The Prachakorn

หรือการหลอกตัวเองอาจไม่ได้แย่อย่างที่คิด ?


สุพัตรา ฌานประภัสร์

12 สิงหาคม 2565
1,004



เป็นไปได้หรือไม่ เมื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอาการดีขึ้นหลังจากรับประทานยาที่ไม่มีคุณสมบัติในการรักษา แต่เข้าใจไปเองว่า ยานั้นจะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น และเป็นไปได้หรือไม่ว่า กลุ่มนักเรียนผิวสีทำคะแนนข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้คะแนนน้อยว่ากลุ่มนักเรียนผิวขาว หลังอ่านผลการศึกษาปลอมที่ว่า คนผิวสีมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ด้อยกว่าคนผิวขาว และเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ เมื่อแม่บ้านกลุ่ม A น้ำหนักตัวลดลงโดยเฉลี่ย หลังได้รับข้อมูลว่า การทำความสะอาดบ้านนับเป็นการออกกำลังกาย ตรงกันข้ามกับแม่บ้านกลุ่ม B ที่น้ำหนักไม่มีการเปลี่ยนแปลง หลังได้รับข้อมูลว่าการทำงานบ้านไม่นับว่าเป็นการออกกำลังกาย

ข้อมูลเล่านี้ถูกนำเสนอในหนังสือ คุณคือพลาซีโบทำความคิดให้ออกฤทธิ์กับสุขภาพ จากผู้เขียน ดร. โจ ดิสเพนซา (Dr. Joe DIspenza) นักวิทยาศาสตร์ประสาทวิทยาศาสตร์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไคโรแพรคติก (Chiropractic) ซึ่งเป็นการรักษาความสมดุลกระดูกสันหลังโดยให้ความสำคัญต่อกระดูกสันหลัง ระบบประสาท โครงสร้างร่างกาย และโภชนาการ – ข้อมูลต่อไปนี้เป็นการสรุปเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือฯ

การหลอกตัวเองหมายถึงอะไร

การหลอกตัวเอง มาจากการสรุปความเข้าใจของผู้เขียนต่อ ปรากฏการณ์พลาซีโบ (Placebo) หรือ การรักษาด้วยยาหลอก ซึ่งมักพบในวงการแพทย์และสุขภาพ โดยแพทย์จะรักษาผู้ป่วยโดยใช้แป้งอัดเม็ดแทนยารักษาในโรค และไม่ได้แจ้งให้ผู้ป่วยทราบ แต่กลับพบว่า ผู้ป่วยบางรายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการรักษาเทียบเท่ากับการรักษาโดยยาจริง ปรากฏการณ์นี้ถูกค้นพบครั้งแรกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพยาบาลรายหนึ่งฉีดน้ำเกลือแทนมอร์ฟีนให้ทหารบาดเจ็บและพบว่าทหารไม่ได้แสดงอาการเจ็บปวดระหว่างการผ่าตัด ปรากฎการณ์เหล่านี้ (ผู้ป่วยซึมเศร้า แม่บ้าน เด็กผิวสี และทหาร) มีส่วนสัมพันธ์กับความคิด ความเชื่อ ความคาดหวัง และการคล้อยตามสิ่งชี้นำ (suggestibility)  ซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวตนของมนุษย์ ดังนั้นอันดับแรกเราต้องเข้าใจกระบวนการสร้างตัวตนกันเสียก่อน

กระบวนการและการสร้างตัวตน

ตัวตนของเราเป็นผลมาจากองค์ประกอบ อันได้แก่ ความคิด ความรู้สึก นิสัย ทัศนคติ ความเชื่อ และมุมมอง ทั้งหมดนี้ทำงานสอดคล้องประสานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และส่งผลต่อสมองซึ่งเป็นผู้มีบทบาทหลักต่อตัวตน เริ่มต้นจาก ความคิดและความรู้สึก เมื่อคุณประสบเหตุการณ์ใดๆ ความคิดและความรู้สึกของคุณจะรวมตัวกัน จากนั้นจะเกิดสภาวะการเป็นอยู่ (ชั่วคราว) เกิดเป็นทัศนคติ (ระยะสั้น) ต่อเหตุการณ์และตอบสนองออกเป็นพฤติกรรม เมื่อคุณเจอลักษณะเหตุการณ์เดิมซ้ำๆ หรือใกล้เคียง คุณจะเกิดวงจรส่วนนี้ในรูปแบบเดิม จากนั้นทัศนคติจะกลายเป็นนิสัย และกลายเป็นความเชื่อ ซึ่งเป็นสภาวะการเป็นอยู่ระยะยาว (ความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นซ้ำๆ) ท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นมุมมองของคุณต่อประสบการณ์ ภายใต้วงจรเหล่านี้ระบบการทำงานด้านระบบชีววิทยาภายในสมองมีการเปลี่ยนแปลงและก่อตัวขึ้นเช่นกัน เซลล์ประสาทจะเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเคมีไฟฟ้า เกิดการเชื่อมต่อประสานประสาท (synaptic connection) กลายเป็นความสัมพันธ์เชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทระยะยาว เกิดโครงสร้างทางกายภาพทางสมองขึ้นมา กล่าวอย่างเข้าใจง่าย เมื่อคุณประสบเหตุการณ์ใดๆ คุณมีปฏิกิริยาตอบสนองแบบเดิมซ้ำๆ ภายใต้ความคิด ความรู้สึก นิสัย ทัศนคติ ความเชื่อ และมุมมอง สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อโครงสร้างทางกายภาพทางสมอง ขณะเดียวกันโครงสร้างทางกายภาพของสมองก็กลายมาเป็นตัวกำหนดการแสดงออกของคุณ แปลว่า ถ้าคุณเป็นคนที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ในทางลบ สมองของคุณจะถูกตั้งโปรแกรมให้กลายเป็นเชิงลบ และสมองของคุณเองจะเป็นผู้ควบคุมให้คุณตอบสนองในด้านลบๆ เหมือนเคย

อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยอาศัยความร่วมมือและความพยายามด้วยตัวคุณเอง ด้วยวิธีการเปลี่ยนแปลงคลื่นสมอง ทั้งนี้ สมองของเราแบ่งระดับคลื่นได้ 5 ระดับ เรียงจากระดับคลื่นช้าสุดจนถึงเร็วสุด : เดลตา ธีตา อัลฟา เบตา และแกรมมา โดยปกติในชีวิตประจำวันสมองของคนจะอยู่ในระดับเบตา เพื่อตอบสนองต่อความคิดของจิตสำนึกขณะเราตื่น การประมวลผล และการรับสัมผัสผ่านประสาทสัมผัส การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมองจะเกิดขึ้นเมื่อคุณเข้าสู่สภาะคลื่นสมองช่วงธีตาซึ่งเป็นช่วงภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น และอัลฟาในลักษณะสภาวะจินตนาการและมีความคล้อยตามสูง

How to เปลี่ยนแปลงคลื่นสมอง

วิธีการเปลี่ยนแปลงสามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ (1) การรับรู้สถานการณ์รอบตัวที่มีการเคลื่อนไหว ส่งเสียง การรับสัมผัสทางกาย เช่น ตอนนี้คุณรับรู้ถึงการสัมผัสระหว่างฝ่ามือที่ประคองโทรศัพท์มือถือ หรือรับรู้ถึงก้นที่สัมผัสเก้าอี้อยู่หรือไม่ ในกรณีที่คุณกำลังนั่งอยู่ การรับรู้ลักษณะนี้เราเรียกว่า การเจริญสติ (Mindfulness)  (2) การใส่ความสนใจไปยังสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจดจ่อ เช่น ลมหายใจ หรือจ้องมองไปยังที่ใดที่หนึ่งโดยไม่ว่อกแว่ก เราเรียกสิ่งนี้ว่าการทำสมาธิ (Meditation) คุณอาจคุ้นเคยกับคำทั้งสองนี้จากคำสอนทางศาสนาอาจทำให้รู้สึกน่าเบื่อ ทว่า ทั้งสองแนวทางนี้ถูกนำไปใช้และเป็นที่ยอมรับระดับสากล อย่างเช่น บริษัทกูเกิล (Google) ในโครงการ Search inside yourself และการศึกษาในมหาวิทยาลัย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

Mindfulness และ Meditation สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสมองได้ จากงานศึกษาใน University of Wisconsin-Madison, USA ผู้วิจัยแสกนสมองนักบวชผู้ฝึกกิจกรรมทั้งสองมาเป็นเวลานาน ผลแสกนสมองพบระดับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) มากกว่าคนที่ไม่ได้ฝึก และสามารถควบคุมการแสดงออกของพฤติกรรมได้ดีกว่าและในเชิงบวกมากกว่า วิธีการปฏิบัติ Mindfulness และ Meditation จะนำคุณเข้าสู่ระดับคลื่นสมองอัลฟาและธีตา ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดจากการวิพากษ์วิจารณ์ การคิดวิเคราะห์ต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความคิดฟุ้งซ่าน วิตกกังวล และอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยทางจิต

กล่าวโดยสรุป การหลอกตัวเอง หรือการทำให้ตัวคุณเองเป็นพลาซีโบ อาจส่งผลให้วิธีคิดและกระบวนการทางความคิดของคุณเปลี่ยนไป ด้วยวิธี Mindfulness และ Meditation และผลจากโครงสร้างทางสมอง โดยการพยายามนำตัวเองกลับมาสู่ปัจจุบัน ตระหนักและรับรู้ต่อสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชั่วขณะ หรือการจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จากประสบการณ์ผู้เขียนพบว่า Mindfulness ในแต่ระหว่างวัน และทุกชั่วขณะเท่าที่จะรู้สึกตัวได้ ส่งผลต่อวิธีการรับมือทางอารมณ์และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในทางบวก ซึ่งคุณสามารถทำได้เช่นกันโดยกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ณ ตอนนี้ ตอนที่คุณกำลังอ่าน คุณจะกลายเป็นคนที่ไม่มีอนาคตและอดีต แม้ว่าที่ผ่านมาคุณเคยเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษในการย้อนเวลากลับไปอยู่ในอดีตที่ไม่สามารถแก้ไข หรือก้าวข้ามเวลาไปสู่อนาคตซึ่งไม่มีอะไรรับประกันว่าสิ่งที่คุณกำลังคิดนั้นจะเกิดขึ้นจริง แต่ตอนนี้คุณกำลังจะกลายเป็นคนที่อยู่ในปัจจุบันอย่างสมบูรณ์


อ้างอิง

  1. ดิสเพนซา, โจ. คุณคือพลาซีโบทำความคิดให้ออกฤทธิ์กับสุขภาพ. แปลโดย ติณณ์ อินทพิเชฎฐ์. ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ซีด ออฟ เลิฟ, 2563.
  2. พื้นที่ชีวิต. “สติ สมอง และจิตใจ.” ผู้กำกับรายการ ขวารี ผลดี. ออกอากาศวันที่ 26 มีนาคม 2564, ช่อง Thai PBS.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th