The Prachakorn

The Great Resignation - ปรากฏการณ์ลาออกระลอกใหญ่ - เกิดอะไรขึ้นกับคนทำงาน?


มนสิการ กาญจนะจิตรา

17 ตุลาคม 2565
337



ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่โควิด-19 ได้เข้ามามีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของโลก ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การทำงาน และการใช้ชีวิต แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายและคนส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้มากขึ้น ในด้านการทำงานกลับมีคนจำนวนมากที่ต้องการลาออกจากงานที่ทำอยู่ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “The great resignation” หรือ “การลาออกระลอกใหญ่” ทำไมคนที่มีงานทำกลับต้องการลาออก กลุ่มไหนตัดสินใจทิ้งงานมากกว่ากัน และหน่วยงานต่างๆ จะต้องปรับตัวอย่างไร

ข้อมูลจากการสำรวจของ Bureau of Labor Statistics ของสหรัฐอเมริกา พบว่า อัตราการลาออกโดยสมัครใจของคนทำงานเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยเดือนละ 3.5 ล้านคนในปี 2562 เป็นเฉลี่ย 4 ล้านคนต่อเดือนในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีโควิด1

นอกจากคนที่ลาออกมีมากขึ้นแล้ว คนที่ยังทำงานอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ก็คิดที่จะลาออกเช่นกัน งานวิจัยของ Gloat ที่เก็บข้อมูลในปี 2564 พบว่าเกือบครึ่งของคนที่ทำงานอยู่ (48.1%) ตอบว่ากำลังหางานใหม่ หรือมีแผนจะหางานใหม่ใน 90 วัน2 และที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงลาออกมากกว่าผู้ชาย

งานวิจัยของ Gusto ซึ่งเก็บข้อมูลธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปลายปี 2564 พบว่า เดือนสิงหาคม 2564 เป็นเดือนที่มีการลาออกมากที่สุด โดยมีอัตราการลาออกของผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ในขณะที่ผู้หญิงลาออกถึงร้อยละ 5.53

ทำไมคนทำงานจำนวนมากถึงลาออก คำตอบคือ ภาวะหมดไฟและความเครียดจากการทำงาน เมื่อต้องทำงานที่บ้านในขณะที่ต้องดูแลครอบครัวและต้อง “พร้อมตลอดเวลา” เพื่อการทำงาน ซึ่งคนเป็นแม่จะแบกรับภาระมากกว่าพ่อเป็นอย่างมาก คำสัมภาษณ์ผู้หญิงที่เป็นแม่ของลูก 2 คน อายุ 7 และ 11 ขวบที่ต้องรับผิดชอบทั้งหน้าที่การงาน ขณะเดียวกันต้องรับผิดชอบครอบครัวด้วย สะท้อนปัญหาและความกดดันที่ผู้หญิงต้องแบกรับ ซึ่งนำมาสู่ความคิดที่จะเปลี่ยนงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งในแง่เวลา และการประเมินผลงาน

“ฉันรู้สึกล้มเหลวในทุกๆ อย่างที่ทำ ล้มเหลวในงาน ล้มเหลวในการทำหน้าที่แม่ เพราะฉันคิดว่าฉันทำในสิ่งที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้ ต้องทำงานให้ได้ผลงานดี ในขณะเดียวกันต้องเป็นครูตอนลูกเรียนออนไลน์ ต้องดูแลลูก ในขณะเดียวกันต้องพร้อมเสมอกับหน้าจอ ถ้าหากมีข้อความส่งมา หรือมีโทรศัพท์เข้ามาแล้วไม่ตอบทันที ฉันจะถูกประเมินผลงานต่ำมั้ย.....”4

จากภาระที่ต้องแบกรับดังกล่าว ผู้หญิงจึงต้องการลดเวลางานลง หรือออกจากงานมากกว่าผู้ชาย

แผนภูมิ:    ร้อยละของคนทำงานที่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนการทำงานเพราะสถานการณ์โควิด-19 เทียบชายหญิง
ที่มา: McKinsey & Company. Women in the Workplace 2020: Corporate America is at a critical crossroads. Access on 12 September 2022 at: https://wiw-report.s3.amazonaws.com/Women_in_the_Workplace_2020.pdf.

จากการลาออกจำนวนมากของพนักงานทำ.ให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อรักษาบุคลากรไว้กับองค์กรให้นานที่สุด ในปี 2564 บริษัทที่มีอัตราการลาออกสูง เช่น McDonalds ได้ปรับค่าแรงขึ้น 10% สำหรับพนักงานที่ยังคงทำ.งานอยู่ และเพิ่มค่าจ้างของพนักงานที่เข้าใหม่เป็น 11–17 เหรียญ และยังเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น การดูแลเด็กฉุกเฉิน การลาโดยได้รับค่าจ้าง การจ่ายค่าเล่าเรียนให้ จากการปรับเพิ่มรายได้และสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรได้มากขึ้นจากต้นปี5 โดยแรงงานกลุ่มนี้ที่ได้รับค่าแรงต่ำมักจะไม่ได้ออกจากตลาดแรงงาน แต่เป็นการ “ปรับเปลี่ยนงาน” เพื่อยกระดับรายได้ให้ดีขึ้น การที่บริษัทปรับเพิ่มค่าจ้างจึงตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานกลุ่มนี้ แต่ในแรงงานกลุ่มอื่น โดยเฉพาะที่เป็นแรงงานทักษะสูง ความต้องการมีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้น นโยบายการทำงานในอนาคตอาจจะต้องมีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากรที่แตกต่างกัน องค์กรที่ให้โอกาสบุคลากรได้เติบโต มีนโยบายการทำงานที่หลากหลาย และมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน จะทำให้รักษาบุคลากรที่มีค่าไว้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืน


  1. SHRM. Interactive Chart: How Historic Has the Great Resignation Been? March 9, 2022. Access on 12 September 2022 at: https://www.shrm.org/resourcesandtools/hr-topics/talent-acquisition/pages/interactive-quits-level-by-year.aspx.
  2. Gloat. The Great Resignation Research Report: What Employees Are Really Telling Us About Our Next Chapter. December 2021. Access on 12 September 2022 at: https://gloat.com/wp-content/uploads/The-Great-Resignation-Stats.pdf.
  3. Luke Pardue. A Real-Time Look at T O’Campo P, Dunn JR, editors. Rethinking social epidemiology: towards a science of change. Dordrecht: Springer; 2012. 348 p.
  4. McKinsey & Company. Women in the Workplace 2020: Corporate America is at a critical crossroads. Access on 12 September 2022 at: https://wiw-report. s3.amazonaws.com/Women_in_the_Workplace_2020.pdf.
  5. Joseph Fuller and William Kerr, The Great Resignation Didn’t Start with the Pandemic. Harvard Business Review, March 23, 2022. Access on 12 September 2022 at: https://hbr.org/2022/03/the-great-resignation-didnt-start-with-the-pandemic

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th