The Prachakorn

ทำให้ทุกโรงเรียนเป็น “โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ”: พลิกฟื้นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเพื่อรับมือในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง


อัญชุลี อ่อนศรี

15 มิถุนายน 2565
687



การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันที่รวดเร็วและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่าง ๆ ของโลกยุคใหม่หรือภาวะ VUCA World  ที่หลาย ๆ คนรู้จักและคุ้นหูเป็นอย่างดี (คำว่า VUCA ย่อมาจาก V-Volatility ความผันผวน U-Uncertainty ความไม่แน่นอน C-Complexity ความซับซ้อน A-Ambiguity ความคลุมเครือ เดิมเป็นคำที่ใช้เรียกสถานการณ์ในสงครามในวงการทหาร ต่อมาคำนี้ถูกนำมาใช้อธิบายสภาพการณ์ผันผวนในโลกธุรกิจและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว1) ซึ่งแน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยรวมในทุกด้าน โดยเฉพาะการคุกคามสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จากข้อมูลการรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการระบาดโรคโควิด 19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทยของยูนิเซฟ พ.ศ. 2565 ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบที่รุนแรงของโควิด 19 จากการชัตดาวน์ทางการศึกษา ทำให้เด็กต้องประสบกับปัญหาการเข้าถึงการศึกษา สุขภาพ และอาหารที่มีผลต่อพัฒนาการ สุขภาพจิต พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ2 และที่สำคัญส่งผลต่อภาวะถดถอยทางความรู้ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ ตลอดจนการเรียนรู้และหน้าที่การงานในอนาคตของเด็ก3 ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการมีสุขภาพดีสนับสนุนให้การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และในทางกลับกันการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพก็จะสนับสนุนให้เกิดสุขภาพที่ดีเช่นเดียวกัน ความสำคัญของโรงเรียนจึงเป็นมากกว่าสถานที่ที่ให้ความรู้ เพราะโรงเรียนยังเปรียบเสมือนเป็นเกราะคุ้มกัน ช่วยสนับสนุนให้เด็กได้รับการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพอีกด้วย

ย้อนกลับไปประมาณเกือบสามทศวรรษ (พ.ศ. 2538 ) องค์การอนามัยโลกเริ่มต้นแนวคิด “โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (Health Promoting School) คือ โรงเรียนที่มีความสามารถแข็งแกร่งมั่นคงเพื่อเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดสุขภาพอนามัยที่ดีเพื่อการอยู่อาศัย การเรียนรู้ และการทำงาน” โดยสร้างความเข้มแข็งการส่งเสริมสุขภาพและกระบวนการจัดการศึกษาทุกระดับ เพื่อพัฒนาสุขภาพนักเรียน บุคลากรในโรงเรียน ครอบครัวและชุมชนผ่านโรงเรียนที่เป็นตัวกลางสำคัญขับเคลื่อนใน 6 ประเด็นหลัก คือ 1) นโยบายสุขภาพในโรงเรียน 2) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ 3) สิ่งแวดล้อมทางสังคม 4) ทักษะส่วนบุคคลด้านสุขภาพ 5) ความเชื่อมโยงกับครอบครัวและชุมชน และ 6) บริการสุขภาพของโรงเรียน4 ซึ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้นำแนวคิดโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพไปปรับใช้ตามบริบทที่แตกต่างกันไป รวมถึงประเทศไทยซึ่งได้นำมากำหนดเป็นเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพสำหรับประเมินทั้งด้านกระบวนการและผลลัพธ์ทางสุขภาพนักเรียนจนถึงปัจจุบัน5

และเมื่อปีที่ผ่านมา องค์การยูเนสโกและองค์การอนามัยโลกได้เปิดตัวแนวคิด “ทำให้โรงเรียนทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ” ด้วย มาตรฐานระดับโลกสำหรับโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (Global Standards for Health-promoting School) ที่พัฒนาต่อยอดจากแนวคิดเดิมเพื่อลดช่องว่างการดำเนินงาน เพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้น เน้นการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบให้มีความยั่งยืนและปรับเข้ากับบริบท และมุ่งสร้างความร่วมมือร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาและสุขภาพในด้านโยบายและทรัพยากรระดับประเทศ ท้องถิ่น และโรงเรียน รวมถึงออกแบบให้สามารถใช้ได้กับแนวคิดการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบใด ๆ ที่มีเป้าหมายด้านสุขภาพภายใต้ขอบเขตทางการศึกษา โดยไม่คำนึงว่าจะใช้ชื่อโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพหรือไม่6 และที่สำคัญคือการคงไว้ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาสุขภาพที่ครอบคลุมสุขภาพอนามัยในทุกแง่มุมของชีวิตในโรงเรียนและชุมชนซึ่งสัมพันธ์กับการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และการเรียนรู้ของนักเรียน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานการณ์โควิด 19 จะคลี่คลายลง โรงเรียนต่างกลับมาเปิดการเรียนการสอนแบบออนไซต์อย่างเต็มรูปแบบ แต่ด้วยสภาวะความไม่แน่นอนไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากโควิด 19 เองหรือภัยคุกคามสุขภาพใหม่ ๆ ในโลกยุคใหม่นี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้น การสนับสนุนและผลักดันให้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพในช่วงภาวะวิกฤตินี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเตรียมความพร้อมและสร้างเกราะคุ้มกันเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลที่เน้นย้ำถึงประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

  • ความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับสุขภาพ
  • ความสำคัญของมิติสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม
  • ทุกองค์ประกอบของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และสุขภาพของนักเรียน
  • ประสิทธิผลของการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ กลยุทธ์ของโรงเรียน และการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • อยู่บนหลักการของความเสมอภาค

จะเห็นได้ว่า บทบาทของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพมีความสำคัญและเด่นชัดมากขึ้น ด้วยจุดแข็งของกลไกและกระบวนการการพัฒนาแบบองค์รวม ทำให้สร้างความมั่นใจได้ว่าโรงเรียนจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยต่อการเรียนรู้และสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนทุกคน และไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นักเรียนจะมีทักษะชีวิต ทักษะสุขภาพ สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง สุขภาพและการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้ เช่นเดียวกับโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสาธารณสุข การศึกษา และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เช่นนั้นแล้ว การทำให้โรงเรียนทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนั้นก็คงไม่ไกลเกินความเป็นจริง


อ้างอิง

  1. วรากรณ์ สามโกเศศ. (2565). กรอบคิดจาก VUCA สู่ BANI. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com /columnist/1004689
  2. องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย. (2565). รายงานรวบรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการระบาดโรคโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.unicef.org/thailand/ media/8786/file/COVID-19%20Impact%20on%20Children.pdf
  3. องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย. (2565). รายงานใหม่ชี้เด็กในเกือบทุกประเทศเผชิญการเรียนรู้ถดถอยเนื่องจากโควิด-19 ในประเทศไทย ยูนิเซฟจับมือกระทรวงศึกษาธิการและกสศ. เพื่อช่วยเด็ก ๆ ฟื้นฟูความรู้ที่ถดถอย. สืบค้นจาก https://www.unicef.org/thailand/th/press-releases/รายงานใหม่ชี้เด็กในเกือบทุกประเทศเผชิญการเรียนรู้ถดถอยเนื่องจากโควิด-19
  4. World Health Organization. (1998). WHO’s global school health initiative: Health promoting schools. Geneva: World Health Organization. Retrieved from https://www.who.int/school_youth_health/media/en/92.pdf
  5. สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2560). คู่มือการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2558) (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  6. World Health Organization & the United Nations, Educational Scientific and Cultural Organization. (2021). Making every school a health-promoting school: global standards and indicators for health-promoting schools and systems. Retrieved from https://apps.who.int/iris/rest/bitstreams/1352165/retrieve

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
เวลา

วรชัย ทองไทย

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ศีลธรรม

วรชัย ทองไทย

สู้ต่อไป กับการ Work From Home

มนสิการ กาญจนะจิตรา

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

ลักษณนาม

วรชัย ทองไทย

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

เด็กปฐมวัย...โอกาสทองสร้างคน

มนสิการ กาญจนะจิตรา

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th