The Prachakorn

สมองเสื่อม : ภัยเงียบที่มากับการสูงวัยของประชากร


ปราโมทย์ ประสาทกุล

05 เมษายน 2561
280



ผมเริ่มรู้สึกว่าอวัยวะหลายอย่างในร่างกายของผมกำลังเสื่อมสภาพลง คงเป็นเรื่องธรรมดานะครับ ด้วยวัยที่กำลังย่างเข้าสู่หลัก 70 ปี จะให้อวัยวะทุกส่วนยังคงทำงานได้เข้มแข็ง คล่องแคล่ว เหมือนเมื่อครั้งยังหนุ่มแน่นนั้นคงเป็นไปได้ยาก ผมทำใจยอมรับการเสื่อมของสังขารโดยดุษฎี แต่อวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่ผมยังคิดไม่ออกว่า ถ้ามันเกิดเสื่อมขึ้นมาจนใช้การไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผมยังมีชีวิตอยู่แล้วผมจะทำอย่างไร อวัยวะส่วนนั้นคือ “สมอง”

ส่วนตัวผมเองมีความสนใจเรื่องการป่วยสมองเสื่อมเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะกลัวว่า สมองของตัวเองจะเสื่อมลงจนใช้การไม่ได้ในอนาคต แต่ผมสนใจเรื่องนี้เพราะได้พบเห็นผู้ป่วยสมองเสื่อมอยู่รอบตัว ครอบครัวผมมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์นอนติดเตียงอยู่ในบ้าน เพื่อนบ้านรั้วบ้านติดกันก็มีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผมเคยฟังเพื่อนสนิทคนหนึ่งเล่าเรื่องความทุกข์ที่ต้องดูแลพ่อที่เป็นอัลไซเมอร์ ผมเคยมีเพื่อนรุ่นพี่ที่สนิทกันมากมีอาการสมองเสื่อม อันเนื่องมาจากหลอดเลือดในสมองตีบ (สโตรค) และผมก็เคยได้ยินคำบอกเล่าจากคนรู้จักที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยสมองเสื่อมอีกหลายต่อหลายราย

เมื่อได้รู้เห็นกรณีของการป่วยสมองเสื่อมมากๆ เข้าก็เกิดอาการวิตกกังวลแทนประเทศไทยขึ้นมา ผมมั่นใจว่า ผู้ป่วยสมองเสื่อมจะเป็นปัญหาสำคัญของคนไทยในอนาคต เมื่อประชากรไทยนับวันจะสูงวัยยิ่งขึ้นไปอีก

อัลไซเมอร์เป็นเหมือนมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย

ผมมีโอกาสได้ฟังอาจารย์ พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน พูดเรื่องโรคสมองเสื่อม และได้อ่านเอกสารและหนังสือที่อาจารย์เขียนและเรียบเรียงเกี่ยวกับผู้ป่วยสมองเสื่อมอีกหลายเล่ม อาจารย์สิรินทรฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญโรคสมองเสื่อมอย่างแท้จริง นอกจากเป็นอาจารย์ในสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว อาจารย์ยังเป็นนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมอีกด้วย

 

ภาพประกอบจาก www.greenektar.com/2016/07/28/สมองเสื่อม-รู้ได้อย่าง

ผมชอบคำอธิบายของอาจารย์สิรินทรฯ ที่ว่า กลุ่มอาการสมองเสื่อม (dementia) มีหลายประเภท อาจารย์เปรียบกลุ่มอาการสมองเสื่อมว่าเป็นเหมือนมะม่วงซึ่งมีหลายพันธุ์ เช่น อกร่อง น้ำดอกไม้ เขียวเสวย แรด มหาชนก โรคสมองเสื่อมก็มีหลายชนิดเช่นกัน อัลไซเมอร์ ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็เป็นชื่อเรียกอาการสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง อาจจะเปรียบว่าอัลไซเมอร์เป็นมะม่วงเขียวเสวย ซึ่งเป็นพันธุ์หนึ่งของมะม่วงก็ได้

อาจารย์สิรินทรฯ อธิบายว่า “การที่สมองของคนเราเสื่อมได้นั้นเป็นผลมาจากเนื้อสมองหรือเซลล์สมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ พฤติกรรม และบุคลิกภาพ มีจำนวนลดลงเพราะเซลล์สมองบางส่วนตายไป ทำให้ส่วนที่เหลืออยู่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเหมือนก่อน จึงเกิดอาการต่างๆ ที่แสดงถึงความบกพร่องทางสมองขึ้นมา”

สมองเสื่อมหรือทำ.งานบกพร่องไม่เป็นปกติเหมือนเดิม มีสาเหตุหลายประการ เช่น เนื้อสมองเสื่อมสลาย หลอดเลือดสมองตีบ ติดเชื้อในสมอง ขาดสารอาหารบางชนิด สมองถูกกระทบกระแทก เนื้องอกในสมอง ได้รับยาหรือสารที่เป็นพิษต่อการทำงานของสมอง

อัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อมชนิดที่พบบ่อยและพูดถึงกันมากที่สุดมีสาเหตุจากการเสื่อมสลายตรงส่วนเปลือกสมอง แต่การเสื่อมสลายของเนื้อสมองส่วนนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดนัก

อาการสมองเสื่อมที่พบมากอีกชนิดหนึ่ง มีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกว่า “สโตรค” (stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตันหรือแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย โรคนี้ร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และหากไม่เสียชีวิต ก็อาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และมีอาการสองเสื่อมได้

ผมอ่านบทความของ Stephen and Brayne ( 2008) เรื่องความชุกและการคาดประมาณโรคสมองเสื่อม ทำให้เข้าใจว่าผู้ป่วยสมองเสื่อมส่วนใหญ่ 60–70% มาจากสาเหตุหลักสองประการนี้ คือ สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ กับสมองเสื่อมด้วยโรคหลอดเลือด ในประเทศยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ รวมทั้งญี่ปุ่น คนเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มีมากกว่า สำหรับประเทศไทย ดูเหมือนอาจารย์สิรินทรได้เคยบอกว่า ผู้ป่วยสมองเสื่อมด้วยโรคหลอดเลือดจะมีมากกว่าผู้ป่วยสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

ผู้ป่วยสมองเสื่อมมีมากน้อยเท่าไรในประเทศไทย

ผมเคยอ่านหนังสือขายดีเรื่อง “โอกินาวาโปรแกรม” ที่เขียนเกี่ยวกับการมีอายุยืนยาวของชาวโอกินาวา ผมชอบพูดว่าปัจจุบันคนญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวที่สุด (84 ปีโดยเฉลี่ย) แต่ “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” คนโอกินาวา ยังมีชีวิตยืนยาวกว่าชาวญี่ปุ่นทั่วไป บนเกาะโอกินาวา ซึ่งอยู่ตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น มี “ศตวรรษิกชน” อยู่เป็นจำนวนมาก วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน และภูมิอากาศของเกาะโอกินาวา เอื้ออำนวยให้ชาวญี่ปุ่นที่อยู่บนเกาะนี้มีสุขภาพดี

ในหนังสือเล่มนี้ ตอนหนึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับความชุกของการเป็นโรคสมองเสื่อมเปรียบเทียบชาวอเมริกัน ชาวญี่ปุ่น และชาวโอกินาวา คนทั้งสามกลุ่มนี้มีอัตราสมองเสื่อมต่ำมาก ในกลุ่มผู้สูงอายุ 65–69 ปี ไม่ถึง 2% ที่มีอาการสมองเสื่อม แต่หลังจากอายุ 70 ปีขึ้นไป อัตราสมองเสื่อมก็เพิ่มเป็น 2 เท่าไปเรื่อยๆ ในทุกกลุ่มอายุ 5 ปีที่สูงขึ้น จนถึงกลุ่มอายุ 85 ปีขึ้นไป อัตราสมองเสื่อมของคนอเมริกันกับคนญี่ปุ่นจะสูงพอๆ กัน คือประมาณ 30% ในขณะที่ผู้สูงอายุชาวโอกินาวา ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป มีอาการสมองเสื่อมเพียง 20% เท่านั้น

บทความของ Stephen and Brayne (2008) ได้นำการคาดประมาณอัตราความชุกของโรคสมองเสื่อมรายกลุ่มอายุที่ Jorm et al. (1987) รวบรวมมาจากข้อมูลของหลายประเทศมาแสดงไว้ดังนี้

          อายุ 65–69      1.4%

          อายุ 70–74      2.8%

          อายุ 75–79      5.6%

          อายุ 80–84      10.5%

          อายุ 85+         23.6%

ถ้าสมมุติว่าคนไทยมี “อัตราสมองเสื่อมรายอายุ” (age–specific dementia prevalence rate) ตามอัตราข้างต้น ผมคำนวณว่าในปี 2560 นี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยสมองเสื่อมประมาณ 4 แสนคน

ในอีก 20 ปีข้างหน้า ถ้าอัตราสมองเสื่อมรายอายุยังคงเดิมอยู่อย่างนี้ เพราะไม่มีมาตรการหรือการรณรงค์ที่จะทำให้อัตราสมองเสื่อมของคนไทยลดลงบ้าง ประเทศไทยก็จะมีผู้ป่วยสมองเสื่อมประมาณ 9 แสนคน จำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมจะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นจนเกือบถึงล้านคนเช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ท้าทาย

ทำไมจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นประเด็นที่ท้าทาย

ผู้ป่วยสมองเสื่อม ทั้งอัลไซเมอร์ และด้วยโรคหลอดเลือด  รวมทั้งสมองเสื่อมด้วยสาเหตุอื่นๆ ล้วนเป็นผู้ป่วยที่ต้องการดูแลใกล้ชิด การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นงานที่หนักมาก หนักทั้งกายใจ และภาระค่าใช้จ่ายของผู้ดูแลและคนในครอบครัว จำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต จึงหมายถึงภาระหนักของครอบครัวที่ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ผมไม่อยากวาดภาพจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมที่จะเพิ่มขึ้นในสังคมไทย... ไม่อยากเห็นผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว หรืออยู่ตามลำพังกับผู้สูงอายุด้วยกัน แล้วคนใดคนหนึ่งมีอาการสมองเสื่อมขึ้นมา... ไม่อยากคิดในทางร้ายว่า จะมีผู้ป่วยสมองเสื่อมบางรายถูกทอดทิ้งหรือนำไปปล่อยทิ้งเพราะไม่มีคนดูแลหรือคนดูแลหมดกำลังที่จะรับภาระต่อไป ... ไม่อยากวาดภาพผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เดินหลงทางอยู่กลางเมืองหาทางกลับบ้านไม่ถูก...

ดูเหมือนว่าผมยังมีเรื่องค้างคาใจเกี่ยวกับผู้ป่วยสมองเสื่อมในสังคมไทยอยู่อีกมาก


เอกสารอ้างอิง

  1. สิรินทร ฉันศิริกาญจน. 2557. วันวาน ณ ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
  2. สิรินทร ฉันศิริกาญจน. 2556. คู่มือยืดอายุสมอง. กรุงเทพฯ : สำ.นักพิมพ์ moreof life
  3. Jorm, A. F., Korten, A. E., & Henderson, A. S. (1987). The prevalence of dementia: A quantitative integration of the literature. Acta Psychiatrica Scandinavica, 76(5), 465-479. doi:10.1111/j.1600-0447.1987.tb02906.x
  4. Stephen, B. and Brayne, C. 2008. Prevalence and projections ofdementia. In Murna Downs and Barbara Bowers (Eds.) Excellencein Dementia Care Research Care into Practice. England : Berkshire: pp. 9-32.

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th