The Prachakorn

ทริปแห่งความโชคดี (ตอนที่ 2): สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย


นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

25 เมษายน 2565
582



การเดินทางไปทวีปแอฟริกาครั้งนี้ นอกจากจะได้เก็บเกี่ยวความรู้และได้เครือข่ายการทำงานจากการเข้าร่วมประชุมวิชาการประจำปีของ INDEPTH NETWORK แล้ว ผมยังโชคดีได้นั่งรถเข้าไปเที่ยวในตัวเมือง ทำให้ได้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองหลวงเก่าที่มีชื่อว่า ดาร์เอสซาลาม (Dar es Salaam) ซึ่งปัจจุบันเมืองนี้ยังคงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเมืองท่าเรือชายฝั่งที่สำคัญที่สุดในการขนส่งสินค้าและส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาตะวันออก เมืองนี้ผู้คนอาศัยอย่างหนาแน่น ผู้คนเดินขวักไขว่ท่ามกลางการจราจรที่แออัด

ในระหว่างที่ผมนั่งในรถและมองไปรอบๆ สายตาผมก็สะดุดกับผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่แต่งตัวสีสันสดใส เดินถือไม้ยาวๆ มีลักษณะคล้ายหอกอยู่ริมถนน รู้สึกดีใจและตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูกที่ได้มีโอกาสเห็นชนเผ่ามาไซตัวจริงๆ ด้วยตาของตัวเอง แต่แอบสงสัยว่าทำไมชนเผ่ามาไซถึงมาเดินอยู่ในเมือง ทำไมไม่อยู่ในที่ที่มีทุ่งหญ้าป่าเขาเหมือนกับที่เคยเห็นในสารคดี หรือนี่คงเป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดให้สามารถดำรงชีวิตร่วมกับวิถีชีวิตคนเมืองท่ามกลางป่าคอนกรีต แต่ในใจก็แอบคิดว่าถ้ามีโอกาสก็อยากไปเห็นวิถีชีวิตของชาวมาไซที่อาศัยที่ใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติสักครั้ง

สหสาธารณรัฐแทนซาเนียเกิดจากการรวมตัวกันของ 2 สาธารณรัฐ คือ สาธารณรัฐแทนกานยิกา (Tanganyika) ครอบคลุมพื้นที่แผ่นดินใหญ่ของประเทศ และสาธารณรัฐแซนซิบาร์ (Zanzibar) ครอบคลุมพื้นที่หมู่เกาะต่างๆ ประเทศนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแบบซาฟารี (Safari) เดินป่าแคมปิ้งขึ้นภูเขาคิลิมันจาโร (Kilimanjaro) ภูเขาที่มียอดเขาสูงที่สุดในทวีปแอฟริกา หรือแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เพราะมีหมู่เกาะต่างๆ มากมาย ที่ยังรอให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกมาเยี่ยมชม

รูป: เตรียมพร้อมก่อนออกเดินทางไปสำรวจเมืองดาร์เอสซาลาม
ถ่ายภาพโดย: นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์


ที่มา:  รูปประกอบจาก https://globthailand.com/market/แทนซาเนีย/ สืบค้นวันที่ 28 มีนาคม 2565


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th