The Prachakorn

ต้นทุนของการมีลูก


มนสิการ กาญจนะจิตรา

526



การมีลูกในปัจจุบันมีต้นทุนสูง เรามักได้ยินพ่อแม่ทุกวันนี้โอดครวญว่าการมีลูกแต่ละคนนั้นแพงแสนแพง จะตัดสินใจมีลูกแต่ละคน ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะมีปัญญาเลี้ยงจนโตได้หรือไม่ ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ การตัดสินใจมีลูกหนึ่งคนต้องเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนที่จะเกิดจากการมีบุตรกับประโยชน์ที่ได้รับจากการมีบุตร ถ้าหากคำนวณแล้วพบว่า ต้นทุนจากการมีบุตรสูงกว่าประโยชน์ที่ได้รับ การเลือกที่จะไม่มีบุตรดูจะเป็นแนวทางที่สมเหตุสมผลในเมื่อต้นทุนการมีลูกดูจะสูงขึ้นทุกที ทำให้คนสมัยนี้เริ่มคิดหนักในการมีลูก วันนี้จะมาชวนดูว่าการมีลูกมีต้นทุนอะไรบ้างการคำนวณต้นทุนในการมีลูกหนึ่งคน ไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่คิด เพราะต้นทุนในการมีบุตรไม่ได้มีค่าใช้จ่ายทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ด้วย ในที่นี้จะขอแบ่งต้นทุนในการมีบุตรเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

ต้นทุนทางตรง เป็นต้นทุนที่คนส่วนใหญ่มักนึกถึงเป็นอันดับแรกในการมีบุตร เป็นค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตรและการเลี้ยงดูบุตร เช่น ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์การทำคลอด ค่านม ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียน ฯลฯ สำหรับพ่อแม่ไทยในปัจจุบัน ต้นทุนทางตรงนี้ดูเหมือนจะสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในสังคมที่มีการแข่งขันสูง พ่อแม่หลายคนต้องทุ่มทุนเลือกโรงเรียนค่าเล่าเรียนสูงๆ เพราะเชื่อว่าจำเป็นในการสร้างคนที่มีคุณภาพ

ต้นทุนทางอ้อม เป็นต้นทุนที่ถูกซ่อนอยู่ ทำให้หลายคนลืมนึกถึงต้นทุนส่วนนี้ไป ต้นทุนทางอ้อมในที่นี้ หมายถึง “ค่าเสียโอกาส” ในการตัดสินใจมีลูก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการสูญเสียรายได้ เนื่องจากการมีลูกอาจส่งผลต่อชีวิตการทำงาน เช่น บางคนต้องลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก ลดชั่วโมงการทำงานลงเพื่อที่จะได้มีเวลามาเลี้ยงลูกมากขึ้น หรือเปลี่ยนอาชีพเพื่อให้ได้มีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น การมีลูกจึงทำให้เกิดค่าเสียโอกาสในรูปแบบของการสูญเสียรายได้จากการต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หลายครอบครัวที่ดูมีความพร้อมทางการเงิน เลือกที่จะไม่มีลูก เพราะครอบครัวเหล่านี้มีรายได้สูง การมีลูกจึงหมายถึงการสูญเสียรายได้จำนวนมากไปต้นทุนทางอ้อมที่เกิดจากการมีลูกนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพียงการสูญเสียรายได้เท่านั้น แต่รวมถึงการสูญเสียโอกาสอื่นๆในชีวิตด้วย เช่น การเสียโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างอิสระ หรือ การไปเที่ยว ตรงนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่คนรุ่นใหม่ยังไม่ยอมมีลูกกัน เพราะต้องการใช้ชีวิตตามความฝันตัวเองมากกว่าที่จะมีลูก

ต้นทุนทางร่างกายและจิตใจ การมีลูกต้องใช้ทั้งกำลังกายและใจ สำหรับผู้หญิง การตั้งท้องเป็นต้นทุนทางร่างกายที่ส่งผลต่อสุขภาพได้ นอกจากนั้น การมลี กู ต้องทุ่มเทเวลาในการเลี้ยงลูกซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียดหรือความขัดแย้งในครอบครัวได้ต้นทุนจากการมีบุตรไม่จำเป็นต้องเท่ากันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย สำหรับคู่สามีภรรยา ต้นทุนสำหรับสามีอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายทางการเงินเป็นหลัก เนื่องจากสังคมวางบทบาทผู้ชายเป็นคนหาเงินเป็นหลัก สามีจึงอาจเป็นผู้ต้องออกค่าใช้จ่ายทางตรงเป็นหลัก ในขณะที่ภรรยาอาจมีต้นทุนในด้านการเสียโอกาสและต้นทุนทางร่างกายและจิตใจมากกว่าสามี เนื่องจากสังคมคาดหวังว่าผู้หญิงต้องเป็นผู้เลี้ยงดูลูกเป็นหลัก ดังนั้นผู้หญิงจึงมักเป็นผู้ที่ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงดูบุตรมากกว่า และมักเป็นผู้ต้องรับผลกระทบทางการงานและชีวิตมากกว่าผู้ชาย

 

ภาพโดย: กาญจนา เทียนลาย

การส่งเสริมการเกิดจำเป็นต้องเข้าใจถึงกระบวนการตัดสินใจมีบุตร หากคนในสังคมมองว่าต้นทุนการมีบุตรสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับ แนวทางนโยบายส่งเสริมการเกิดจึงควรหาวิธีช่วยลดต้นทุนของการมีลูกหรือเพิ่มประโยชน์จากการมีลูก แต่ด้วยประโยชน์จากการมีลูกค่อนข้างจะจับต้องได้ยากกว่า นโยบายโดยมากจึงเน้นการลดต้นทุนจากการมีลูกเป็นหลักเช่น การช่วยเหลือเงินแรกคลอด การให้เงินเลี้ยงดูบุตร และการลดหย่อนภาษีสำหรับคนมีบุตร แต่เนื่องจากต้นทุนการมีบุตรไม่ได้มีเพียงค่าใช้จ่ายทางการเงินเท่านั้น นโยบายที่ช่วยส่งเสริมสมดุลชีวิตให้กับพ่อแม่ที่ทำงาน ที่เอื้ออำนวยให้การมีลูกส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานน้อยที่สุด เป็นการช่วยลดต้นทุนทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตรโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง และอาจจูงใจให้ผู้หญิงตัดสินใจอยากมีลูกมากขึ้น


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th