The Prachakorn

เที่ยวบ้านอาม่าที่เมืองจีน


สุภรต์ จรัสสิทธิ์

24 กุมภาพันธ์ 2566
514



เมื่อจีนยกเลิกมาตรการกักตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้เขียนคิดถึงโอกาสที่จะได้เยี่ยมญาติที่เมืองเฉาโจว หรือที่คนไทยมักเรียกว่า เมืองแต้จิ๋ว หากพูดถึงคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย หลายครอบครัวน่าจะมาจากเมืองเฉาโจว และเมืองซานโถว หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า เมืองซัวเถา เฉาโจวและซานโถวเป็นเมืองที่อยู่ไม่ห่างกันมากนัก

ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อครั้งเดินทางไปเมืองเฉาโจวครั้งแรก มีทั้งความตื่นเต้นคละไปกับความประหลาดใจและความคุ้นเคย ตื่นเต้นเพราะจะได้เห็นบ้านอาม่า ประหลาดใจ เพราะบรรยากาศของเมืองและวิถีชีวิตมีความคล้ายกับว่ายังอยู่ที่เมืองไทย ทั้งลักษณะอาคารตึกแถว อาหารการกิน ภายในบ้าน หรือภาษาแต้จิ๋วที่คุยกันภายในร้านค้า แม้จะเพิ่งมาถึงเมืองนี้แต่กลับรู้สึกคุ้นเคยกับบรรยากาศใกล้เคียงกับที่ผู้เขียนเติบโตมา

นับว่าเป็นความโชคดีที่ทางการจีนได้ยกที่ดินในหมู่บ้านเฟิ่งต่ง เมืองเฉาโจวให้เป็นทรัพย์สินของเจ้าบ้านแล้ว ทำให้บ้านอาม่าซึ่งอยู่ในหมู่บ้านนี้ ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานได้กลับมาเยี่ยมชมวิถีชีวิตของบรรพบุรุษในอดีต บ้านแต่ละหลังในหมู่บ้านจะมีความคล้ายกันคือ หน้าบ้านมีกรงสูงไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู ก่อนจะเปิดประตูเข้าสู่พื้นที่โล่งซึ่งเป็นพื้นที่ของครัวและห้องน้ำ ถัดไปเป็นตัวอาคารบ้านที่เมื่อเปิดประตูเข้าไปก็จะพบกับพื้นที่รับแขก และมีเตียงนอนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กัน หมู่บ้านลักษณะนี้ยังมีอยู่หลายแห่งในเมืองจีน แต่จะแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่

ที่น่าสนใจคือวัฒนธรรมการดื่มชาที่เห็นได้ทั่วไป สังเกตว่าผู้คนมักจะชวนดื่มน้ำชาเมื่อเจอหน้ากัน แม้แต่ภายในบ้านก็จัดพื้นที่สำหรับชงชา ในขณะพูดคุยกันเจ้าบ้านจะพยายามเติมน้ำชาให้ผู้มาเยือนเต็มถ้วยอยู่เสมอ ในร้านอาหารบางแห่งยังพบว่ามีห้องชงชาจัดรับรองให้กับลูกค้า ขณะที่วัฒนธรรมด้านภาษาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เด็กๆ สื่อสารด้วยภาษาแต้จิ๋วน้อยลง หลายคนใช้ภาษาจีนกลางหรือแมนดารินเป็นภาษาหลัก ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายหากมีการใช้ภาษาท้องถิ่นน้อยลง

รูป: หมู่บ้านเฟิ่งต่งที่เมืองเฉาโจว อาคารที่ตั้งบริเวณนี้มีอายุกว่า 100 ปี
รูปโดย: สุภรต์ จรัสสิทธิ์

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th