The Prachakorn

ผู้ดูแลข้ามชาติกับโอกาสของสังคมสูงอายุไทย


ณปภัช สัจนวกุล

08 สิงหาคม 2565
382



การสูงวัยของประชากรทำให้หลายประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเผชิญกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นต่อบริการการดูแลผู้สูงอายุซึ่งไม่ใช่จากสมาชิกในครอบครัว (non-familial care) ขณะที่บางประเทศยังสามารถรับมือกับความต้องการการดูแลได้ค่อนข้างดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการตั้งมั่นของระบบรัฐสวัสดิการที่มีอยู่แต่เดิม แต่ก็มีหลายประเทศที่ต้องตกอยู่ในสภาวะ “ขาดดุลการดูแล” (care deficit) หลายครอบครัวในสังคมตะวันตกทุกวันนี้ต้องหันมาพึ่งพา “ผู้ดูแลที่เป็นแรงงานข้ามชาติ” (migrant caregivers) เพื่อทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุที่ตกอยู่ในภาวะพึ่งพิงในครัวเรือน

เราเริ่มเห็นบทบาทของผู้ดูแลที่เป็นแรงงานข้ามชาติมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะเมื่อสังคมนั้นต้องเผชิญหน้ากับการสูงวัยของประชากรที่มาพร้อมกับการลดจำนวนลงของกำลังแรงงาน โดยทั่วไป ผู้ดูแลข้ามชาติมีแนวโน้มได้รับค่าจ้างที่น้อยกว่าผู้ดูแลท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะดึงดูดและจูงใจให้แรงงานในประเทศสนใจทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุมากนัก อาจเพราะงานดูแลผู้สูงอายุเป็นงานที่เหนื่อย หนัก และต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าอภิรมย์นัก

สภาพการทำงานของผู้ดูแลข้ามชาติ

การให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ถูกจัดว่าอยู่ในประเภท “การจ้างงานที่ไม่ปลอดภัย” เนื่องจากเป็นการทำงานโดยไม่มีสัญญาจ้างที่แน่นอน หรืออาจถูกเลิกจ้างได้ทุกเมื่อ ส่วนใหญ่แล้วนายจ้างมักจ่ายค่าจ้างให้ผู้ดูแลข้ามชาติเป็นเงินสด ซึ่งมีส่วนทำให้ผู้ดูแลข้ามชาติไม่มีสิทธิได้รับการคุ้มครองทางสังคม นอกจากนี้ ผู้ดูแลส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงทั้งต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทางเชื้อชาติ และทางชาติพันธุ์ แน่นอนว่าแรงงานกลุ่มนี้ย่อมมีอำนาจทัดทานต่อนายจ้างน้อยมากส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะงานดูแลประเภทนี้มักไม่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานในประเทศปลายทาง บางครั้งงานของผู้ดูแลอาจขยายขอบเขตไปไกลกว่าการดูแลผู้สูงอายุ เพราะมีนายจ้างจำนวนไม่น้อยที่เพิ่มการทำงานให้แรงงานต้องรับผิดชอบเพิ่มเติม เช่น การดูแลเด็ก การทำอาหาร หรืองานบ้านอื่นๆ ดังนั้น งานลักษณะนี้จึงมีชั่วโมงการทำงานที่ไม่ชัดเจนหรือบางทีอาจต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

การออกแบบนโยบายเพื่อรองรับผู้ดูแลข้ามชาติ

แม้บางประเทศจะเริ่มมีนโยบายเฉพาะที่ยอมรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ แต่มีอีกหลายประเทศที่ยังไม่ได้กำหนดให้แรงงานประเภทดังกล่าวสามารถเข้าเมืองและทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกนัยหนึ่งคือ ผู้ดูแลที่เป็นแรงงานข้ามชาติมักจะไม่ถูกนับรวมว่าเป็น “แรงงานมีฝีมือ” (skilled labour) เงื่อนไขเหล่านี้นับเป็นความท้าทายสำคัญในการจัดการระบบอุปทานการดูแลผู้สูงอายุในอนาคต ดังนั้น การทบทวนกฎหมายแรงงานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดประเภทการย้ายถิ่นที่ชัดเจนและเป็นมิตร จะมีส่วนช่วยลดปัญหาที่แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ต้องเผชิญ

แต่ผู้กำหนดนโยบายควรคำนึงถึงผลที่ตามมาในระยะยาว รวมถึงความไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ “ห่วงโซ่การดูแลระดับโลก” (global care chain) ที่มีการส่งผ่านผู้ดูแลข้ามชาติจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะถึงแม้ผู้ดูแลข้ามชาติจะสามารถช่วยลดการขาดดุลการดูแลผู้สูงอายุในประเทศปลายทางได้ แต่การพลัดพรากจากครอบครัวของตนเองเพื่อมาทำงาน ก็เป็นการผลักให้สมาชิกในครอบครัวของแรงงานข้ามชาติต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัวที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุที่ต่างก็ต้องการการดูแลเช่นกัน

โอกาสสำหรับสังคมสูงอายุไทย

ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ (caregivers) ภายใต้ “กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” ประมาณ 95,000 คน แต่จำนวนนี้ยังไม่เพียงพอกับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแล ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะดีไหมถ้าภาครัฐหันกลับมาทบทวนนโยบายเพื่อเปิดช่องทางและเพิ่มโอกาสให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาทำหน้าที่ “ทดแทน” การขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง เพื่อเตรียมรับมือกับความต้องการการดูแลที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ซึ่งนับวันจะเป็นที่ต้องการมากยิ่งกว่าแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ เสียด้วยซ้ำไป

แม้อาจพบข้อจำกัดในการให้การดูแลผู้สูงอายุจากแรงงานข้ามชาติอยู่บ้าง โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านภาษาและวัฒนธรรมที่เป็นอุปสรรคในการสื่อสารและการอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ถ้ามีการออกแบบระบบการจัดหางานและติดตามการจ้างงานที่ชัดเจน รวมถึงมีการฝึกอบรมที่จำเป็นและเข้าถึงได้สำหรับแรงงานข้ามชาติ แนวทางดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจทั้งต่อผู้ให้และผู้ใช้บริการการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานด้านการดูแลระยะยาวสำหรับสังคมสูงอายุไทยต่อไป

ภาพ: แรงงานต่างชาติดูแลผู้สูงอายุ
ที่มา: https://prachatai.com/journal/2016/10/68496 สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2565


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th