The Prachakorn

อธิปไตยทางอาหาร สิทธิชาวนา และประชาธิปไตย: ศึกษาเปรียบเทียบกรณีโบลิเวีย อินโดนีเซีย และไทย


29 กรกฎาคม 2564
286



ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค (ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร)

ประเด็นเรื่องอธิปไตยทางอาหารเป็นแนวคิดกระแสท้าทายที่ถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนทางการเมือง และกลายเป็นประเด็นสำคัญอย่างมากหลังจากเหตุการณ์วิกฤตราคาอาหารโลกในปี ค.ศ. 2007/08 งานวิจัยฉบับนี้จึงมีเป้าหมายในการศึกษาอยู่สามประการ ประกอบด้วยการศึกษาแนวคิดและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกรณีเรื่องอธิปไตยทางอาหาร การศึกษาบทเรียนในการพัฒนาสถาบันเพื่อรับรองสิทธิในอธิปไตยทางอาหาร ที่มีการขับเคลื่อนโดยขบวนการทางสังคมเข้าสู่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และการอธิบายกระบวนการพัฒนาสถาบันการเมืองในการรับรองสิทธิในอธิปไตยทางอาหาร เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางอาหารด้วยการบังคับใช้บทบัญญัติเชิงสถาบันให้บรรลุจากเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ

งานวิจัยนี้ได้ดำเนินการการเก็บข้อมูลด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการเก็บข้อมูลด้วยการวิจัยเอกสาร  การสัมภาษณ์เชิงลึก และการศึกษารัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ ผ่านการเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญของประเทศโบลิเวียด้วยศึกษาผ่านรัฐธรรมนูญรัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย ปี ค.ศ. 2009 สำหรับประเทศอินโดนิเซียศึกษาจากรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐอินโดนิเซียฉบับปี ค.ศ. 1945 (แก้ไขครั้งที่สี่ ปี 2002) เพื่อเปรียบเทียบกับการกำหนดสิทธิอธิปไตยทางอาหารของไทย ในรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ได้ข้อค้นพบว่าทั้งสามประเทศพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกับการพัฒนาสถาบันการเมืองในประเด็นเรื่องอธิปไตยทางอาหารมีเส้นทางทีแตกต่างกัน หากเทียบจากความเข้มข้นในการเปลี่ยนแปลงจะพบว่าโบลิเวียถือว่ามีความเข้มข้นสูงทึ่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านอธิปไตยทางอาหารได้ถูกนำมาใช้อย่างสุดโต่งด้วยพรรคฝ่ายซ้ายในรัฐธรรมนูญ ส่วนอินโดนีเซียแนวคิดอธิปไตยทางอาหารในรัฐธรรมนูญถูกขับเคลื่อนผ่านการแข่งขันทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งและการรณรงค์ทางการเมือง และสำหรับประเทศไทยแนวคิดอธิปไตยทางอาหารถือว่ายังไม่สามารถยังรากลึกลงไปในหลักการรัฐธรรมนูญได้ แม้ว่าจะมีหลายข้อความที่มีความเกี่ยวข้องกับอธิปไตยทางอาหารอยู่แล้วบ้างก็ตาม

ผลการศึกษาดังกล่าวมุ่งหวังให้เห็นแบบแผนการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของโบลิเวีย อินโดนีเซีย และไทย ที่อาจนำไปสู่การออกแบบประชาธิปไตยจากคนข้างล่าง การลดความหิวโหยด้วยประชาธิปไตย การปฏิรูปเข้าถึงที่ดินและการสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนด้วยกลไกประชาธิปไตยทางอาหาร ที่ไม่ใช่เพียงกลไก “เติมเต็ม” ของประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่เป็นการสร้างกระบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ครอบคลุมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อหาระบอบในการจัดสรรอำนาจใหม่ให้เป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการอาหารในทุกขั้นตอน

สามารถติดตามชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/7gnOd-T7_m/


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th