้มีคนอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น ซึ่งถ้าถือตามนิยามแล้ว คนที่อยู่คนเดียวก็ไม่เรียกว่าเป็นครอบครัว แต่ก่อน ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวหรืออยู่กันตามลำพังสองคนตายายไม่น่าจะมีมากนัก เพราะผู้สูงอายุจะมีลูกหลานอาศัยอยู่ด้วย แต่เดี๋ยวนี้ มีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว หรืออยู่ลำพังกับผู้สูงอายุด้วยกันเพิ่มมากขึ้น  

การที่ประชากรไทยมีอายุสูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็วเช่นนี้ มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนไทยอย่างมหาศาล สังคมทั้งหมดก็เหมือนคนๆ หนึ่ง จากที่เคยเป็นเด็ก ก็เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนวัยทำงาน และในช่วงสุดท้ายก็ต้องเข้าสู่วัยชรา เมื่อมีอายุมากขึ้นสังขารทั้งหลายย่อมเสื่อมโทรมลง จากที่เคยกระฉับกระเฉง ก็เชื่องช้าลง ภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ที่มีอายุสูงๆ ก็ย่อมน้อยลงเป็นธรรมดา ความเสี่ยงของการเป็นโรค และการเข้าสู่ภาวะต้องพึ่งพิงคนอื่นก็ย่อมจะมีสูงขึ้น เมื่อประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และต่อไปจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ภาระของครอบครัว ชุมชน และรัฐ ที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล  

แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้ผมเรียกเหตุการณ์ทางประชากรนี้ว่าเป็น “สังคมสูงวัยเปลี่ยน (ป่วน) โลก” (disruptive aged society) ได้อย่างไร  

ทั้ง 3 เหตุการณ์ป่วนโลก โครงสร้างประชากรของสังคมสูงวัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แล้วมาเจอโควิด 19 ป่วนโลกเข้าอีก ชีวิตคนไทยสมัยนี้ต้องปั่นป่วนเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน วิถีชีวิตของคนหนุ่มคนสาวสมัยนี้แตกต่างไปจากเมื่อผมยังเป็นหนุ่มอย่างมาก วันนี้ ผมคิดคำนึงถึงอดีต และกำลังจินตนาการภาพคนไทยในอนาคต อีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร (ถ้าผมจะยังมีชีวิตอยู่และสมองยังไม่เสื่อมสภาพ)

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th