The Prachakorn

ภาวะเปราะบางทางสุขภาพในเด็กข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารประจำตัว


ฉัตรชัย วัฒนไชยประทีป

21 ธันวาคม 2565
869



-1-

หลายวันก่อน… “สก” เด็กหนุ่มชาวกัมพูชาเริ่มมีอาการเนื้อตัวบวมจากการกำเริบของโรคไตที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เด็กชายไม่มีประกันสุขภาพ และครอบครัวก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมพ่อของสกและผมถึงมาอยู่ที่ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาล… หลังขอคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ ผมทำได้เพียงตบหลังตบไหล่พ่อของสกเบาๆ  ขณะที่เขาก็คงกำลังตระหนักว่าเงินพันกว่าบาทที่ได้จากเพื่อนบ้านเมื่อเช้า คงไม่ใช่เงินก้อนสุดท้ายที่เขาต้องหยิบยืม

อันที่จริงเรารู้ดีว่ามีเด็กที่อยู่ในสถานการณ์อย่างสกอีกจำนวนไม่น้อย ด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ที่สำคัญโรงพยาบาลก็คงไม่อยู่ในจุดที่จะแบกภาระเช่นนี้ได้ทุกกรณี ยิ่งประกอบกับข้อเท็จจริงว่าสกไม่ใช่เด็กไทยและไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนใดๆ เลยแม้แต่ฉบับเดียว ยิ่งทำให้การเข้าถึงความช่วยเหลือกลายเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์

ก่อนที่จะตัดสินใจพาสกมาโรงพยาบาล... พ่อและแม่ยังมีความหวังท่ามกลางสภาพร่างกายที่บวมขึ้นเรื่อยๆ ของลูกชายว่าอาการอาจจะดีขึ้นเอง แม้จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ก็เดาได้ไม่ยากว่าครอบครัวคงกังวลเรื่องเงินค่ารักษา ถึงจะดูเป็นอะไรที่มัดมือชกอยู่ไม่น้อยแต่เราก็เลือกที่จะบอกกับพ่อและแม่ว่าเด็กจำเป็นต้องไปพบแพทย์ หมอวินิจฉัยเมื่อได้ตรวจร่างกายเบื้องต้นทันทีว่าอาการเช่นนี้ยังไงก็คงต้องนอนโรงพยาบาล       

-2-

เมื่อมองผ่านสายตาของรัฐ เด็กข้ามชาติอย่างสกคือเด็กที่ถูกเรียกว่าเป็น “ผู้ติดตาม” ของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยไม่ผ่านช่องทางตามกฎหมาย มีการวางมาตรการรองรับเด็กกลุ่มนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 25471  โดยอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพื่อได้รับสถานะการอยู่อาศัยชั่วคราวในประเทศไทย นับตั้งแต่นั้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน การขึ้นทะเบียนผู้ติดตามในทางปฏิบัติยังคงมีข้อจำกัดหลายประการ ปัญหาหลักเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างมาตรการช่วงต้นปี พ.ศ.2564 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การขึ้นทะเบียนผู้ติดตามต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าตรวจสุขภาพและซื้อประกันถึง 7,200 บาท2  ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่น้อย  เมื่อไม่สามารถระบุจำนวนที่แท้จริงของเด็กข้ามชาติในประเทศไทยได้ก็ทำให้ไม่สามารถประเมินสัดส่วนของเด็กที่มาขึ้นทะเบียนผู้ติดตามว่ามากน้อยเท่าไหร่เมื่อเทียบกับจำนวนที่มีอยู่จริง

ในช่วงแรกเริ่มของนโยบายขึ้นทะเบียนผู้ติดตาม ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการที่แน่นอนว่าด้วยการซื้อประกันสุขภาพสำหรับกลุ่มเด็กข้ามชาติกลุ่มนี้3 จนกระทั่ง พ.ศ. 2556 ดูจะเป็นปีที่มีความชัดเจนเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขผ่านการซื้อประกันสุขภาพของเด็กข้ามชาติมากที่สุด ได้มีการกำหนดรูปแบบการขายประกันสุขภาพสำหรับเด็กข้ามชาติที่อายุต่ำกว่า 7 ปีที่ราคา 365 บาทต่อปีโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ ส่วนเด็กที่อายุเกิน 7 ปี จะมีค่าประกันสุขภาพเท่ากับแรงงานคือ 2,800 บาทซึ่งรวมทั้งค่าประกันและค่าตรวจสุขภาพไปด้วยกัน4 อย่างไรก็ตามการขายประกันสุขภาพให้เด็กข้ามชาติไม่ได้มีสภาพบังคับแต่ถือเป็นทางเลือกตามความสมัครใจ

ระเบียบเรื่องการประกันสุขภาพในแรงงานข้ามชาติ พ.ศ. 2563 ยังคงมีเกณฑ์ด้านอายุเช่นเดียวกับที่ถูกวางหลักการไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 คือกำหนดว่าเด็กข้ามชาติและผู้ติดตามที่อายุต่ำกว่า 7 ปี ซื้อประกันสุขภาพได้ที่ 365 บาทต่อปีเช่นเดิม ส่วนผู้ติดตามที่อายุ 7-18 ปีจะคิดค่าประกันสุขภาพในราคาเดียวกับผู้ที่เป็นแรงงานแต่ราคาถูกลงคือ 2,100 บาทต่อปีที่รวมทั้งค่าตรวจสุขภาพและค่าประกันไว้ด้วยกัน5 

ที่มา ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 และ มาตรการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในทางปฏิบัติคือการเข้าถึงบริการสาธารณสุขผ่านการมีประกันสุขภาพถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขเรื่องสถานะทางกฎหมายของเด็ก ในทางหลักการ ไม่เป็นที่ถกเถียงกันแล้วว่าเด็กข้ามชาติที่มีฐานะถูกต้องตามกฎหมายสามารถซื้อประกันสุขภาพได้หรือไม่ เพราะแม้ในทางปฏิบัติอาจมีปัญหาการซื้อประกันรายกรณี แต่ในทางหลักการมีข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าซื้อได้ แต่ประเด็นที่บทความนี้ต้องการจะพูดถึงคือเด็กข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารประจำตัวสามารถซื้อประกันสุขภาพได้หรือไม่ ?

อันที่จริงประกาศกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2562 ระบุชัดเจนว่า “ผู้ติดตาม” หมายถึง “บุตรแรงงานต่างด้าวอายุไม่เกิน 18 ปีและได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”6  แต่ทว่า ชิ้นส่วนของข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ แสดงให้เห็นกรณีที่น่าสนใจบางประการ งานวิจัยของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เห็นว่าระบบประกันสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติตามระเบียบ พ.ศ. 2556 เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลขายประกันให้ผู้ที่ไม่มีเลข 13 หลัก หรือมีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายได้ แต่ในงานชิ้นเดียวกันก็พบว่าในทางปฏิบัติแต่ละโรงพยาบาลยังคงมีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป7 เช่นเดียวกับงานของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมที่เห็นว่าระเบียบฯ ปี พ.ศ. 2556 ได้ขยายไปสู่กลุ่มคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายด้วย8  และจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานประเด็นสุขภาพของแรงงานข้ามชาติก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการซื้อประกันกับโรงพยาบาลอาจทำได้ง่ายขึ้นหากมีองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้

"กรณีโรงพยาบาลที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิฯของผมอย่างใกล้ชิด ถ้ามูลนิธิฯเป็นผู้ติดต่อประสานงานเรื่องการซื้อประกันให้...ถึงไม่มีเอกสารประจำตัวก็ทำได้ แต่ถ้าแรงงานที่ไม่มีเอกสารอะไรเลยไปติดต่อเองก็ไม่น่าจะได้”

เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน9

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่าเอกสารประจำตัวไม่ว่าจะเป็นใบเกิดหรือเอกสารขึ้นทะเบียนการเป็นผู้ติดตาม เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างขาดไม่ได้สำหรับการซื้อประกันสุขภาพ เพราะเอกสารอย่างแรกเลยที่โรงพยาบาลจะขอเพื่อทำประกันสุขภาพก็คือเอกสารประจำตัวบุคคลของเด็ก มูลนิธิฯ ที่ผมเคยทำงานได้พยายามส่งเสริมการซื้อประกันสุขภาพในกลุ่มเด็กให้กับผู้ปกครองและนายจ้างของแคมป์ก่อสร้างที่สกอาศัยอยู่  เด็กหลายคน โดยเฉพาะคนที่มีใบเกิดก็สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ สกเป็นหนึ่งในเด็กที่ทำประกันสุขภาพไม่ได้เพราะไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคล

จะผิดจากข้อเท็จจริงไปไหมหากจะสรุปว่าแนวปฏิบัติว่าด้วยการซื้อประกันสุขภาพในกลุ่มเด็กข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารประจำตัวยังคงมีความคลุมเครือกำกวมอยู่ในการปฏิบัติ ?  การซื้อประกันสุขภาพในเด็กกลุ่มนี้ถึงมีก็น่าจะเป็นกรณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นถ้ามองในภาพรวมของระบบการประกันสุขภาพในแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม การเข้าถึงการประกันสุขภาพของคนข้ามชาติที่มีปัญหาสถานะทางกฎหมายน่าจะเป็นกลุ่มเดียวที่ยังมีช่องว่างอยู่ อย่างที่งานวิจัยในปี พ.ศ. 2564 เรื่อง “โครงการการจัดหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิรวมถึงผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทยที่อยู่บนแผ่นดินไทย” เสนอว่าประชากรข้ามชาติกลุ่มเดียวที่ยังไม่มีความชัดเจนในทางนโยบายต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุข คือกลุ่มคนที่งานวิจัยฉบับนี้ใช้คำว่า “กลุ่มใต้ดิน”10

-3-

เรื่องของสกที่เล่าไปตั้งแต่แรกก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “กลุ่มใต้ดิน” เป็นเด็กข้ามชาติที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย ไม่มีเอกสารประจำตัว เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดอีกแบบ เราสามารถอ่านเรื่องของสกให้พ้นไปกว่าเรื่องราวของเด็กคนหนึ่ง แต่สามารถมองมันในฐานะชาตะกรรมร่วมของเด็กอีกเรือนพันหรืออาจเรือนหมื่นที่อยู่ในภาวะเปราะบางทางสังคมไม่มีสถานะทางกฎหมาย และคงมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกกระหน่ำซัดด้วยภาวะเปราะบางทางสุขภาพเฉกเช่นเดียวกัน

สกไม่ได้เพิ่งป่วยเป็นโรคไต จากคำบอกเล่า เด็กชายป่วยมาพักใหญ่ๆ แล้วแต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพราะข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ผมเดาเอาว่าการจะเอาสกขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดตามเพื่อความเป็นไปได้ในการซื้อประกันสุขภาพก็อาจเป็นทางเลือกที่ถูกมองผ่านเพราะต้องใช้ค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย

เรื่องทั้งหมดนี้ถ้ามองให้พ้นไปจากปัญหาเชิงเทคนิคว่าทำยังไงให้เด็กคนหนึ่งที่ตกอยู่ในเงื่อนไขเช่นนี้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ ประเด็นที่ปรากฏขึ้นมาอาจใหญ่กว่าปัญหาข้างต้นมากนัก นั้นคือตำแหน่งแห่งที่ของเด็กข้ามชาติที่ไม่มีสถานะกฎหมายที่ชัดเจน ตำแหน่งแห่งที่ของเด็กข้ามชาติที่อพยพตามพ่อแม่เข้ามาและใช้ชีวิตอย่างไม่มีตัวตน

ถ้าจะให้พูดกันตรงๆ ประเทศไทยมีเด็กข้ามชาติกลุ่มนี้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเงื่อนไขของการไม่ถูกมองเห็นที่พวกเขาต้องพบเผชิญก็จำกัดทางเลือกที่ไม่ใช่แค่เรื่องการเข้าถึงประกันสุขภาพ แต่กำลังกักขังทุกเส้นทางชีวิตของพวกเขาและเธออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน


อ้างอิง

  1. กฤตยา อาชวนิจกุล และ พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, คำถามและข้อท้าทายต่อนโยบายรัฐในมิติสุขภาวะและสิทธิของแรงงานข้ามชาติ, 1 พิมพ์ครั้งที่, ปี 2548 (นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, ม.ป.ป.), 15.https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/03/Report-File-294.pdf
  2. กรมประชาสัมพันธ์, “เริ่มแล้ว!! ต่างด้าว 3 สัญชาติกลุ่มผ่อนผันตามมติครม. แจ้งบัญชีรายชื่อผ่านระบบออนไลน์ 15 มกรานี้”, 14 มกราคม 2564, https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/7445.https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/7445.
  3. กฤตยา อาชวนิจกุล และ พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, คำถามและข้อท้าทายต่อนโยบายรัฐในมิติสุขภาวะและสิทธิของแรงงานข้ามชาติ, 2548:45.
  4. มาลี สันภูวรรณ์ และคณะ, การบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพและบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติหลังการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ พ.ศ. 2555, 1 พิมพ์ครั้งที่, ปี 2560 (นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, ม.ป.ป.), 29.https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/03/Report-File-543.pdf
  5. “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563” (ม.ป.ป.); “มาตรการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563” (ม.ป.ป.).https://fwf.moph.go.th/Portals/0/2563/ประกาศฉ2/ประกาศต่างด้าว ฉ2.pdf?ver=2563-07-10-173518-863
  6. “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจสุขภาพและการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2562” (ม.ป.ป.).https://dhes.moph.go.th/wp-content/uploads/2022/10/สิ่งที่ส่งมาด้วย-1.pdf
  7. ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์, วีระศักดิ์ พุทธาศรี, และ คนางค์ คันธมธุรพจน์, การตอบสนองต่อนโยบายและผลลัพธ์ของบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวและผู้ติดตามในประเทศไทย, 1 พิมพ์ครั้งที่ (นนทบุรี: มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, ม.ป.ป.), 73.
  8. มาลี สันภูวรรณ์ และคณะ, การบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพและบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติหลังการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ พ.ศ. 2555, 2560:29.
  9. เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน, สัมภาษณ์, 8 ธันวาคม 2565.
  10. วีระ หวังสัจจะโชค, นพพล ผลอำนวย, และ รัตนสิทธิ์ ทิพย์วงศ์, “โครงการการจัดหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิรวมถึงผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทยที่อยู่บนแผ่นดินไทย”, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ (นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), กุมภาพันธ์ 2564), 49.

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th