The Prachakorn

การไปทำงานที่อื่นของมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ เกี่ยวข้องกับความไม่สงบหรือไม่


อารี จำปากลาย

14 เมษายน 2561
518



ผู้เขียนและทีมวิจัย1ตั้งคำถามนี้เป็นเวลา 4-5 ปี มาแล้ว โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2557 ให้เรามีโอกาสหาคำตอบนี้ด้วยการทำวิจัยเรื่อง การย้ายถิ่นของมุสลิมกับความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ เราช่วยกันคิดว่าจะถามคำถามอะไรบ้างเพื่อให้ได้คำตอบนี้ โดยตัดสินใจเลือกพื้นที่ด้วยการสุ่มตัวอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนของผู้คนทั้งในเขตเมืองและชนบทของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ช่วงกลางปี 2557 เราเก็บข้อมูลบ้านที่เป็นตัวอย่างทั้งหมดพันกว่าครัวเรือน โดยน้องๆ ที่จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่พูดภาษามลายูท้องถิ่นได้

สิ่งที่ทีมวิจัยได้ข้อสรุปคือ สถานการณ์ความไม่สงบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจออกจากบ้านไปทำงานในพื้นที่อื่นของผู้คนในสามจังหวัดใต้สุดของไทย ซึ่งหลักฐานสนับสนุนข้อสรุปนี้มีสองประการด้วยกัน

หนึ่ง พบว่า ครอบครัวในหมู่บ้านที่เคยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่งในรอบปีก่อนที่เราจะลงไปสำรวจนั้น มีแนวโน้มที่สมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 1 คน จะออกจากบ้านไปทำงานที่อื่น สูงกว่าครอบครัวในหมู่บ้านที่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรอบปีก่อนการสำรวจ

สอง พบว่า ครอบครัวที่รายงานว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของสมาชิกครอบครัวในระดับมากนั้น มีแนวโน้มที่สมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 1 คน จะไปทำงานที่อื่น สูงกว่าครอบครัวที่ตอบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของสมาชิกครอบครัวเลย หรือกระทบแต่ในระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง

หลังจากวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสองประเด็นนี้ ร่วมกับลักษณะอื่นๆ เช่น ขนาดและฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ทำให้พบว่า ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนเล็กหรือครัวเรือนใหญ่ ยากจนหรือร่ำรวย สถานะทางสังคมดีหรือด้อย หากเหตุการณ์ความไม่สงบได้คุกคามความเป็นปกติในการใช้ชีวิตจนถึงระดับที่พวกเขารู้สึกว่ามากเมื่อไรแล้ว นั่นจะกลายเป็นแรงผลักอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนต้องออกจากพื้นที่ไปทำงานที่อื่น

ผู้เขียนยังพบว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับการย้ายไปทำงานนอกประเทศมากกว่าไปจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย อย่างที่ทราบกันว่า ผู้คนในพื้นที่นี้นิยมไปทำงานที่มาเลเซีย โดยส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากนัก เช่น ลูกจ้างร้านต้มยำ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนว่า การย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่นในประเทศไทยมี “ต้นทุน” (cost) ที่ต้องจ่ายมากกว่าการไปทำงานที่มาเลเซีย ทั้งที่เป็นตัวเงิน (เช่น ค่าเดินทาง ค่าครองชีพ)และที่ไม่ใช่ตัวเงิน (เช่น การต้องปรับตัวปรับใจจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและสังคม โดยเฉพาะภาษา เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตในมาเลเซีย) ดูเหมือนว่า คนในสามจังหวัดภาคใต้ที่เลือกไปทำงานที่จังหวัดอื่นแทนที่จะไปมาเลเซีย อาจต้องมีแรงผลัก แรงจูงใจ หรือ “ทุน” (capital) ที่มากกว่า ซึ่งเราก็พบว่า คนสามจังหวัดที่ไปทำงานที่จังหวัดอื่นๆ ของไทยมี “ทุนมนุษย์” (วัดด้วยระดับการศึกษา) สูงกว่าคนที่ไปทำงานที่มาเลเซีย

การไปทำงานที่มาเลเซียของคนพื้นที่นี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมายาวนาน นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมและเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์กับการย้ายถิ่นออกเป็นทุนเดิมแล้ว สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นอีกตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้ผู้คนย้ายถิ่นออกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบจะเป็นแรงผลักให้เกิดการย้ายถิ่นได้ก็ต่อเมื่อความรุนแรงนั้นมากถึงระดับที่ผู้คนยอมแลกกับต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อการย้ายถิ่น ไม่เช่นนั้นคนก็จะเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่เดิมมากกว่า

ในพื้นที่ที่คุกรุ่นด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การย้ายถิ่นที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่เหนือไปจากการย้ายถิ่นปกติที่มีสาเหตุพื้นฐานมาจากข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชากร เหตุการณ์ความรุนแรงทำให้สถานการณ์ที่ยากลำบากอยู่แล้วยิ่งยุ่งยากมากขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้นอกจากจะชี้ว่าความไม่สงบส่งผลโดยตรงต่อการย้ายถิ่นแล้ว ยังสะท้อนถึงผลอันซับซ้อนของทุนมนุษย์ที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการย้ายถิ่นด้วย

ติดตามงานวิจัยระยะยาวเรื่องนี้จากการเก็บข้อมูลรอบที่สองของผู้เขียนและทีมวิจัยได้ในโอกาสต่อไป

ภาพระหว่างการเก็บข้อมูลในพื้นที่


1ศ.ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ศ.ดร.แคธี่ ฟอร์ด อาจารย์อาซิส ประสิทธิหิมะ และนางสาวชาริต้า ประสิทธิหิมะ


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th