The Prachakorn

คุกโลก......ล้น


อมรา สุนทรธาดา

23 เมษายน 2561
318



ข่าวการก่อจลาจลของนักโทษและมีผู้เสียชีวิตอย่างทารุณถึง 125 รายในประเทศบราซิล เมื่อต้นปี 2560 เป็นสิ่งสะท้อนถึงข้อเท็จจริงหลายประการที่ปัญหาคุกล้นไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ภาพที่เรานึกถึงคุกได้เหมือนๆ กันคือ ความแออัด ความรุนแรงระหว่างผู้ต้องขัง การควบคุมอย่างเข้มงวดระหว่างต้องโทษ มาเฟียหรือ ‘ขาใหญ่’ ขายยาเสพติด และปัญหาอื่นๆ นานัปการ

ทำไมผู้ต้องขังจึงก่อเหตุประท้วง จากกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศบราซิล (หนึ่งในประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาลำดับแรกๆ ที่มีอัตราการคุมขังนักโทษเกินพื้นที่รองรับ 157%) คงพอนึกออกว่าแรงกดดันนั้นเกิดจากอะไร บราซิลเผชิญปัญหาคุกล้นและการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ เช่น จำนวนนักโทษรวมทั่วประเทศเฉพาะคดีค้ายาเสพติดเพียงอย่างเดียว ที่ภาครัฐไม่สามารถสร้างคุกรองรับจำนวนผู้ต้องคดีได้อย่างเพียงพอเท่านั้น นักโทษระหว่างคุมขังเพื่อรอการพิพากษามีมากถึงร้อยละ 40 ศักยภาพการรองรับผู้ต้องขังของเรือนจำทั่วประเทศ รับผู้ต้องขังไว้เกินกว่าจำนวนรับได้จริงถึง 2 หรือ 3 เท่า ตัวอย่าง คุก Alcacuz Centre ที่เมือง Natal เกิดเหตุก่อจลาจลเมื่อต้นปีนี้มีผู้ต้องขังประมาณ 1,000 คน จากจำนวนที่รับได้จริง 620 คน เมื่อต้องอยู่ในคุกนานๆ โดยไม่รู้ชะตากรรม นักโทษจะรวมตัวเป็นแก๊ง สร้างอาณาจักรภายในคุก เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ยึดพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นที่หลับนอน หรือการติดต่อกับแก๊งภายนอกเรื่องยาเสพติดโดยผ่านการรับรู้จากผู้คุม หรือเรียกค่าคุ้มครองจากนักโทษอื่นที่ไม่ได้อยู่ภายใต้แก๊งของตน ความรุนแรงที่นักโทษก่อเหตุจลาจล ส่วนหนึ่งนั้นนักโทษมีอาวุธอยู่ในครอบครองจำนวนมาก รวมทั้งโทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อกับเครือข่ายนอกคุก ซึ่งเพิ่มความรุนแรงให้กับการจลาจลเป็นทวีคูณเพราะนักโทษส่วนหนึ่งพยายามหนี โดยมีเครือข่ายนอกคุกเข้าร่วมในเหตุการณ์ด้วย

ประเทศ 10 อันดับแรกที่มีอัตราคุมขังนักโทษเกินพื้นที่รองรับ (%) สูงสุด

1 ไฮติ 335.7
2 เอลซัลวาดอร์ 324.7
3 เบนิน 307.1
4 ฟิลิปปินส์ 300.0
5 เวเนชูเอลลา 270.1
6 โบลีเวีย 269.8
7 ซูดาน 255.3
8 แอนติกัวและบาร์บูดา 240.7
9 อูกันดา 232.9
10 กัวเตมาลา 230.9

 ที่มา: World Prison Brief. http://www.prisonstudies.org

ในญี่ปุ่นไม่มีปัญหาคุกล้น แต่มีปัญหาที่แตกต่างจากประเทศอื่น เนื่องจากปรากฏการณ์ผู้สูงอายุจำนวนมากอยากเข้าไปอยู่ในคุก ผู้ต้องขังใหม่ที่เป็นผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์การสูงวัยของประเทศอย่างชัดเจน ในปี 1991 ผู้ต้องขังที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีเพียง 1.3% แต่ปี 2015 ผู้ต้องขังสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 10.4% ประชากรญี่ปุ่นมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก คาดประมาณว่าในปี 2060 ญี่ปุ่นจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 40% ปัจจุบันนี้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น 25% มีรายได้ไม่พอกับค่าครองชีพโดยเฉลี่ย (265,620 บาท/ปี) ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นมีเงินสวัสดิการหรือเงินฝากบำนาญโดยเฉลี่ย 206,580 บาท/ปี ซึ่งไม่พอเลี้ยงชีพ

การเข้าคุกก็ง่ายมาก เพียงแต่แอบฉกฉวยของในร้านสะดวกซื้อ แม้เพียงแกล้งหยิบแซนด์วิชชิ้นจิ๋วราคา 7 บาท ก็มีสิทธิเดินเข้าคุกแล้วเพราะทำผิดกฎหมาย มีผู้สูงอายุที่กระทำผิดก่อคดีซ้ำถึง 6 ครั้งเพื่อเข้าคุก ประมาณร้อยละ 40 และสินค้ายอดนิยมที่ผู้สูงอายุแสร้งขโมยจะเป็นอาหารและเครื่องสำอาง

อาหาร 3 มื้อและงานแก้เหงาของผู้ต้องขังสูงอายุในญี่ปุ่น ภาพ: prisonphotography.org

เมื่อเป็นพลเมืองคุกต้องปฏิบัติตามกฎคุกแต่ไม่หนักหนาสาหัสเหมือนผู้ต้องขังวัยอื่น ต้องทำงานวันละ 6 ชั่วโมง งานที่ทำเช่น การคัดแยกกระดาษ พับเสื้อผ้าที่ซักแล้ว ร้อยลูกปัด งานประดิษฐ์จากกระดาษ เป็นต้น ผู้ต้องขังมีอาหาร 3 มื้อ ได้รับการดูแลสุขภาพ การรับฟังข่าวสารจากวิทยุและโทรทัศน์ช่วงอาหารกลางวัน และช่วงมื้อเย็นจนถึง 3 ทุ่ม ผู้ดูแลมีหน้าที่และเข้มงวดเรื่องการใส่เครื่องแบบ ห้ามถอดหมวกโดยเด็ดขาด ห้ามคุยเวลาทำงาน และต้องสังเกตว่าผู้สูงอายุคนไหนต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผู้มีอาการอัลไซม์เมอร์จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น แยกเรือนนอน ผนังห้องมีวัสดุป้องกันไม่ให้ศีรษะบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ แจกไม้เท้าเพื่อช่วยการเดิน

ปัญหาผู้ต้องขังสูงอายุล้นคุกเกิดในประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมันนี อังกฤษและสวิสเซอร์แลนด์ แต่มีจำนวนน้อยกว่าญี่ปุ่นหลายเท่า

ที่มาของปัญหาคุกล้นมีสาเหตุจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง

คนเดินเข้าคุกเท่านั้นที่บอกได้ว่าอยากเข้าคุกหรือไม่

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th