เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน เข้าเดือนที่ 11 ของปี 2564 แล้ว อีกไม่นานก็จะขึ้นปีใหม่ 2565 เลขปีพุทธศักราชที่ผมไม่เคยคิดฝัน ว่าจะได้มีชีวิตอยู่จริงเมื่อยังเป็นเด็ก
เมื่อยังเป็นเด็ก ผมเป็น “เด็กบ้านนอก” เพราะบ้านผมอยู่นอกกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย หมู่บ้านที่ผมอยู่ถือเป็น “เขตชนบท” เพราะแม้จะเป็นชุมชนที่เป็นตลาดแต่ก็ยังเป็นเพียงเขตสุขาภิบาล ไม่ได้เป็นเขตเทศบาล ที่จะเรียกว่าเป็น “เขตเมือง” ตามคำจำกัดความของเขตเมืองและเขตชนบทที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน บรรยากาศของ “บ้านนอก” และ “ชนบท” เมื่อยังเป็นเด็กก็ยังประทับใจผมอยู่จนทุกวันนี้
ยามเช้าตรู่ใกล้รุ่งสาง ผมได้ยินเสียงไก่ขันประชันกันเจื้อยแจ้วเหมือนเป็นนาฬิกาที่บอกเวลาให้รู้ว่าวันใหม่กำลังเริ่มขึ้นแล้ว ถึงเดือนพฤศจิกายนอย่างนี้ ผมคิดถึงเสียงแผ่วๆ และสัมผัสของลมหนาว บางครั้งลมแรงพัดพาความหนาวเย็นมาสัมผัสกายจนเราสั่นสะท้าน ผมจำภาพท้องทุ่งนาที่กว้างไกลสุดสายตา ผมหลับตามองเห็นผืนทุ่งทองที่ปูด้วยรวงข้าวสุกปลั่งรอการเก็บเกี่ยว
บ้านผมอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนอย่างนี้ น้ำในแม่น้ำจะขึ้นสูงเป็นพิเศษ พวกเราเด็กๆ รู้ว่าขึ้น 15 ค่ำของเดือนนี้ จะเป็นวันลอยกระทง ที่ “วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง ...” ตอนบ่ายเย็นของวันนั้น พวกเรา เด็กๆ จะเตรียมกระทงไปลอยในแม่น้ำกัน แถวบ้านผมสมัยนั้นไม่มีการจัดงานให้เอิกเกริก ไม่มีการจุดพลุจุดประทัด ไม่มีเสียงเพลงรำวงสร้างบรรยากาศให้ครึกครื้นทั้งวัน กระทงของผมทำ.ด้วยกาบมะพร้าว มีดอกเข็ม ดอกพุด ธูปและเทียนปักไว้ เราไม่เคยนึกถึงความสวยงามหรือศิลปะของการจัดกระทงดอกไม้ พอถึงเวลาค่ำๆ เราก็จะเอากระทงไปลอยสนุกสนานกันตามประสาเด็ก ไม่ได้ขอขมาลาโทษพระแม่คงคา ไม่ได้อธิษฐานขอพรจากท่าน (หรืออาจจะขอขมา ขอพรบ้าง ตามคำแนะนำของพี่ๆ แต่สำหรับผมจำได้ว่า ยึดเอาความสนุกเล็กๆ น้อยๆ เป็นหลัก)
วาดภาพโดย: ปราโมทย์ ประสาทกุล
เดี๋ยวนี้ผมไม่เหลือความเป็นคนบ้านนอกอีกต่อไปแล้ว ผมอยู่ในเมืองกรุงมานานกว่า 60 ปี แม้ตอนนี้จะย้ายบ้านมาอยู่นอกกรุงเทพฯ แต่ก็ยังเป็นเขตชานเมืองหรือเขตปริมณฑลของกรุงเทพฯ ชุมชนบ้านเกิดที่ท่าสะอ้านของผมที่เคยเป็นชนบทเดี๋ยวนี้ก็ยกสถานะจากสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาลตำบล ซึ่งเรียกได้ว่าได้กลายเป็นเมืองไปแล้ว
ต้นเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ผมยังไม่ได้สัมผัสกับลมหนาว ทั้งเสียงลมและไอเย็น แม้จะมีประกาศจากทางการว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วตั้งแต่อาทิตย์ก่อน แต่สองสามวันก่อนที่ศาลายายังมีฝนกระหน่ำหนักไม่เว้นวัน ฝนตกทั้งกลางวัน กลางคืน เช้ามืดตื่นขึ้นมาแทนที่จะได้ยินเสียงไก่ขันกลับได้ยินเสียงฝนอยู่เซ็งแซ่ ปีนี้คนไทยในหลายพื้นที่ ในทุกภาคของประเทศยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบาก เพราะภัยน้ำท่วม
ต้นเดือนพฤศจิกายนปีนี้ รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ หลังจากที่ปิดประเทศมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี เชื่อว่าคนส่วนใหญ่โล่งใจที่กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐกำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ผ่อนคลายลง เมื่อเปิดประเทศก็แสดงว่า บัดนี้ชาวต่างประเทศสามารถเข้าประเทศไทยได้ ถ้าอยู่ในเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่รัฐบาลกำหนด เช่น ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อมาแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม ต้องตรวจไม่พบการติดเชื้อทั้งก่อนออกเดินทางและเมื่อมาถึงสนามบินในไทย
การเปิดประเทศครั้งนี้กลายเป็นความหวังใหม่ของคนไทย ที่เราหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศของเรา ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และผู้คนในอาชีพต่างๆ จะได้ลืมตาอ้าปากกันอีกครั้ง
เกิดมาจนอายุปูนนี้ ผมยังไม่เคยเจอการระบาดของโรคที่โหดร้ายรุนแรง เหมือนกับสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้เลย
เมื่อรัฐบาลสั่งเปิดประเทศ ผมรู้สึกโล่งใจไปเปลาะหนึ่ง เคยสงสารคนขับรถแท็กซี่ที่จอดรถรอรับผู้โดยสารที่ปากซอย พ่อค้าแม่ค้าที่ตั้งร้านอาหารชั่วคราวตามริมถนนในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด หวังว่ากิจการของพวกเขาจะดีขึ้นบ้างหลังจากวันนี้
โควิด-19 ทำให้ญาติพี่น้องต้องห่างเหินกันโดยต้อง “เว้นระยะห่างทางสังคม” กันอยู่นาน ผมไม่ได้กลับไปเยี่ยมน้องสาวและหลานๆ ที่บ้านท่าสะอ้านนานเป็นปี ถ้าแม่ผมยังมีชีวิตอยู่ ผมคงทำใจยากอยู่เหมือนกันที่จะต้องไปหาแม่เป็นประจำทุกอาทิตย์ แม่คงบอกผมว่า “ไม่ต้องมาหาแม่หรอก ลำบากเปล่าๆ” ไม่ใช่แม่กลัวจะติดเชื้อ แต่แม่จะพูดอย่างนี้เพื่อไม่ให้ลูกลำบากใจ
ในหมู่ญาติพี่น้อง ปกติ พวกเราจะมีการชุมนุมลูกหลานของคุณตาปีละครั้ง ปีนี้งดการชุมนุม พวกเราใช้วิธีร่วมกันทำบุญโดยให้ตัวแทนไปทำพิธีที่วัดและถ่ายรูปส่งมาในไลน์กลุ่ม “ครอบครัวและญาติพี่น้อง” เพื่ออนุโมทนาสาธุร่วมกัน ... “ขอบคุณอินเทอร์เน็ตที่ก้าวหน้าไปจนทำให้ความสัมพันธ์ในหมู่ญาติพี่น้องของพวกเรายังคงอยู่”
ในหมู่เพื่อน การชุมนุมเพื่อนร่วมรุ่นทั้งที่เรียนมหาวิทยาลัย และเรียนชั้นมัธยมปลายมาด้วยกันต้องงดไปทั้งในปีก่อนและปีนี้ เพื่อนร่วมรุ่นทั้งสองระดับการศึกษามีไลน์กลุ่มที่เราใช้ติดต่อกัน สนทนา และส่งข่าวสารถึงกัน ... “ขอบคุณอินเทอร์เน็ตที่ก้าวหน้าไปจนทำให้ความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อนของพวกเรายังคงอยู่”
พูดถึงเรื่องเพื่อนๆ กับโควิด-19 ผมคิดถึง “พี่แดง” ผมต้องสูญเสียเพื่อนรุ่นพี่ที่ผมรักไปหนึ่งคน เธอจากไปอย่างรวดเร็วมาก เพียงชั่วเวลาไม่ถึง 10 วันหลังจากรู้ว่าติดเชื้อ...เธอก็จากไป
ผมพูดกับใครต่อใครอยู่เสมอ ตั้งแต่เมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดว่า เราทุกคนต้องรักษาความสมดุลให้ได้ ระหว่างการดูแลสุขภาพ การทำงาน และสภาพจิตใจของเรา เราต้องปฏิบัติเคร่งครัดตามคำแนะนำในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องรักษาการทำงานของเราให้ดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุด และในขณะเดียวกัน เราจะต้องดูแลสุขภาพจิตของตัวเองไม่ตื่นตระหนกและไม่หวาดระแวงจนเกินเหตุ
ในเรื่องการทำงานของผม เหมือนโควิด-19 ที่ให้ “ทำงานจากบ้าน” จะทำให้ผมต้องทำงานหนักขึ้น โควิด-19 ทำให้ผมต้องซื้อโน๊ตบุ๊คอีกเครื่องหนึ่ง เพื่อใช้ในการประชุมออนไลน์ บางวันผมต้องประชุมถึง 3 ชุดติดต่อกัน ผมต้องบรรยายออนไลน์ ปรึกษาหารือกับเพื่อนร่วมงานออนไลน์ ผมประเมินตัวเองว่าในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา การทำงานของผมไม่สะดุด ผมไม่ติดเชื้อโควิด และผมสุขภาพสบายใจดี ผมสอบผ่าน
ผมคิดว่าการทำงานออนไลน์โดยเฉพาะแบบผสมระหว่างออนไลน์กับออนไซต์จะเป็นวิถีใหม่ของการทำงานด้านวิชาการต่อไปในอนาคต
อาทิตย์หน้านี้จะเป็นวันครบรอบ 50 ปีของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม สถาบันฯ จัดให้มีงานฉลอง 50 ปีแบบออนไลน์ในวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน เพราะวันที่ 14 ตรงกับวันอาทิตย์ ผมกำลังเตรียมจัดรายการพิเศษร่วมฉลอง 50 ปีสถาบันฯ เป็นรายการแถลงข่าวที่ให้ชื่อว่า “50 ปี: ประชากรที่เปลี่ยนไป 50 ปี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม” โดยผมจะเป็นผู้รายงานสรุปสถานการณ์ประชากรของประเทศไทยในรอบ 50 ปี
50 ปี หรือ ครึ่งศตวรรษเป็นระยะเวลาที่ชีวิตของผมได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ แห่งนี้ ผมออกเดินทางไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2514 โดยมีพันธสัญญากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ผู้ให้ทุนว่าจะมาทำงานให้กับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ซึ่งกำลังจัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล
ปี 2514 เป็นปีที่มีเด็กเกิดมากถึง 1.22 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเกิดต่อปีที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ช่วงนั้น ประชากรไทยเพิ่มเร็วมาก มีอัตราเพิ่มสูงกว่า 3% ต่อปี
ปี 2514 เป็นปีที่มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ” ให้เป็นกลไกผลักดันนโยบายส่งเสริมการคุมกำเนิด เพื่อชะลออัตราเพิ่มประชากร
รายการแถลงข่าวนี้จะจัดแบบออนไลน์โดยเริ่มเวลา 11.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 11 เดือน 11 พฤศจิกายนนี้
ผมขอประชาสัมพันธ์ให้ท่านผู้อ่านบทความนี้อาจเข้าไปชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่เพจเฟซบุ๊ก IPSRMAHIDOLUNIVERSITY